IP เติมขาธุรกิจรพ.

ตั้งแต่ IP ของ “เฮียตฤณวรรธน์” สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการกล่อมให้ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน อย่าง PTT ส่งหลานในไส้ INNOBIC LL เข้ามาถือหุ้น IP 20%


ตั้งแต่บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP ของ “เฮียตฤณวรรธน์ ธนิตนิธิพันธ์” สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการกล่อมให้ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงาน อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ส่งหลานในไส้ บริษัท อินโนบิก แอลแอล โฮลดิ้ง จำกัด (INNOBIC LL) เข้ามาถือหุ้น IP สัดส่วน 20% ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 1,043 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อร่วมกันปลุกปั้นธุรกิจสุขภาพแบบครบวงจร เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา…หลังจากนั้นหุ้น IP แทบหลุดหายไปจากจอเรดาร์ของนักลงทุน..!!

สะท้อนได้จากมูลค่าการซื้อขายในแต่ละวันที่เหือดแห้งเหลือไม่ถึง 10 ล้านบาท ส่วนราคาหุ้นไม่ต้องพูดถึง สาละวันเตี้ยลงมาเรื่อย ๆ ถ้าดูในรอบ 6 เดือน จากเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. เคยขึ้นไปแตะสูงสุดที่ 21.50 บาท ปัจจุบันซื้อขายกันที่ราคา 15 บาทเศษเท่านั้น…

สวนทางกับตัวธุรกิจของ IP ซึ่งทำธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและร้านขายยา เป็นธุรกิจที่อยู่ในเมกะเทรนด์ มีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด…ผลงานแค่ครึ่งแรกปี 2565 ก็ฟาดกำไรสุทธิไปแล้ว 64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.4% จากเดิมเคยทำได้ 43 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายและบริการ 679 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 81.4% จากเดิมเคยทำได้ 374 ล้านบาท

ล่าสุดก็เติมสตอรี่ใหม่ ด้วยการต่อเติมขาธุรกิจโรงพยาบาล โดยส่งบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท อินเตอร์ เวลเนส จำกัด เข้าซื้อหุ้นบริษัท นครพัฒน์ จำกัด หรือโรงพยาบาลนครพัฒน์ สัดส่วน 50% มูลค่ารวม 400 ล้านบาท ซึ่งคาดธุรกรรมจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 4/2565

นั่นจะทำให้ IP มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ไล่มาตั้งแต่ธุรกิจผลิตยา ธุรกิจร้านขายยา ตลอดจนธุรกิจโรงพยาบาล

กรณีนี้คล้ายคลึงกับบริษัท โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ จำกัด (มหาชน) หรือ IMH จากเดิมเป็นแค่ศูนย์ให้บริการตรวจวิเคราะทางการแพทย์ ก็ขยายไปสู่ธุรกิจโรงพยาบาล ด้วยการเข้าซื้อโรงพยาบาลประชาพัฒน์ขนาดใหญ่ 100 เตียง มูลค่า 161 ล้านบาท ล่าสุดเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นโรงพยาบาล IMH ธนบุรี นั่นแหละ…

ขณะที่โรงพยาบาลนครพัฒน์ที่ IP ไปซื้อหุ้นนั้น เป็นโรงพยาบาลเอกชนขนาด 59 เตียง ตั้งอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2551 โดยให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยทั่วไป โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกและข้อ โรคระบบประสาททางอายุรกรรม โรคทางศัลยกรรม โรคไต โรคทางสูตินรีเวช โรคทางระบบหู ตา คอ จมูก โรคเลือด และคลินิกกุมารเวช เป็นต้น

ด้านผลประกอบการไม่ธรรมดาในปี 2562 (20 มิ.ย. 2561-19 มิ.ย. 2562) มีรายได้รวม 169 ล้านบาท กำไรสุทธิ 0.54 ล้านบาท ปี 2563 (20 มิ.ย. 2562-9 มิ.ย. 2563) มีรายได้รวม 162 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3 ล้านบาท ปี 2564 (20 มิ.ย. 2563-19 มิ.ย. 2564) มีรายได้รวม 164 ล้านบาท กำไรสุทธิ 17 ล้านบาท และปี 2565 (20 มิ.ย. 2564-19 มิ.ย. 2565) มีรายได้รวม 345 ล้านบาท กำไรสุทธิ 70 ล้านบาท

ถ้าเทียบเคียงงบ IP ในปี 2564 ที่มีกำไรแตะ 105 ล้านบาท ส่วนโรงพยาบาลนครพัฒน์มีกำไรสุทธิ 70 ล้านบาท จะคิดเป็น 70% ของกำไร IP เลยนะ..และหากดูจากการเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 50% IP คงใช้วิธี consolidating งบโรงพยาบาลนครพัฒน์เข้ามาเลย เท่ากับว่า จะเห็น IP โตก้าวกระโดดเลยแหละ…

ก็เป็นสตอรี่เชิงบวกที่ช่วยหนุนการเติบโตระยะยาวของ IP

แต่น่าแปลกราคาหุ้นไม่ค่อยตอบสนองดีลนี้เอาซะเลย

แหม๊…เสียของจริง ๆ พับผ่าสิ..!!

…อิ อิ อิ…

Back to top button