พาราสาวะถี
การเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคของประเทศไทยได้อะไรบ้าง ต้นสัปดาห์หน้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคงจะออกมาฟุ้งเป็นฉาก ๆ
การเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคของประเทศไทยได้อะไรบ้าง ต้นสัปดาห์หน้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจคงจะออกมาฟุ้งเป็นฉาก ๆ รวมทั้งให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกกล่าวกับประชาชนว่าสิ่งที่ลงทุนไปนั้นประเทศไทยได้รับอะไรกลับมาบ้าง แต่ไม่น่าจะใช่เรื่องหลักที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ เพราะสิ่งที่เฝ้ารอกันและผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจก็บอกไว้แล้วหลังเอเปคจะมีคำตอบ นั่นก็คือ ทิศทางทางการเมืองของตัวเอง อันจะเกี่ยวพันกับพรรคการเมืองอย่างน้อยก็ 2 พรรคด้วย
ไม่ต้องถามว่าจะไปต่อในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ แม้จะเหลือเวลาหลังเลือกตั้งใหม่ถ้าได้รับเลือกให้กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกแค่ 2 ปี เมื่อเขาอยากอยู่ยาวย่อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้เดินไปสู่เป้าหมาย คำตอบที่จะได้รับมันจะมีผลในการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนของพรรคสืบทอดอำนาจและพรรคเกิดใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเดินกันอย่างไร ชูอะไรเป็นจุดขายสำคัญ
กรณีที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ไปสมัครเป็นสมาชิกรวมไทยสร้างชาติ หมายความว่าต้องการจะเป็นแคนดิเดตในนามพรรคสืบทอดอำนาจต่อไป หรือแค่ไม่เป็นสมาชิกแต่ถ้าพรรคของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ยินดีที่จะรับ กรณีแรกถ้าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคแกนนำรัฐบาล ต้องยอมรับให้ได้ว่าไม่ได้เป็นรายชื่อแค่หนึ่งเดียว แต่ต้องมีชื่อของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ประกบด้วย ตามแนวทางนายกฯ คนละครึ่ง
ถ้าเดินแนวนี้หมายความว่าพี่ใหญ่กับน้องเล็กเคลียร์กันลงตัว ทั้งเงื่อนไขส่วนตัวและแนวทางการทำงานการเมืองที่จะต้องยึดตามสิ่งที่พี่ใหญ่และทีมที่ปรึกษา รวมทั้งคนของพรรคสืบทอดอำนาจที่เป็นสายตรงของพี่ใหญ่ดำเนินการเท่านั้น ไม่ใช่ตั้งแง่จนทำให้ทำงานยากเหมือนที่ผ่านมา กลายเป็นช่องว่างให้พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองดึงคนที่มีศักยภาพของพรรคไปร่วมงาน มากไปกว่านั้นหากยังจะเดินร่วมกันต้องใจกว้างยอมให้พี่ใหญ่ดึงคนที่น้องเล็กไม่ถูกใจแล้วถูกเขี่ยทิ้งไปก่อนหน้านี้กลับมา
แต่ถ้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ยอมพี่ใหญ่ และจะเดินไปตามเส้นทางที่ตนได้กำหนดไว้ คือ ใช้พรรคของตัวเองในการขับเคลื่อน ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะมีพลังพอให้ได้ ส.ส.ในจำนวนที่ต้องการเพื่อไปประสานต่อรองกับพรรคอื่น ๆ ในการกลับคืนสู่อำนาจ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไม่ขอเป็นสมาชิกพรรค ไม่อยากเปลืองตัว เชื่อว่ารวมไทยสร้างชาติคงไม่ติดขัดอะไร การเดินไปในทิศทางแบบนี้เชื่อว่าน่าจะทำให้พี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.สบายใจเป็นที่สุด
เพราะไม่ต้องมานั่งเกรงใจใคร จะได้กำหนดนโยบายอย่างเต็มที่ ขณะที่ลูกพรรคก็คงจะหมดห่วงเนื่องจากเสียงสะท้อนที่มีไปยังหัวหน้าพรรคสืบทอดอำนาจนั้น ส่วนใหญ่มองตรงกันชื่อของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่สามารถขายได้อีกแล้วสำหรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ ส่วนความเชื่อของกองเชียร์ชนิดไม่ลืมหูลืมตาก็ปล่อยให้ว่ากันไปตามสะดวก หากจะช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.ได้ภายใต้การชูผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเป็นจุดขาย น่าจะมีเพียงพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น
ยิ่งสแกนไปยังพื้นที่ปักษ์ใต้ที่มีจำนวน ส.ส.ได้ 58 ที่นั่ง หากเป็นไปตามที่ประชาธิปัตย์ประกาศแสดงความเชื่อมั่นจะกวาดผู้แทนได้ถึง 40 ที่นั่ง จำนวนที่เหลือพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะได้เท่าไหร่ เป็นโจทย์ที่ต้องตีกันให้แตก แม้จะเป็นราคาคุยของพรรคเก่าแก่ แต่ต้องไม่ลืมว่าคู่แข่งสำคัญอย่างภูมิใจไทย รวมทั้งพรรคสืบทอดอำนาจ และพื้นที่ปลายด้ามขวานยังมีพรรคประชาชาติของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นตัวตัดแต้มอีก นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามท่าทีของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหลังจากนี้ จากที่เคยเห็นแสดงอารมณ์ดุเดือด ไม่ได้เป็นมิตรกับนักเลือกตั้ง กลัวการเกลือกกลั้วเปลืองตัวในทางการเมือง แต่การขับเคลื่อนเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมความผิดทางการเมือง ของ นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่าทำไมจู่ ๆ จึงลุกขึ้นมาเดินเกมแบบนี้ทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระกันแล้ว
หากติดตามการเมืองกันมาใกล้ชิดแม้จะเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก มีแค่หนึ่งเสียง ส.ส.ในสภา แต่เป็นที่ทราบกันดีว่านี่คือหนึ่งมือทำงานการเมืองคนสำคัญของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ การเปิดเกมเช่นนี้จึงเหมือนเป็นการทอดไมตรีของท่านผู้นำจากเดิมที่แสดงความแข็งกร้าวมาโดยตลอด ยิ่งจับอาการของ วิษณุ เครืองาม ที่บอกว่ายินดีให้หมอระวีเข้าพบหลังประชุมเอเปคเพื่อหารือเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกที่ชัดเจนว่าจุดตั้งต้นมาจากใครกันแน่
เรื่องนี้คนแวดวงการเมืองย่อมได้กลิ่น ดูกันออกว่าเป็นการพลิกเกมเพื่อแก้วิกฤตคะแนนนิยมต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ได้ฟังบทสัมภาษณ์ของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยิ่งทำให้เห็นชัดว่ารู้แกวอีกฝ่ายเป็นอย่างดี จึงรีบทักท้วงว่ากฎหมายนิรโทษกรรมเคยสร้างปัญหารัฐบาลในอดีตมาแล้ว มีคนต้านเป็นล้านทั้งที่ก็รู้อยู่แก่ใจว่า ใครเป็นแกนหลักและนำไปสู่ปลายทางอย่างไร ผิดกับวิษณุที่บอกว่า “ต้องฟังที่เขาพูดก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าความคิดคืออะไร ทำไปขนาดไหน ต้นซอย กลางซอย สุดซอย หรือเลยซอย” ขอคุยกันก่อน
ความจริงที่อยู่คู่การเมืองไทยมาโดยตลอด คือ อย่าเชื่อน้ำคำของนักเลือกตั้ง โดยเฉพาะเหล่าพวกชั่วโมงบินสูงทั้งหลายเป็นอันขาด เหมือนอย่างกรณี สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคเก่าแก่ที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า “ถูกเชิญ” ให้ไปร่วมพรรคภูมิใจไทยจาก อนุทิน ชาญวีรกูล จริงแต่ปฏิเสธไป แต่เสี่ยหนูกลับบอกว่า ไม่เคยมีการจีบใด ๆ ทั้งสิ้น นักข่าวเห็นทำงานที่กระทรวงสาธารณสุขด้วยกันอย่างดีจึงคิดไปเอง นี่แหละลิ้นนักการเมือง นั่นจึงทำให้สิ่งที่อนุทินเคยพูดไว้ก่อนหน้าไม่มีทางที่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยหลังเลือกตั้งครั้งหน้า ใครเชื่อก็บ้าเต็มที