MORE บทเรียน ‘ซื้อก่อน..จ่ายทีหลัง’
จากกรณี MORE ถือว่าเขย่าขวัญวงการบริษัทหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ (อีกครั้ง) ด้วยยอดผิดนัดชำระหนี้ที่ว่ากันว่ามูลค่าสูงถึงระดับ 4,000-5,000 ล้านบาท
จากกรณีบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ถือว่าเขย่าขวัญวงการบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ครั้งใหญ่ (อีกครั้ง) ด้วยยอดผิดนัดชำระหนี้ที่ว่ากันว่ามูลค่าสูงถึงระดับ 4,000-5,000 ล้านบาท ทำให้โบรกเกอร์ขนาดกลางและเล็กบางรายระดับ NCR (Net Capital Ratio) หรือเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิปรับตัวลดลงกว่าต่ำเกณฑ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่กำหนดไว้ได้
กรณีเลวร้ายสุด “โบรกเกอร์บางราย” อาจถึงขั้นต้องเพิ่มทุนกันเลยทีเดียว..!!??
แต่บังเกิดความสับสนกันว่า “การซื้อหุ้น MORE” ดังกล่าวมีการใช้บัญชีอะไรกันแน่ เพราะจนถึงวันนี้คนส่วนใหญ่จะมีการพูดถึงกันว่าเป็นการซื้อหุ้นด้วย “บัญชีมาร์จิ้น” (Margin Account) จนอาจสร้างหายนะให้โบรกเกอร์บางรายได้ ช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้…
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้คือต้นตอความหายนะครั้งนี้ ผู้ซื้อหุ้น MORE (ว่ากันว่าชื่อ “ปป.”) ซื้อหุ้นด้วยบัญชีที่เรียกว่า “บัญชีเงินสด” (Cash Account) ไม่ใช่ “บัญชีมาร์จิ้น” ที่หลายคนกำลังมีการพูดถึงกันอยู่ขณะนี้
ปัจจุบันการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นมีให้เลือกเปิดได้ 3 ประเภท คือ บัญชีเงินสด (Cash Account), บัญชีวางหลักประกันเต็มจำนวน (Cash Balance) และบัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) หรือว่าบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (Credit Balance) นั่นเอง
บัญชีเงินสด (Cash Account) เป็นบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่นักลงทุนสั่งซื้อหลักทรัพย์เท่ากับวงเงินที่ได้รับ…สรุปง่าย ๆ คือ “ซื้อก่อน..จ่ายเงินทีหลัง” ซึ่งโบรกเกอร์แต่ละแห่ง จะดูวงเงินการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละราย ตามฐานะทางการเงินหลักประกันและความสามารถในการชำระหนี้
เมื่อได้รับการอนุมัติวงเงินแล้ว นักลงทุนต้องวางหลักประกัน 15% ของวงเงินดังกล่าวไว้กับโบรกเกอร์ ตัวอย่างเช่น ถ้าได้รับอนุมัติวงเงิน 100,000 บาท ต้องวางหลักประกัน 15,000 บาท แต่หากวางหลักประกันไม่ครบจะได้รับอนุมัติวงเงินไม่ถึงตามที่อนุมัติไว้ก่อนหน้า
หลักประกันที่ว่านี้จะเป็นเงินสดหรือหลักทรัพย์ก็ได้ ถ้าเป็นเงินสด นักลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยด้วย ข้อดีของบัญชีประเภทนี้อยู่ที่ “การชำระเงินค่าซื้อหุ้น..ไม่ต้องชำระเงินทันที” แต่โบรกเกอร์ จะตัดเงินค่าซื้อหลักทรัพย์จากบัญชีเงินฝากหรือกองทุนรวมที่เปิดไว้กับโบรกเกอร์ในวันทำการที่ 2 จากวันที่สั่งซื้อหลักทรัพย์ (T+2)
อย่างกรณีหุ้น MORE ซื้อหุ้นวันพฤหัสบดี (10 พ.ย.) เงินจะถูกตัดบัญชีในวันจันทร์ (14 พ.ย.) โดยผู้ขายหุ้น MORE จะได้รับเงินจากการขายหุ้นวันจันทร์ (14 พ.ย.) เช่นกัน
บัญชีวางหลักประกันเต็มจำนวน (Cash Balance) เป็นบัญชีที่เราต้องนำเงินสดไปฝากไว้กับโบรกเกอร์ก่อน แล้วถึงจะซื้อหุ้นได้ตามจำนวนเงินที่เราเอาไปฝากไว้ “ฝากเงินแค่ไหน..ซื้อได้เท่านั้น” อาทิ อยากซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท ต้องโอนเงินมูลค่า 100,000 บาท ฝากเข้าบัญชีก่อน ถึงจะสามารถทำการซื้อขายได้
ข้อดีบัญชีประเภทนี้จะช่วยป้องกันการซื้อหุ้นมากเกินความสามารถในการชำระเงิน ส่วนค่าคอมมิชชั่นจะต่ำกว่าบัญชีประเภท Cash Account และเงินที่นำมาฝากไว้กับโบรกเกอร์ แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปชำระค่าซื้อหุ้นจะได้รับดอกเบี้ยจากโบรกเกอร์อีกด้วย
บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account) หรือบัญชีกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ (Credit Balance) เป็นบัญชีที่โบรกเกอร์ให้ลูกค้าสามารถกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อหุ้นได้ โดยลูกค้าต้องจ่ายเงินสดบางส่วน และใช้เงินกู้ยืมจากโบรกเกอร์บางส่วน ซึ่งส่วนที่กู้ไปซื้อหุ้นจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นดอกเบี้ยที่โบรกเกอร์คิดกับลูกค้าตามอัตราที่ตกลงกัน เช่นกรณีอยากซื้อหุ้นมูลค่า 100,000 บาท สามารถนำเงินแค่ 50,000 บาทมาซื้อได้และโบรกเกอร์ให้ยืมอีก 50,000 บาท (คิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืม) ข้อดีคือนักลงทุนมีอำนาจซื้อหุ้นเพิ่มขึ้น..นั่นเอง
ปมปัญหา..การซื้อหุ้น MORE ที่โบรกเกอร์เผชิญตอนนี้คือ “บัญชีเงินสด” ที่ผู้ซื้อหุ้นไม่ยอมจ่ายเงินตามกำหนดเงื่อนไข T+2 แต่โบรกเกอร์ของผู้ซื้อมีการจ่ายเงินและรับหุ้น MORE มาแล้ว..ความหายนะจึงตามมาทันที..
บทเรียนการใช้ “บัญชีซื้อก่อน..จ่ายเงินทีหลัง” ครั้งนี้..ถือเป็นความเจ็บปวดที่โบรกเกอร์ต้องจดจำกันไปอีกนานเลยทีเดียว..!!!??