‘อดิศักดิ์’ แห่ง JMART พูดจริง ทำจริง

แต่ละดีลที่ JMART เข้าไปลงทุน ประเมินได้ว่าน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้อย่างมาก อย่างเช่นดีลของ “สุกี้ ตี๋น้อย” ที่เข้าไปถือหุ้น 30%


เส้นทางนักลงทุน

JMART หรือ บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า คณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้เข้าลงทุน และลงนามสัญญาในการเข้าลงทุน (Share Purchase Agreement : SPA และ Share Subscription Agreement : SSA) และสัญญาผู้ถือหุ้น (Shareholder Agreement : SHA) ในบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ “สุกี้ ตี๋น้อย” จำนวน 352,941 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด มูลค่าลงทุนรวมไม่เกิน 1,200 ล้านบาท โดยจะดำเนินธุรกรรมการลงทุนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2565

ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวในการเดินหน้าตามแผนงานของกลุ่ม JMART ที่จะผลักดันกำไรสุทธิช่วง 3 ปี ให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 50% รวมทั้งดันมูลค่าตามราคาตลาด หรือ Market Cap ไปแตะหลัก 5 แสนล้านบาท จากตอนนี้อยู่ราว ๆ 2 แสนล้านบาท

กลยุทธ์ที่กลุ่ม JMART ใช้คือการเชื่อมโยง Ecosystem ของธุรกิจในเครือ และลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีศักยภาพในการต่อยอดการเติบโต ดีลนี้จึงได้เห็นการแตกไลน์ออกไปยังธุรกิจอาหารด้วยการเข้าถือหุ้น “สุกี้ ตี๋น้อยซึ่งจะไม่จบแค่นั้น เพราะ JMART ยังมีแผนขยายไปในธุรกิจบริหารทรัพยากรบุคคลและธุรกิจสื่ออีกด้วย

แต่ละดีลที่ JMART เข้าไปลงทุนประเมินได้ว่าน่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้อย่างมาก อย่างเช่นดีลของ “สุกี้ ตี๋น้อยที่ใช้เงินไม่เกิน 1,200 ล้านบาท เพื่อถือหุ้น 30% เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และกำไรของ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2564 ซึ่งมีรายได้ 499 ล้านบาท, 1,223 ล้านบาท, 1,572 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่ มีกำไรสุทธิในช่วงเวลาเดียวกัน 15 ล้านบาท, 140 ล้านบาท และ 148 ล้านบาท และจะเห็นว่าบริษัทนี้รายได้เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 77% ส่วนกำไรสุทธิในแต่ละปีขยับขึ้นถึง 214% โดยเฉพาะในปี 2563-2564 ที่ต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่ “สุกี้ ตี๋น้อย” ก็ยังเติบโตได้อยู่

ดีลนี้ถือเป็นความลงตัว เนื่องจาก “สุกี้ ตี๋น้อยมีแผนขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีสาขาในประเทศ 42 สาขา ส่วน JMART มีความเชี่ยวชาญทางด้านการค้าปลีก การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยให้พันธมิตรทางการค้า คือ BNN มีการเติบโตในด้านผลการดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย “สุกี้ ตี๋น้อย” สามารถขยายสาขาไปยังพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้รวดเร็วขึ้น

ดีลนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของกลุ่ม JMART ภายใต้การนำของ “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JMART ที่เล็งเห็นว่าธุรกิจร้านอาหารของ BNN เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ มีโอกาสในการเติบโตสูง และยังมีแผนนำ BNN เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายใน 2 ปี ก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างฐานของกลุ่ม JMART ให้มั่นคงยิ่งขึ้น จากปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มนี้ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจเจมาร์ท โมบาย ซึ่งยอดขายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในร้านเจมาร์ทยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง

2.ธุรกิจบริหารจัดการหนี้เสียภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT ที่การเติบโตของพอร์ตการบริหารจัดการหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ในส่วนของธุรกิจนี้ได้มีการขยายไปร่วมทุนกับพันธมิตรต่าง ๆ เช่น ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ที่จับมือกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK AMC)

ฐานรายได้ขาที่ 3.ของกลุ่มนี้มาจากธุรกิจสินเชื่อ Consumer Hire Purchase ดำเนินการโดยบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER และ 4.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J ที่มีแผนรุกเข้าสู่ธุรกิจศูนย์ดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการร่วมทุนกับ KB Kookmin Card ภายใต้บริษัท เคบี เจ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจบัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จะขยายการเติบโตในเชิงรุก และก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 5 ธุรกิจ Non-Bank ของประเทศไทย

ส่วนบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ยังคงพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตัว J NFT อีกทั้งยังมีการนำ JFin Coin มาใช้เป็นประโยชน์ใน Ecosystem ของกลุ่ม JMART และพันธมิตร

ราคาหุ้น JMART ตอบสนองความสำเร็จของดีลนี้ ปรับตัวสูงขึ้น 3.41% มาปิดที่ 45.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มีวอลุ่มซื้อขาย 565.55 ล้านบาท (ณ 9 พฤศจิกายน 2565)

ด้านโบรกเกอร์ประเมินดีลนี้ว่าน่าจะสร้างผลตอบแทนในระดับสูง และมีโอกาสในการเติบโตอีกมากในอนาคต เมื่อพิจารณาจากการเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิของ BNN ซึ่งรวมถึงการเตรียมระดมทุนเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น

ขณะที่ แนวโน้มผลการดำเนินงานของ JMART ในช่วงครึ่งหลังและทั้งปี 2565 นี้ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตามยอดขายของธุรกิจโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่มีการปิดห้าง ทำให้ยอดขายลดลง รวมถึงเป็นการเข้าสู่ช่วงไฮซีชั่น (high season) ของธุรกิจ

ขณะที่ รายได้ของ JMT ยังเติบโตต่อเนื่องตามการขยายพอร์ต NPL และเริ่มรับรู้ JV AMC กับ KBANK ส่วน SINGER พอร์ตสินเชื่อยังเติบโตตามเป้าปีนี้ที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท และเริ่มรับรู้รายได้จากการร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง JMART และ SINGER กับบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ชื่อ เจจีเอส ซินเนอรจี พาวเวอร์ (JGS) ขยายตลาด Solar Rooftop ไซส์ครัวเรือนและธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง

ดีลนี้ยืนยันว่า “อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา” พูดจริง ทำจริง กลุ่ม JMART จะทำสถิติใหม่ สร้างนิวไฮอย่างต่อเนื่อง

Back to top button