หวั่น ‘ผู้ร้าย’ จะลอยนวล

กรณีการซื้อขายผิดปกติในหุ้น “MORE” มันคือการปล้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครับ เป้าหมายใหญ่การโจมตีคือ การปล้นโบรกเกอร์


กรณีการซื้อขายผิดปกติในหุ้น “มอร์ รีเทิร์น” หรือชื่อย่อว่าMORE” มันคือการปล้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครับ เป้าหมายใหญ่การโจมตีคือ การปล้นโบรกเกอร์ หรือบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์

อันไม่เคยปรากฏพบเห็นมาก่อน

เหตุเกิดเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 10 ก.ย. 65 ช่วงตลาดเปิดซื้อขาย ATO โดยฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขายกลายเป็นพวกเดียวกันเอง ที่ส่งออเดอร์ซื้อกับออเดอร์ขายจำนวนเท่ากันเป๊ะที่ 1,500 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 2.90 บาท คิดเป็นจำนวนเงินถึง 4,350 ล้านบาท

แค่ช่วงจับคู่แมทชิ่ง ก็ทำวอลุ่มสูงถึง 4,350 ล้านบาท จากนั้น 20 นาทีหลังเปิดตลาด ราคาหุ้นรูดฟลอร์ และซื้อขายผันผวนทั้งวัน ทำยอดมูลค่าซื้อขายมากถึง 7,142 ล้านบาท จากข้อมูลซื้อขายย้อนเฉลี่ย 30 วันก่อนหน้านี้แค่วันละ 360 ล้านบาทเท่านั้น

จากการตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า ช่วงจับคู่แมทชิ่งนั้น เกิดจากฝ่ายผู้ซื้อรายเดียว แต่ฝั่งผู้ขายมากกว่า 20 ราย ออเดอร์ขายแต่ละรายในระหว่าง 70-600 ล้านหุ้น ผ่านโบรกเกอร์ไม่ถึง 10 ราย

เด็กหนุ่มใจถึงที่ปั่นคำสั่งซื้อทุกราคาแบบ “10 รุม 1” รายนี้ก็คือนายอภิมุข บำรุงวงศ์ ผู้มีรสนิยมขับขี่รถสปอร์ต เคยเป็นอดีตคนในวงการหลักทรัพย์ที่มีชื่อเสียงในทาง “ทำหุ้น” ให้กับขาใหญ่หลายต่อหลายรายมาแล้ว

แต่คราวนี้ “เบ็ตสูง” ไม่รู้ว่ามึนกับคำสั่งขายทั้งขาจร-ขาประจำ ที่ดาหน้าเข้ามาไม่หยุดยั้ง หรือตัดสินใจแล้วจะยอมเป็น “แพะบูชายันต์” พลีชีพให้เจ้าบุญนายคุณหรืออย่างไรก็ไม่ทราบได้

เลยรับออเดอร์ขาย 4.35 พันล้านบาทมาเต็มคาราเบล และก็ “ดีฟอลต์” ไปตามระเบียบ

คนจ่ายหนี้แทน คือโบรกเกอร์ฝั่งผู้ซื้อตามกฎ T+2 ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งปรากฏ “ผู้เสียหาย” เป็นโบรกเกอร์ที่มาร้องทุกข์ถึง 11 ราย

ความเสียหาย อยู่ในระดับ 1 พันกว่าล้าน-3 ร้อยกว่าล้าน ก็คงจะต้องไปตามไล่เบี้ยเอากับ “เสี่ยปิงปอง” และหรือผู้อยู่เบื้องหลังในทางลับไม่ว่าจะเป็น “เสี่ยม.” หรือ “เสี่ยค.” กันเอาเอง

แต่ผมก็ยังหวั่นใจอยู่ลึก ๆ ว่า อุบัติการณ์ “ปล้นโบรกเกอร์” รายนี้ อาจจะเป็น “มวยล้ม ต้มคนดู” ที่ “คนร้าย” อาจหลุดรอดลอยนวลไปได้

และ “ประชาคมตลาดทุนไทย” อันมีผู้เกี่ยวข้องทั้งตลท. ก.ล.ต. บริษัทจดทะเบียน และนักลงทุน ก็ไม่อาจได้รับบทเรียนอะไรเลย เพื่อการป้องกันความเสียหายและปกป้องประชาคมของตนให้เป็นที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้

ข้อน่าสงสัยเคลือบแคลงของผมในประเด็นที่หนึ่งก็คือ ตลท.หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปเรียก “คนนอก” อาทิกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปอศ.ตำรวจปราบปรามอาชญากรทางเศรษฐกิจ หรือปอท.ตำรวจปราบปรามความผิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีมาทำไม?

มาให้ความร่วมมือทำคดีหรือมาเป็นเจ้าของคดีร่วม

ทำไมไม่ใช้บริการก.ล.ต.ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพ.ร.บ.หลักทรัพย์ มีอำนาจในการตรวจสอบทรานแซคชั่นของผู้เกี่ยวข้องโยงใย และมีอำนาจกระทั่งดำเนินการฟ้องร้องเอง

ข้อเคลือบแคลงประเด็นที่ 2 ก็คือ จะมีหน่วยงานใด รู้จักและเข้าใจพ.ร.บ.หลักทรัพย์ได้ดีกว่าหน่วยงานตลท.และ ก.ล.ต.ละหรือ ถึงตั้งท่าทำคดีโดยใช้บริการ “คนนอก” กัน

ขอบอกตามตรงว่า “ไม่ไว้ใจ” หน่วยงานคนนอก เพราะได้เห็นการ “เป่าคดี” กันมานักต่อนักแล้ว เมื่อก.ล.ต.ปล่อยคดีไปให้หน่วยงานคนนอกดำเนินการ

งานนี้หลักฐานชัดเจนมาก ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลท.ก็แถลงข่าวเสียงดังฟังชัดเองว่า ดูการซื้อขายพวกเดียวกันเองทั้งฝั่งซื้อ-ฝั่งขายช่วง ATO ที่ใจตรงกันตั้ง 4 พันกว่าล้านบาท ก็รู้แล้วว่าเป็นการซื้อขายที่ผิดปกติ

ก็สืบจากการซื้อขายช่วงเวลาพิเศษช่วงนี้ไปสิครับ มันชัดเจนทั้งห้วงเวลาอีกทั้งบอกชื่อคนซื้อ-คนขายตัวเป็น ๆ ไว้ เสร็จสรรพให้สามารถสืบค้นทรานแซคชั่นต่อไปได้นี่…เดี๋ยวก็เจอต้นตอและความสัมพันธ์ของใครต่อใครเอง

ไม่เข้าใจและเคลือบแคลงตลท.และก.ล.ต.ทำอะไรกัน

Back to top button