BAFS กำไรโดดเด่น
และแล้วโมเดลธุรกิจของ BAFS ที่มีคู่แข่งในตลาดน้อยราย อย่างธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานของไทย ปัจจุบันมีการให้บริการครอบคลุม 5 สนามบินหลักทั่วประเทศด้วยกัน อาทิ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง สมุย สุโขทัย และตราด คงมีเสน่ห์ในส่วนของผลประกอบการที่จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นตลอดกาล
และแล้วโมเดลธุรกิจของ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ที่มีคู่แข่งในตลาดน้อยราย อย่างธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยานของไทย ปัจจุบันมีการให้บริการครอบคลุม 5 สนามบินหลักทั่วประเทศด้วยกัน อาทิ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง สมุย สุโขทัย และตราด คงมีเสน่ห์ในส่วนของผลประกอบการที่จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นตลอดกาล
การที่บริษัทรับจ้างบริการเติมน้ำมันให้กับบริษัทน้ำมันเท่านั้นจึงทำให้ไม่ได้รับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลกที่เกิดขึ้น นอกจากนี้บริษัทก็ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตามอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบิน
ในระหว่างนี้ ช่วงไตรมาส 4 ถือเป็นช่วง High Season ในฤดูท่องเที่ยว ทั้งนี้ อย่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะมีสายการบินให้บริการรวมทั้งสิ้น 124 สายการบิน แบ่งเป็นสายการบินประจำขนส่งผู้โดยสารและสินค้า 96 สายการบิน สายการบินขนส่งเฉพาะสินค้า (Cargo) 9 สายการบิน และสายการบินร่วม (Code Share) 19 สายการบิน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับตารางการบินช่วงฤดูร้อนมีสายการบินให้บริการเพิ่มขึ้น 6 สายการบิน ซึ่งผลดังกล่าวส่งผลให้มีปริมาณเที่ยวบินเพิ่มขึ้น
ผลที่ตามมา คือนักวิเคราะห์มองว่า กำไรสุทธิในไตรมาส 4 ปี 58 จะยังเติบโตได้โดดเด่นกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลักดันให้ทั้งปี 58 เติบโตกลับสู่ระดับ 1,021 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 815.82 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 701.08 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 268.33 ล้านบาท หรือ 0.42 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 182.94 ล้านบาท หรือ 0.29 บาทต่อหุ้น เหตุจากบริษัทยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของภาวะการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันอากาศยานที่กลุ่มบริษัทให้บริการ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้และกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง
ส่วนผลการดำเนินงานงวดเก้าเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558 บริษัทมีรายได้รวมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 2,473.05 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน 2,220.60 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขยับขึ้นมาอยู่ที่ 789.86 ล้านบาท หรือ 1.24 บาทต่อหุ้น จากงวดเดียวกันของปีก่อน 603.58 ล้านบาท หรือ 0.95 บาทต่อหุ้น เป็นการตอกย้ำว่าบริษัททำผลงานได้อย่างดีเยี่ยมจริง
เมื่อวิเคราะห์ฐานะทางการเงินเพื่อเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจในการลงทุน เห็นได้ว่าฐานะทางการเงินของบริษัทยังคงดูดี เพราะบริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนมากถึง 1,819.83 ล้านบาท ขณะที่มีหนี้สินหมุนเวียนเพียง 597.33 ล้านบาท และเมื่อนำมาเปรียบเทียบค่า CURRENT RATIO ได้ที่ระดับ 3.05 เท่า แสดงว่า บริษัทยังมีความคล่องตัวทางการเงินมากเกินความจำเป็น ซึ่งอาจจะเกิดทุนจมจึงต้องขยายกิจการ
ส่วนปัญหาหนี้สินของบริษัทไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะเมื่อนำหนี้สินรวมที่มีอยู่ 2,767.54 ล้านบาท มาเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับ 5,559.17 ล้านบาท ได้ค่า D/E อยู่ที่ระดับ 0.50 เท่า แสดงว่า บริษัทไม่มีหนี้สินใดๆ มารบกวนต่อการดำเนินงานในอนาคต
ในขณะที่นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี มองว่า BAFS ที่มีตำแหน่งทางการตลาดกึ่งผูกขาดในสนามบิน ขณะที่บริษัทไม่มีความเสี่ยงกับความผันผวนของราคาน้ำมัน อีกทั้งแนวโน้มผลประกอบการที่จะเติบโตได้อย่างโดดเด่นตลอดทั้งปี ขณะที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีข้างหน้า จึงแนะนำ “ซื้อ” ให้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 32 บาท
…
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่
1.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 143,983,125 หุ้น 22.59%
2.บริษัท เอสโซ่ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 45,000,000 หุ้น 7.06%
3.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 45,000,000 หุ้น 7.06%
4.บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด 45,000,000 หุ้น 7.06%
5.บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด 45,000,000 หุ้น 7.06%
รายชื่อกรรมการ
1.นายพลากร สุวรรณรัฐ ประธานกรรมการบริษัท
2.นายพลากร สุวรรณรัฐ กรรมการอิสระ
3.ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร
4. ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล กรรมการ
5. นายประกอบเกียรติ นินนาท กรรมการผู้จัดการ