BJC อุ้ม Big C รีเทิร์น

ย้อนกลับไปในอดีต Big C เคยเป็นหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหุ้นไทยจดทะเบียนในกลุ่มค้าปลีก แต่ต่อมาได้ขอเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นไทยไปในเดือนกันยายนปี 2560


เส้นทางนักลงทุน

มีข่าวลือกระฉ่อนซึ่งยังไม่มีใครยืนยันว่าเท็จจริงอย่างไร แต่เป็นข้อมูลที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ที่รายงานโดยอ้างอิงความเห็นแหล่งข่าวว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC อาจมีการนำบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ Big C กลับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้ง ด้วยการออกและเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) โดยมีมูลค่าการระดมทุนที่ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.85-1.90 หมื่นล้านบาท

หากย้อนกลับไปในอดีต Big C เคยเป็นหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหุ้นไทยจดทะเบียนอยู่ในกลุ่มค้าปลีก แต่ต่อมาได้ขอเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นไทยไปในเดือนกันยายนปี 2560

แรกเริ่มเดิมที Big C เป็นศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อสัญชาติไทย ดำเนินกิจการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 โดยกลุ่มเซ็นทรัล และเปิดสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ

จากวิฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ทำให้กลุ่มคาสิโนผู้ประกอบการค้าปลีกสัญชาติฝรั่งเศส ได้เข้าซื้อหุ้นของ Big C จำนวน 530 ล้านหุ้น และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 66% ทำให้ Big C กลายสภาพเป็นค้าปลีกของต่างชาติไป

ในปี 2555 Big C ได้ออกและเสนอขายหุ้น IPO เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งในครั้งนั้นสามารถระดมทุนได้ประมาณ 4.2 พันล้านบาท หรือราว 112 ล้านดอลลาร์ฯ

ในปี 2559 กลุ่มคาสิโนได้ประสบปัญหาด้านการเงิน จึงเปิดประมูลกิจการ Big C ในไทย สปป.ลาว และเวียดนาม เพื่อนำเงินทุนไปชำระหนี้สินของบริษัท

ในขณะนั้นกลุ่มเซ็นทรัลของตะกูลจิราธิวัฒน์ กับกลุ่มทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เข้าร่วมประมูล โดยกลุ่มทีซีซีชนะการประมูล Big C ในประเทศไทยด้วยมูลค่า 2 แสนล้านบาท (รวมเทนเดอร์ออฟเฟอร์) ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 97.94%

การซื้อขายหุ้นครั้งนั้นเสร็จเรียบร้อยภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2559 ต่อมากลุ่มเซ็นทรัลก็ได้ขายหุ้นที่มีอยู่ใน Big C ทั้งหมดให้กับกลุ่มทีซีซี ทำให้ในปี 2560 Big C กลายเป็นกิจการค้าปลีกของคนไทยอีกครั้ง ภายใต้การถือหุ้นใหญ่โดย BJC ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเรือธงของกลุ่มทีซีซี

หลังจากนั้น Big C ได้ขอเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นไทยในวันที่ 28 กันยายน 2560 โดยทำการซื้อขายครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560

มีควันย่อมมีไฟ ข่าวลือน่าจะเป็นข่าวจริง เมื่อ “ธีรศักดิ์ นาทีกาญจนลาภ” กรรมการ BJC แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการพิจารณาการเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ของ Big C นั้น บริษัทยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ณ ขณะนี้ ทั้งนี้เมื่อบริษัทมีความคืบหน้าที่ชัดเจน จะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อไป

เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นแค่ข่าวลือ ข้อมูลที่หลุดออกมามันชัดเจนว่า Big C กำลังพิจารณาวาณิชธนกิจเพื่อขอข้อเสนอขายหุ้น ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นในปีหน้านี้

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือรายละเอียดในข้อเสนอที่เป็นไปได้ เช่น มูลค่าและระยะเวลาในการระดมทุนที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ฟันธงว่า หากพิจารณาประโยชน์ในเชิงปัจจัยพื้นฐาน ดีลดังกล่าวมีความเป็นไปได้ โดยมีมุมมองคือ 1.การระดมทุนน่าจะทำให้สามารถลดภาระหนี้ของ Big C และจะทำให้หนี้สินต่อทุนของ Big C ลดลงจาก 1.69 เท่า

2.ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยจ่ายจะช่วยหักล้างผลกระทบที่เกิดจากการลดทอนของกำไรจากสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง และ 3.Big C น่าจะได้เงินลงทุน เพื่อไปขยายสาขาขนาดกลาง-เล็กซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเติบโต

ขณะที่ การปรับลดเกณฑ์พิจารณาบริษัทจดทะเบียนที่จะถูกจัดอยู่ใน SET50 โดยการปรับลดปริมาณการซื้อขายหุ้น (turnover) ลงจากเดิม 5% เหลือ 2% ทำให้มีโอกาสที่หุ้นตัวนี้จะถูกนำเข้าสู่การคำนวณในรอบครึ่งแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) หากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ทันรอบการพิจารณา

สำหรับ BJC ณ ไตรมาส 3 ปี 2565 มีรายได้รวม 40,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,361 ล้านบาท หรือ 9.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายและรายได้ค่าบริการเพิ่ม 7% รายได้อื่นเพิ่มขึ้น 40.9% ส่วนงวด 9 เดือน มีรายได้ 121,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดปีก่อน

ขณะที่ มีกําไรสุทธิเท่ากับ 932 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 565 ล้านบาท หรือ 153.9% งวด 9 เดือน มีกำไร 3,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,180 ล้านบาท คิดเป็น 53.6%

BJC มีรายได้มาจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ 2.กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค 3.กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค 4.กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ และ 5.กลุ่มอื่น ๆ โดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ภายใต้แบรนด์ Big C ถือเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่สุดของ BJC

หุ้น BJC ไม่ตอบสนองกับเรื่องนี้ ราคาทรุด 2 วันติด ๆ จาก 35 บาท มาที่ 30 บาทต้น ๆ ขณะที่ 3 โบรกเกอร์ให้ราคาเป้าหมาย 12 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ 39 บาท ไปจนถึง 42 บาท ดังนั้นหากเรื่องนี้มีไทม์มิ่งที่ชัดเจน น่าจะช่วยหนุนหุ้นตัวนี้ได้

Back to top button