เบื้องหลังจาก TLI ถึง BTG
ทั้ง ไทยประกันชีวิต (TLI) และ เบทาโก (BTG) มี “ที่ปรึกษาทางการเงิน” นำหุ้นเข้าตลาดฯ รายเดียวกัน ราคาปิดตลาดวันแรกต่างต่ำกว่าราคาจองทั้งสองหุ้น
ทั้ง “ไทยประกันชีวิต” (TLI) และ “เบทาโกร” (BTG) มี “ที่ปรึกษาทางการเงิน” นำหุ้นเข้าตลาดฯ รายเดียวกัน
ราคาปิดตลาดวันแรกต่างต่ำกว่าราคาจองทั้งสองหุ้น
ของไทยประกันชีวิต ยังดีตรงที่ว่า วันแรกที่เปิดเทรด ยัง “บวก” ให้เห็นบ้าง ก่อนที่ราคาหุ้นจะย่อตัวลงมา (ปิด 15.90 บาท ต่ำกว่าไอพีโอ 0.10 บาท)
ส่วนเบทาโกร ไม่เปิดโอกาสที่จะให้นักลงทุนที่ได้หุ้นไอพีโอออกเลย
เพราะว่าเปิด 39.75 บาท ต่ำกว่าราคาไอพีโอที่อยู่ระดับ 40.00 บาท
ทว่า เกมของนักลงทุนรายใหญ่ (อาจเป็นได้ทั้งบุคคลหรือสถาบัน) ของทั้งสองหุ้นคือ การทำ Short Against Port หรือการขายหุ้นออกจากพอร์ตไปก่อน
การขายที่ว่านี้ อาจจะสร้างกำไรได้เล็กน้อยหรืออาจจะยอมขาดทุนในช่วงต้น
หลังจากนั้นเมื่อเกิดการแพนิก นักลงทุนรายอื่น ๆ แห่ขายตามกันออกมา จนกดราคาลงต่อเนื่อง
กลุ่มรายใหญ่ที่ได้คาดการณ์หรือวางเกมไว้ล่วงหน้าแล้ว
พวกเขาจะไปดักรอที่ราคาในระดับที่ตัวเองต้องการไว้ก่อนหนี้แล้ว
เช่น กรณีของ BTG ที่ราคาเปิด 39.75 บาท
ก่อนรายใหญ่จะขาย อาจจะมีการวาง Bid ไว้ล่วงหน้า เช่น 37.00–37.50 บาท
เมื่อราคาลงมาที่บริเวณดังกล่าว
รายใหญ่ที่ตั้ง Bid รอไว้อยู่แล้วจะ Match ทันที
พอราคาเริ่มเด้งกลับ (ตั้งใจทำให้เด้งกลับ) พวกเขาจะทยอยขายออก จนอาจจะเกิดการ “แพนิก” อีกรอบ ทำให้ราคาหุ้นรูดลงต่อไปอีกหลายช่อง
แน่นอนว่า รายใหญ่ที่ว่านี้ ทราบอยู่แล้วว่าราคาจะลงมาอีก
จึงมีการวางไม้เพื่อรับฝั่ง Bid อีกชั้น ด้วยราคาต่ำกว่าไม้แรก เช่น อาจจะที่ระดับ 35.00–36.50 บาท
และจะเล่นรอบในราคาที่ต่ำกว่าไอพีโอแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
ปรากฏการณ์ Short Against Port ที่เกิดขึ้นกับหุ้นไอพีโอขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแคปทั้งสองหุ้น
อย่างน้อย พอจะรับรู้ได้ว่า คนที่ทำนั้น มีเงินบนหน้าตักหนาพอสมควร
อาจจะเป็น “กองทุนขนาดใหญ่” (นักลงทุนสถาบันประเภทอื่น ๆ มักไม่ค่อยใช้วิธีนี้กัน) ก็ได้
ทว่า คำตอบของประเด็นนี้คงได้แต่เม้าท์แบบเบื้องหลังกันไป และคงไม่สามารถมาเปิดเผยแบบ Public ได้
หากจะถามว่า แล้วทำไมเขาไม่ปล่อยให้ราคาวิ่งขึ้นไปก่อนแล้วค่อยขาย
เรื่องนี้น่าจะเป็นการชิงไหวชิงพริบ สำหรับหุ้นไอพีโอที่มีนักลงทุนหลายกลุ่มต่างได้รับการจัดสรร
ดังนั้น หากกลุ่มไหนเปิดเกมก่อน แล้วปิดได้ก่อน
ย่อมได้กำไรกลับไป
หรืออีกกรณีหนึ่งคือ อาจจะมองว่า ราคาหุ้นไปต่อยาก น่าจะมีแรงขายจ่ออยู่เยอะ จึงต้องรีบชิงขายออกไปก่อน หรือการขายแพงแล้ว “วกกลับมาซื้อราคาถูก”
ก่อนจะตั้งขายแพงในช่วงเวลาต่อไป หรือเมื่อสถานการณ์ของหุ้นนั้นราคากลับมาฟื้นตัวจากปัจจัยต่าง ๆ
เช่น ทิศทางผลประกอบการไตรมาสถัดไป ฯลฯ
ส่วนกรณี BTG ราคาที่เป็นแนวรับของคนทำ Short Against Port อยู่ที่เท่าไหร่นั้น
หากเทียบกับกรณีของไทยประกันชีวิตที่ราคาไอพีโอ 16.00 บาท
หลังจากนั้นราคาได้ปรับลงเรื่อย ๆ และไปสู่จุดต่ำสุดที่ 14.40 บาท หรือลดลงมา -10% จากราคาไอพีโอ
ส่วนของ BTG วานนี้ราคาปิด 36.25 บาท ลดลง 9.37% จากราคาไอพีโอ 40.00 บาท
โดยก่อนปิดตลาดหรือเวลา 16.00 น. มีการดันราคาขึ้นจากระดับ 36.50 บาท มาที่ 37.50 บาท ก่อนที่จะกดราคาลงมาปิดที่ระดับต่ำสุดของวัน (36.25 บาท)
ยังไม่แน่ใจว่า “คนที่ทำราคา” ต้องการราคาต่ำสุดเท่าไหร่
อาจต่ำกว่า 10% ก็ได้ หรือวันนี้ (2 พ.ย.) อาจจะพากลับเลยก็ได้
ทั้งนี้ทั้งนั้น คงขึ้นอยู่กับรายย่อยที่จะเข้ามาซื้อเพิ่ม หรือยกธงขาวมากน้อยแค่ไหน
ส่วนในโซเชียลเกี่ยวกับหุ้นตอนนี้กำลังลุกเป็นไฟ
ล่าสุดถึงกับมีการบอกว่า หากเป็นเอฟเอรายนี้ (ยังตั้งราคาไอพีโอแบบเดิมๆ กระจายหุ้นแบบเดิมๆ)
คงจะไม่คบค้าสมาคมกับหุ้นไอพีโอนั้น ๆ ด้วย