ปีศาจที่ชื่อ ดอลลาร์พลวัต2015

พอหมดเทศกาลประกาศงบประจำไตรมาส ค่าดอลลาร์สหรัฐก็ขยับตัวขึ้นสู่ระดับสูงใหม่อีกครั้งเทียบกับเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก


พอหมดเทศกาลประกาศงบประจำไตรมาส ค่าดอลลาร์สหรัฐก็ขยับตัวขึ้นสู่ระดับสูงใหม่อีกครั้งเทียบกับเงินสกุลต่างๆ ทั่วโลก

ล่าสุดดัชนีดอลลาร์พุ่งแตะระดับสูงสุดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน โดยนักลงทุนเตรียมตัวรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอย่างจริงจัง ดังนั้น ทิศทางดอลลาร์ขาขึ้น เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ระเบิดเวลาลูกเก่ากลับมาหลอกหลอนตลาดหุ้นอีกครั้ง ตลาดหุ้นไทยเมื่อวานนี้ที่หลุดแนวรับ 1,380 จุด ลงมาหมดสภาพ ทั้งที่ขึ้นมาได้แค่ 2 วัน ก็เป็นผลพวงดังกล่าว

 จากนี้ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม ค่าดอลลาร์สหรัฐจะเป็นเสมือนปีศาจที่จะคอยตามหลอกหลอนระเบิดเวลาลูกใหม่ของตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลก (ยกเว้นญี่ปุ่นที่จะได้ผลกระทบตรงกันข้าม)

ที่ผ่านมาหลายเดือน เจ้าหน้าที่ของเฟดได้สร้างสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คนทั่วโลกเริ่มเชื่อมั่น (แม้จะสูญเสียไปบ้างเป็นบางครั้ง) ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หรือธนาคารกลางสหรัฐ จะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้แน่นอน หลังจากที่ชะลอตัวมาตั้งแต่การประชุมเฟดในเดือนกันยายนและตุลาคม

ค่าดอลลาร์แข็งไม่เคยเป็นผลดีกับดัชนีตลาดหุ้นเกิดใหม่ และตลาดหุ้นไทยมาแต่ไหนแต่ไรเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อนั้นหุ้นไทยจะร่วงแรง จากการที่ต่างชาติจะถอนตัวจากตลาดหุ้นไทยรุนแรง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ชนิดที่สังเกตได้ไม่ยาก

หลายเดือนมานี้ คณะกรรมการเฟดพยายามยื้อเวลาเพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้า ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟดยุคอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์ที่เป็นผันร้ายเมื่อ 7 ปีก่อนมาแล้ว

มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐส่วนใหญ่ในหลายเดือนมานี้ ถือว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของเฟด (เฟด ฟันด์ เรต) ที่เป็นตัวชี้นำค่าดอลลาร์ อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้น แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่านแคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีมานี้

ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เพื่อรักษาฐานะของค่าดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ถือว่าเป็นเงินสกุลสากลที่ใช้สำหรับค้ำจุนระบบการเงินโลกที่โดดเด่นที่สุดยิ่งกว่าเงินสกุลใดๆ ในอดีตให้ยืนนานต่อไป

พวกเขาชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” (มีอัตราการจ้างงานใกล้ระดับเต็มที่เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ ”โอกาส” ในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ ”ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป) แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

1 ปีที่ผ่านมา  มาตรการ QE ที่ยุโรปและญี่ปุ่นพิมพ์เงินออกมามหาศาลแต่ละเดือนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นภาวะเงินผิด ในจำนวนมากกว่าที่เฟดเคยกระทำมา 6 ปี รวมถึงการพังทลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยเฉพาะน้ำมัน และทองคำ) ทำให้การถือดอลลาร์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐเอง

ดอลลาร์แพงเท่าใด เศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแกร่งเพียงนั้น ประวัติยุคปลายของบิล คลินตัน บันทึกไว้ชัดเจน  และจากนี้ไป โลกก็กำลังจะย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยดังกล่าวอีกครั้ง ด้วยรายละเอียดที่ต่างจากเดิม

ในทางกลับกัน ค่าดอลลาร์ที่สูง แม้จะเป็นประโยชน์กับการส่งออกสินค้าของไทยในบางรายการอยู่บ้าง แต่ในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และเผชิญความเสี่ยงในช่วงขาลง จะไม่ได้ส่งผลดีมากมายนักเพราะอุปสงค์ของสินค้าอยู่ในระดับต่ำ แต่ผลลัพธ์ต่อตลาดทุนและตลาดเงินนั้น กลับเป็นด้านลบชัดเจนเพราะว่าทุนที่ไหลออกไปถือดอลลาร์มากขึ้น จะทำให้เกิดผลลบต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ผกผันรุนแรง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สอดรับกับตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั้งหลาย

ปรากฏการณ์ทุนไหลออกนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่ที่แน่นอนก็คือ จะทำให้ตัวเลขขายสุทธิต่างชาติเกิดขึ้นต่อเนื่องและกดดันให้ดัชนีปรับตัวถดถอยลงในลักษณะไซด์เวย์ดาวน์

ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกออกมาในสองเดือนนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวจากความซบเซา แต่คำถามก็คือ จะหยุดยั้งกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกได้กี่มากน้อย เพราะดูเหมือนว่าหน่วยงานรัฐไทยไม่ว่าจะเป็นธนาคารชาติ หรือทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ยังไม่สามารถผลิตข้อเสนอที่จะมีลักษณะเชิงรุกเพื่อรับมือกับการไหลออกของทุนอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย

นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย คงต้องเผชิญกับปีศาจของเงินในกระเป๋าที่ชื่อดอลลาร์สหรัฐ ที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ไป อย่างมีสติ และด้วยความรู้ที่มากกว่าแค่สัญญาณทางเทคนิค

   

 

Back to top button