พาราสาวะถี
รูดม่านปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยกับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ถามว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้
รูดม่านปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยกับการเป็นเจ้าภาพประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ถามว่าประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ คงเป็นเรื่องที่ประชุมผู้นำเอเปค ได้รับรองเอกสารสำคัญ 2 ฉบับ ซึ่งเป็นผลจากการประชุมตลอดปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ประกอบด้วย ปฏิญญาเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญที่ที่ประชุมสามารถออกปฏิญญาร่วมกันได้
ปฏิญญาเขตเศรษฐกิจเอเปคนั้นมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ คือ การระบุถึงสงครามยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผู้นำเอเปคได้เน้นย้ำจุดยืนที่แสดงในเวทีอื่น ๆ ที่สมาชิกส่วนใหญ่ประณามอย่างรุนแรงและเน้นย้ำว่าทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมากต่อผู้คน และทำให้เศรษฐกิจโลกที่เปราะบางอยู่แล้วเลวร้ายลงมากขึ้น ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงานและอาหาร และเพิ่มความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมตระหนักว่าเอเปคไม่ใช่เวทีสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคง และรับทราบว่าปัญหาด้านความมั่นคงอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ผู้นำเอเปคยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศและองค์การการค้าโลก ที่จะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความเติบโต และบรรเทาความยากจน และยืนยันความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมด้านการค้าการลงทุนที่เสรี ยุติธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และคาดการณ์ได้ และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและเสริมสร้างระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดตามกฎการค้าระหว่างประเทศ
สิ่งสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ การพูดถึงความคืบหน้าในเรื่องการจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก หรือ FTAAP ในปีนี้ที่มีการกลับมาพูดคุยกันใหม่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะยังคงรักษาพลวัตต่อไปเพื่อไปสู่การทำงานที่มีคุณภาพและครอบคลุม โดยมอบหมายให้มีการรายงานความคืบหน้าในปีต่อ ๆ ไป ให้ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปครับทราบ และจะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งรวมถึงสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค หรือ ABAC ในการพัฒนาการทำงานภายใต้โครงการ FTAAP Work
นอกจากนี้ ผู้นำเอเปคยังให้ความสำคัญกับการบรรลุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อการเติบโตที่มีความครอบคลุม ยั่งยืน เป็นมิตรกับนวัตกรรม และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับธุรกิจทุกประเภท โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ MSMEs และธุรกิจสตาร์ตอัพ รวมทั้งตระหนักถึงความเร่งด่วนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง และบริการอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ในที่ประชุมมีการพูดถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืน การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลักดันการเติบโตที่ทั่วถึงและยั่งยืน รวมถึงตระหนักถึงพลังของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคทางการค้า เพื่อปลดล็อกให้เกิดการเติบโตแบบทวีคูณ ทั้งนี้ ผู้นำเอเปคยังประกาศความมุ่งมั่นในการเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายในปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพอากาศสุดขั้ว และภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานที่ยั่งยืน
ส่วนเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจของไทยขอแรงสนับสนุนจากที่ประชุมผู้นำเอเปคให้การรับรองนั้น ถูกระบุว่า เป็นการทำงานที่ครอบคลุมเพื่อต่อยอดเป้าหมายด้านความยั่งยืนของเอเปค โดยจะมีการพัฒนาเป้าหมายกรุงเทพฯ ไปสู่การดำเนินการที่ชัดเจน ตอบสนอง และครอบคลุม ทั้งยังยินดีต่อการเปิดตัวรางวัล APEC BCG Award ในปีนี้ เพื่อยกย่องความสำเร็จของความยั่งยืนในภูมิภาค
เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจีนั้น ผู้นำเอเปคยังประกาศว่าจะระดมทรัพยากรอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเร่งรัดและกระชับงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาการเกษตร และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรวมถึง MSMEs และผู้หญิง ให้เข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากมัน พร้อมกับเน้นย้ำถึงอันตรายจากการทุจริตคอรัปชัน
บทสรุปส่งท้ายกับการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยนั้น ผู้นำเอเปคยินดีกับผลการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในปี 2565 รวมถึงการประชุมรัฐมนตรีรายสาขาต่าง ๆ พร้อมขอบคุณประเทศไทยสำหรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 และตั้งตารอการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 ของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็แสดงความยินดีที่เปรูและเกาหลีใต้จะรับเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ แต่สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ หมดภารกิจสำคัญแล้วก็จะเข้าสู่โหมดความจริงของชีวิตตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการเมือง
เรื่องสำคัญคือจะสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ จากกระแสข่าวเดิมที่บอกว่าวันนี้ (21 พ.ย.) ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะดำเนินการในเรื่องดังว่า จนมาโค้งสุดท้ายที่พบว่าที่ปรึกษาแตะเบรกเอาไว้ เพื่อไม่ให้ภาพลักษณ์เสียหาย ไม่อยากให้ท่านผู้นำเข้าไปเป็นนักการเมืองเต็มตัว ถ้าเลือกทางเดินแบบนี้ คำถามการเมืองที่จะถูกรุกไล่ต่อมาก็คือ จะมีการปรับ ครม.หรือไม่ รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาลประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย จะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องยุบสภาหรือเปล่า
จับอาการล่าสุดของ อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ชัดเจนว่า ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งถึงขั้นประกาศว่า ถ้า พ.ร.บ.กัญชาฯ ไม่ผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ประชาชนรู้ไว้ “เป็นเรื่องการเมือง” ซึ่งคนทั่วไปก็รู้กันอยู่แล้วว่ามันเป็นแบบนั้น แต่ความหมายของเสี่ยหนูต้องอธิบายให้ชัดเป็นการเมืองแบบไหน เป็นเรื่องการช่วงชิงฐานเสียงสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เจาะจงเฉพาะบางพื้นที่ที่ต้องห้ำหั่นกันเองของภูมิใจไทย พรรคเก่าแก่และพรรคสืบทอดอำนาจหรือไม่ ถ้าเช่นนั้นมันก็เป็นเรื่องกงเกวียนกำเกวียนที่เกิดจากการดูด ส.ส.กันไปมานั่นเอง