พาราสาวะถี

การเมืองขยับเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ ถึงขนาดที่โฆษกประชาธิปัตย์ จากนี้ไปพรรคเก่าแก่กับภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ ไม่มีอะไรต้องเกรงใจกันอีก


การเมืองมันขยับเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์ทุกขณะ ถึงขนาดที่โฆษกของพรรคประชาธิปัตย์ นับจากนี้ไปพรรคเก่าแก่กับภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญ “ไม่มีอะไรต้องเกรงใจกันอีกต่อไปแล้ว” มันก็หมายความว่า เสถียรภาพของรัฐบาลตกอยู่ในฐานะเจียนไปมากกว่าอยู่ต่อเต็มที อยู่ที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะเคาะให้ยุบสภาวันไหนก็เท่านั้น วันนี้ประเด็นไปต่อหรือพอแค่นี้ชัดเจนแล้วว่า เขาอยากอยู่ยาว ดังนั้น ทางเลือกจึงเหลือแค่ว่าจะอยู่ครบวาระหรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ขณะเดียวกัน ไพศาล พืชมงคล อดีตกุนซือของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ก็ปูดข้อมูลที่เร้ากระแสความสนใจของคอการเมืองเป็นอย่างยิ่ง หลัง 21 พฤศจิกายนนี้เมื่อจบการประชุมเอเปค จะมีบุคคลระดับวีไอพีไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมฟันธงด้วยว่า พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. กับ “บิ๊กแป๊ะ” พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสองคนสำคัญสังกัดค่ายสืบทอดอำนาจ บอกใบ้กันมาขนาดนี้แทบไม่ต้องเดาว่าระดับบิ๊กที่จะไปสวมสีเสื้อพรรคตั้งใหม่คือใคร

หลังตัดสินใจได้ว่าจะไปต่อ ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจย่อมต้องการความเป็นเอกภาพ และตัวเองเป็นเพียงตัวเลือกเดียวของการเป็นแคนดิเดตนายกฯ เท่านั้น ไม่ต้องการใช้สูตรนายกฯ คนละครึ่งกับใคร การตัดสินใจไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามีคนที่ตัวเองดึงตัวมาจากพรรคเก่าแก่ให้เป็นที่ปรึกษานายกฯ อย่าง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งเป็นหัวหน้าพรรค มันย่อมไม่มีทางเป็นอย่างอื่น อยู่ที่ว่าท่านผู้นำจะตัดสินใจแบบไหน เมื่อไหร่แค่นั้น

หากเป็นไปตามคาดการณ์ก็หมายความว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะลงนามในใบสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่การเป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวไม่ใช่ลักปิดลักเปิดเหมือนที่ผ่านมา สิ่งที่จะตามมาหลังจากนั้น คือ การปรับ ครม.เพื่อตั้งคนของตัวเองให้มีหัวโขน อาจจะในฐานะโควตาคนนอกหรือคนในพรรคแกนนำรัฐบาลที่เป็นสายตรง และจะมีการย้ายพรรคไปร่วมทำงานด้วยกัน เพื่อเสริมศักยภาพให้เกิดประโยชน์ในการเลือกตั้งให้มากที่สุด

จากนั้นก็จะเป็นการพิจารณาวันเวลาที่จะยุบสภาตามมา ไม่เพียงแต่ให้นักการเมืองที่จะย้ายคอกสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบของกฎหมายเท่านั้น หากแต่พิจารณาจากความเปราะบางทางการเมืองที่ว่าด้วยเสียงของ ส.ส.ในซีกเดียวกันแล้ว มันสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ทุกเมื่อ เห็นได้จากกรณีของร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลที่แม้จะพ่ายแพ้กลเกมของขบวนการสืบทอดอำนาจ แต่เสียงที่ชนะกันห่างกันเพียงแค่ 2 คะแนนเท่านั้น

ตรงนี้ย่อมเป็นภาพสะท้อนว่า หากมีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสู่การพิจารณาแล้วเกิดเหตุหักหน้ากันกลางสภา มันก็จะทำให้อยู่ยากและฝ่ายกุมอำนาจจะเสียฟอร์ม เสียหน้ากันหนักเข้าไปอีก ที่เห็นและเป็นไปหนึ่งคือ ร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ตามจิกตามกัดภูมิใจไทยอยู่ตลอด จนกลายเป็นวิวาทะสะท้อนความบาดหมาง แตกแยก จากเดิมที่เป็นระดับ ส.ส.ของพรรค ตอนนี้บานปลายไปถึงขั้นหัวหน้าสองพรรคออกมาแขวะกันแล้ว

นอกจากนั้น ยังมีปมการแก้กฎกระทรวงมหาดไทยเรื่องให้ต่างชาติซื้อที่ดินได้ 1 ไร่ ที่วันก่อน พี่รองแก๊ง 3 ป.ไปตอบกระทู้ถามสดของพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ ต้องประกาศกร้าวไม่มีใครคิดขายชาติ แต่มีวลีทองที่ต้องขีดเส้นใต้กันก็คือ หากมีเสียงค้านมากก็พร้อมที่จะเลิกกฎหมายดังกล่าวไป ก็ไม่ได้ผิดไปจากที่คาดกัน การที่อ้างว่าเรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา เห็นชัดอยู่แล้วว่าเป็นการดึงเกม ซื้อเวลา วัดกระแสว่าฝ่ายต้านกับเสียงหนุนอย่างไหนมีมากกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อไปบนถนนสายการเมือง โดยไม่ร่วมทางกับพี่ใหญ่นั้น น้องเล็กมีความเชื่อว่าด้วยความนิยมของตัวเองที่ยังดีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบกับมี ส.ส.และรัฐมนตรีสายตรงหลายรายที่น่าจะเก็บคะแนนเสียงได้ในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออก บางจังหวัด และ กทม.บางส่วน เมื่อคำนวณจำนวน ส.ส.ที่จะได้แล้ว เชื่อว่าสุดท้ายยังไงพรรคที่เคยจับมือกันอยู่เวลานี้ก็จะยังสนับสนุนตัวเองให้เป็นนายกฯ อยู่ดี เพราะมี 250 เสียง ส.ว.ลากตั้งเป็นหลักประกันอยู่แล้ว

นั่นจึงทำให้มองได้ว่า นี่เป็นการแยกกันตีหรือเปล่า การไม่อยู่ร่วมกับพี่ใหญ่ในพรรคสืบทอดอำนาจ ส่วนหนึ่งอาจถูกมองว่ามาจากความไม่ลงรอยกันทางแนวคิดทางการเมือง แต่ปลายทางหลังการเลือกตั้งก็จะหันมาจูบปากกันอยู่ดี เพราะคำว่าผลประโยชน์ย่อมอยู่เหนือความขัดแย้งใด ๆ อยู่แล้ว ยิ่งเป็นคนที่เคยร่วมหัวจมท้ายกันมาก่อน เคยมองตาก็รู้ใจ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะจับมือกันได้ ทว่าสูตรการเมืองแบบนี้จะต้องให้สองพรรคร่วมรัฐบาลสำคัญได้ ส.ส.จากพื้นที่อื่นในจำนวนที่มากพอด้วยเช่นกัน

ประเด็นนี้ถือเป็นความหนักใจกันอยู่ไม่ใช่น้อย เห็นการห้ำหั่นกันของประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยก็ชัดเจนอยู่แล้วว่ามีปัญหาเรื่องการแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.ในภาคใต้ และไม่ใช่มีเพียงแค่สองพรรค ไหนจะพรรคสืบทอดอำนาจ และพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจอีก ขณะที่เค้กมีอยู่แค่ก้อนเดียว เก้าอี้ ส.ส.ก็ไม่ได้มาก ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้งแทบจะไม่ส่งผลต่อเสียงที่จะใช้เป็นตัวหนุนในการกลับมาร่วมรัฐบาลกันอีก พื้นที่ชี้วัดสำคัญอยู่ที่ภาคอีสานและภาคเหนือ

เมื่อมองไปถึงจุดนี้ ภูมิใจไทยอาจจะได้เปรียบประชาธิปัตย์ทั้งจาก ส.ส.ที่มีอยู่ในมือ และบรรดางูเห่ากินกล้วยทั้งที่เปิดตัวกันไปแล้ว และรอจังหวะจะแสดงตัวกันอีกชุดใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ใช่การการันตีว่าจะทำให้ชนะเลือกตั้ง หากยึดเอาผลการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก อบจ.ที่ผ่านมา รวมไปถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่น ก็จะเห็นได้ว่าทั้งสองพื้นที่นั้นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยยังแข็งแรง แน่นหนา และถ้าประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งจะเป็นโจทย์ยากเข้าไปอีก

อย่างไรก็ตาม พอเห็นอาการกระมิดกระเมี้ยนเรื่องผู้นำที่จะมาร่วมประชุมเอเปคจากปากของ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศแล้ว ก็ไม่แน่ว่า จากที่วางความหวังกันไว้ผลจากการประชุมจะช่วยเสริมสร้างบารมี และเรียกความเชื่อมั่นในตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจกลับมา หรือจะกลายเป็นเวทีสุดท้ายที่ทำให้ต้องตัดสินใจโบกมือลาไม่ไปต่อกันแน่

Back to top button