โอเปกที่ขอบเหวพลวัต2015
ก่อนการประชุมโอเปกครั้งสุดท้ายของปี ซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่สุดของกลุ่มโอเปก ออกมาให้ข่าวที่ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกขยับตัวขึ้น เป็นวันที่ 3 ติดต่อกันว่า พร้อมจะร่วมมือกับชาติในโอเปก และนอกโอเปกในการรักษาเสถียรภาพด้านอุปทานของการผลิตในโลก
ก่อนการประชุมโอเปกครั้งสุดท้ายของปี ซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่สุดของกลุ่มโอเปก ออกมาให้ข่าวที่ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกขยับตัวขึ้น เป็นวันที่ 3 ติดต่อกันว่า พร้อมจะร่วมมือกับชาติในโอเปก และนอกโอเปกในการรักษาเสถียรภาพด้านอุปทานของการผลิตในโลก
รัฐมนตรีน้ำมัน อาลี อัล-นาอิมี่ ระบุว่า ความไร้เสถียรภาพของตลาดน้ำมัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอุปสงค์ในการบริโภคน้ำมันจะลดลง เพราะยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี ในระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดังนั้น แม้ว่าราคาน้ำมันจะตกต่ำ การลงทุนใหม่เพื่อสำรวจขุดเจาะน้ำมันมาสนองตลาด ยังมีความจำเป็นต่อไป
แม้คำกล่าวดังกล่าวจะไม่ได้พูดถึงการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันดิบ หลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้นเหตุในการขุดน้ำมันออกมาขายเพิ่มในตลาดโลกแข่งกับน้ำมันในสหรัฐ จนกระทั่งราคาน้ำมันร่วงลงมาอยู่ที่ระดับต่ำใกล้ 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน แต่คือการส่งสัญญาณชัดว่า การหาทางออกจากความไร้เสถียรภาพของตลาดนั้น กำลังเริ่มต้นขึ้น
การขึ้นลงของราคาและดัชนีตลาดหุ้น ล้วนโยงใยเข้ากับการเคลื่อนไหวขึ้นลงของราคาน้ำมัน เพราะอย่างที่ทราบกันดี หุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานในตลาดหุ้นสำคัญของโลกนั้น ล้วนมีมาร์เก็ตแคปที่ใหญ่มากจนกระทั่งมีน้ำหนักสูงมากต่อดัชนีของตลาดหุ้นทุกแห่ง
กรณีของหุ้นกลุ่ม ปตท.ในตลาดหุ้นไทย เป็นต้นแบบที่ชัดเจน
ตลาดหุ้นปีนี้ ที่มีดัชนีเคลื่อนไหวในลักษณะ ”สาละวันเตี้ยลง” นานหลายเดือน แปรและผันผวนไปมา ล้วนมีสาเหตุเชื่อมโยงโดยตรงและอ้อมกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทั้งสิ้น
ราคาน้ำมันที่ร่วงหนักจะตามมาด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ย่ำแย่เป็นผลพวงที่เลี่ยงไม่พ้น เพราะตลาดสินค้าจะคาดว่า (และเป็นจริงเสมอ) สินค้าโภคภัณฑ์จะล้นตลาดเนื่องจากความต้องการซื้อในอนาคตของประเทศต่างๆ ในเศรษฐกิจซบเซาจากการถดถอยของราคาน้ำมัน
หากราคาน้ำมันคือปฐมเหตุของปัญหาตลาดหุ้นพังทลายปีนี้ การวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันระลอกใหม่ น่าจะเป็นคำตอบที่ตลาดหุ้นและนักลงทุนรอคอย
เป็นที่ทราบกันดีว่า ภาวะตกต่ำของราคาน้ำมันไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติหรืออุปสงค์และอุปทานของตลาด แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีบทบาทสำคัญของตลาดน้ำมันโลกคือ สหรัฐและชาติสมาชิกโอเปก ที่ประกาศสงครามราคาอย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ไม่เปิดเผยแต่เหตุผลเบื้องหน้าคือการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดน้ำมันดิบโลก
ในหลายเดือนที่ผ่านมา ชาติโอเปกสำคัญอย่างอิรัก และซาอุดีอาระเบีย พากันขุดน้ำมันออกมาขายอย่างหนักจนเกินจำนวนเป้าหมายวันละ 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณล้านบาร์เรลต่อวันส่งผลให้ราคาน้ำมันร่วงลงจนบริษัทขุดเจาะน้ำมันสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จำต้องลดการขุดเจาะน้ำมันลงต่อเนื่อง
ยังไม่ใครล่วงรู้และเปิดโปงออกมาว่า เจตนาที่แท้จริงของการทำให้ผลผลิตน้ำมันล้นโลกยามนี้คืออะไร รู้แค่ว่า ข้ออ้างเรื่องส่วนแบ่งการตลาดเป็นประเด็นที่รับรู้แต่ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่แท้จริง
การที่โอเปกได้ตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อปลายปีก่อน โดยยืนกรานคงระดับการผลิต 31.5 ล้านบาร์เรลต่อวันและที่จริงผลิตเกินกว่าระดับนั้นหลายเท่า ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งแรง เพราะต้องการให้ผู้ผลิตน้ำมันของสหรัฐที่มีต้นทุนสูงกว่าจำต้องลดกำลังการผลิตลง และช่วยให้ชาติสมาชิกโอเปก 12 ประเทศ ซึ่งผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกถึง 1 ใน 3 รักษาส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันเอาไว้ได้ แต่ก็มีต้นทุนที่แพงลิบลิ่ว จนดูเหมือนไม่คุ้ม
ผู้นำชาติโอเปกเชื่อว่า การลดกำลังผลิตเพียงฝ่ายเดียวโดยปราศจากความเคลื่อนไหวแบบเดียวกันของคู่แข่ง มีความเสี่ยงที่พวกเขาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะกับเหล่าชาติผู้ผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือ ซึ่งอาจจะไม่ผิดในปีนี้ แต่ปีต่อไป เริ่มไม่แน่นอนเสียแล้ว
เหตุผลคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนับแต่เดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป จะเข้าสู่ภาวะเริ่มดิ่งเหวครั้งใหม่ เพราะผลพวงของข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจ 5+1 กับอิหร่าน ที่อนุญาตให้อิหร่านส่งออกน้ำมันระลอกใหม่ในตลาดโลก ก็เป็นแรงกดดันที่จะส่งผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่กลับเป็นขาขึ้นได้
ซาอุดีอาระเบียในฐานะผู้นำกลุ่มโอเปกรู้ดีว่า หายนะที่รออยู่ข้างหน้า จำต้องได้รับการแก้ไข ไม่ให้ด้วยการแสดงพลังสัญชาตญาณอยากตายหรือ death instinct แต่ด้วยการเจรจาในลักษณะเดียวกันกับที่ในอดีตโอเปกเคยจับมือรับปากเมื่อปี ค.ศ. 1973 มาแล้วว่า จะใช้ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นในการค้าน้ำมันทั่วโลก ซึ่งยังดำรงอยู่มาถึงปัจจุบัน
สำหรับชาติโอเปกที่มีรายได้หลักจากน้ำมันมายาวนาน ผลของการต่อสู้ในสงครามราคาน้ำมันรอบล่าสุด ทำให้ฐานะความร่ำรวยที่เคยมีมายาวนานร่อยหรอลง ต่างกันสหรัฐที่แม้ธุรกิจน้ำมันจะย่ำแย่ แต่ขนาดของธุรกิจน้ำมัน เมื่อเทียบกับขนาดของจีดีพีของประเทศแล้วไม่มากนัก ความเสียหายจากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมจะต่ำ และอาจได้ประโยชน์ในส่วนอื่นที่ใช้น้ำมันราคาถูกมาชดเชย จึงไม่ได้เสียหายมากนัก
อนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐหลังราคาน้ำมันร่วงแรง มีโอกาสฟื้นตัวจนกระทั่งสามารถกลับมาพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ค่าดอลลาร์แข็งค่าครั้งใหม่ได้ สะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะตกต่ำ แต่อนาคตของชาติสมาชิกโอเปก กลับเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เสมือนอยู่ที่ปากเหวใหญ่และลึก
ความตระหนักดีว่า อิทธิพลของโอเปกในหลายปีนี้ แม้จะยังมีอยู่ แต่ก็ลดลงไปค่อนข้างมาก การส่งสัญญาณเพื่อหาความร่วมมือผ่านการเจรจาก้าวข้ามหายนะที่รออยู่ข้างหน้า จึงเป็นท่าทีที่สำคัญ ก่อนการประชุมโอเปกในเดือนธันวาคมจะเริ่มขึ้น
ถึงเวลาของโอเปกที่จะต้องยึดถือกลยุทธ์ “ตาดูดาว เท้าติดดิน” กันจริงจังเสียที ซึ่งเป็นข่าวดีสำหรับราคาน้ำมันและตลาดหุ้นอย่างไม่ต้องสงสัย