ปีหน้า SCC จะฟื้นตัว

หากมองระยะสั้นรายไตรมาส ถือว่าในไตรมาส 4 นี้ SCC ยังอ่อนแอ แต่หากมองไปในปีหน้า กำไรของ SCC จะกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้ง


เส้นทางนักลงทุน

ผลงานงวดไตรมาส 3 ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC ปีนี้ไม่สวย โชว์ตัวเลขทั้งรายได้และกำไรสุทธิทรุดฮวบเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีรายได้จากการขาย 142,391 ล้านบาท ลดลง 7% มี EBITDA 9,322 ล้านบาท ลดลง 62% และมีกำไร 2,444 ล้านบาท ลดลง 75% สาเหตุที่ SCC ฟอร์มตกเมื่อเทียบแบบไตรมาสต่อไตรมาส เนื่องจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับลดลง ต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งในไตรมาสก่อนเป็นช่วงที่ SCC มีรายได้เงินปันผลรับเข้ามา

และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนถึงแม้ SCC จะมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 8% เพราะธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและธุรกิจแพ็กเกจจิ้งมีราคาผลิตภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด แต่ EBITDA ลดลง 37% ขณะที่กำไรสำหรับงวดลดลง 64% เป็นผลจากส่วนต่างราคาขายสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลง รวมทั้งส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมก็ลดลงด้วย

กำไรไตรมาส 3 ที่ออกมาถือว่าต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาด เพราะธุรกิจปิโตรเคมีตลอดจนธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้างได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะธุรกิจปิโตรเคมีไตรมาสนี้ประสบภาวะขาดทุน

เมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดแต่ละธุรกิจ พบว่า EBITDA ของธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้างลดลงเหลือ 4 พันล้านบาท เท่ากับหายไป 29% จากไตรมาสก่อน แต่ดีขึ้น 288% จากไตรมาส 3 ปีก่อน ไตรมาส 3 ถือเป็นช่วงโลว์ซีชั่น (Low season) ของธุรกิจ บวกเข้ากับผลกระทบต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวลง

ทางด้าน EBITDA ของธุรกิจปิโตรเคมีพลิกเป็นขาดทุน 1 พันล้านบาท จากส่วนต่างปิโตรเคมีและปริมาณขายลดลง นอกจากนี้ยังมีผลขาดทุนสต๊อกอีกราว 1 พันล้านบาท มีปริมาณการขายโพลิเอทิลีน (Polyethylene : PE) และโพลิโพรพิลีน (Polypropylene : PP) อยู่ราว 4.2 แสนตัน ลดลง 16% จากงวดปีก่อน แต่ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ส่วน Spread อยู่ราว 360-390 ดอลลาร์ต่อตัน ลดลง 18% จากไตรมาสก่อน เพราะผลกระทบจากดีมานด์ลดลง

หากดูที่ผลงาน 9 เดือนแรกปีนี้ของ SCC อวดรายได้จากการขาย 447,419 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยอดขายที่เพิ่มขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ จากราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาตลาด แต่เนื้อใน EBITDA ลดลง 26% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 51,790 ล้านบาท ขณะที่ กำไรงวดนี้ลดลง 45% เหลือ 21,225 ล้านบาท แม้มีสาเหตุหลักจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์และต้นทุนพลังงานปรับตัวสูงขึ้น แต่ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมในธุรกิจเคมิคอลส์ก็ลดลงเช่นกัน

เมื่อมองถึงแนวโน้มไตรมาส 4 ของ SCC ก็ยังไม่ดีขึ้น จะฟื้นได้เพียงเล็กน้อย คาดธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้างน่าจะกลับมาดีขึ้นถ้าสถานการณ์น้ำท่วมดีขึ้น ทำให้ดีมานด์น่าจะเพิ่มขึ้นและเงินปันผลรับก็น่าจะเข้ามาช่วยด้วย แต่ในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีนั้นส่วนต่างราคาอาจจะยังไม่ฟื้นตัว หรือฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพราะแรงกดดันจากการล็อกดาวน์ของจีน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร SCC ยังมั่นใจว่ารายได้จากการขายทั้งปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 10% โดย 9 เดือนที่ผ่านมามีรายได้แล้ว 447,419 ล้านบาท เติบโต 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งเชื่อมั่นแนวโน้มไตรมาส 4 รายได้จะปรับลงเพียงเล็กน้อย รับผลกระทบราคาพลังงานผันผวน และภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงยังคงเดินหน้าปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงความสามารถในการทำกำไรไว้ มุมมองดังกล่าวสะท้อนว่า SCC ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ซึ่งประเด็นนี้ทำให้โบรกเกอร์อย่างน้อย 2 ราย เช่น บล.ทรีนีตี้ มองกำไรปี 2565 ของ SCC จะอยู่ที่ 2.9 หมื่นล้านบาท และให้ราคาเป้าหมายในปี 2566 ที่ 305 บาท เป็นมูลค่าที่เหมาะสมในช่วงธุรกิจยังอยู่ในขาลง และมีมุมมองเชิงระมัดระวังต่อผลประกอบการ เพราะธุรกิจปูนซีเมนต์จะอิงการเติบโตในประเทศ ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีจะอิงการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ส่วนบล.ดาโอ ชี้ว่าการฟื้นตัวของ SCC จะกลับมาเด่นชัดในปี 2566 มีแรงหนุนจากปริมาณขายส่วนเพิ่มจากโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม หลังจากดำเนินการก่อสร้างรุกหน้าไปแล้วถึง 96% ทำให้สามารถเริ่มการผลิตได้ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า

โดยประเมินกำไร SCC ในปี 2565 นี้ ที่ 3.24 หมื่นล้านบาท ลดลง 31% จากงวดปีก่อน และมีกำไรปี 2566 ที่ 4.04 หมื่นล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อนหน้า ให้ราคาเป้าหมาย 370 บาท หากเปรียบเทียบกับราคาในกระดาน ณ ปัจจุบันแถว ๆ 320 บาท ก็ยังมีอัพไซด์อยู่

ทั้งนี้ SCC หั่นงบลงทุนปีนี้เหลือ 5.5 หมื่นล้านบาท จากเดิม 7 หมื่นล้านบาท พร้อมหันมารุก 3 ธุรกิจใหม่ที่เป็นเมกะเทรนด์เพื่อเพิ่มโอกาส ประกอบด้วยธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และธุรกิจ Smart Living คือการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สะดวกขึ้น

สำหรับกรณีการแลกหุ้นระหว่างบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) บริษัทย่อยของ SCC กับ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD จากนั้นจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD มีกลุ่ม SCC ถือหุ้น 42.9% ในบริษัท SCGJWD พร้อมตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนระดับอาเซียนนั้น

เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลทางการเงินรวมเสมือนของ SCGJWD หลังการทำธุรกรรมรวมกิจการ สำหรับงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แล้ว SCGJWD จะมีรายได้รวมและกำไรสุทธิประมาณ 25,548 ล้านบาท และ 1,125 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ งวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565 SCGJWD จะมีรายได้รวมและกำไรสุทธิประมาณ 14,270 ล้านบาท และ 579 ล้านบาท ตามลำดับ และจะมีสินทรัพย์รวมประมาณ 40,975 ล้านบาท จะส่งผลดีต่อ SCC ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปีหน้า

หากมองระยะสั้นรายไตรมาส ถือว่าในไตรมาส 4 นี้ SCC ยังอ่อนแอ แต่หากมองไปในปีหน้า กำไรของ SCC จะกลับมาฟื้นตัวดีอีกครั้ง

Back to top button