พาราสาวะถี
เป็นคำตอบที่น่าจะช่วยยืนยันกระแสข่าวที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ได้เข้าพบกล่าวลาพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เรียบร้อยแล้ว
เป็นคำตอบที่น่าจะช่วยยืนยันกระแสข่าวที่ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ได้เข้าพบกล่าวลาพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.เรียบร้อยแล้ว เพื่อแยกทางเดินทางการเมืองไปเข้าร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ หลังถูกถามยังไม่ส่งใบสมัครเป็นสมาชิกพรรคดังกล่าวใช่หรือไม่ แม้ไม่ยืนยันแต่ก็บอกว่า “พิจารณาอยู่” สุดท้ายจะเป็นการรวมกันตีหลังเลือกตั้งหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่บรรดากองเชียร์ขบวนการสืบทอดอำนาจมองไม่ออกว่า ทิศทางการเมืองเช่นนี้มันจะมีผลกระทบต่อฝ่ายตรงข้าม อันหมายถึงพรรคเพื่อไทยอย่างไร เพราะท้ายที่สุด ส.ส.ที่จะย้ายคอกไปอยู่กับท่านผู้นำที่พรรคใหม่ก็มาจากพรรคสืบทอดอำนาจเป็นหลักนั่นเอง
ที่จะมาเสริมจากพรรคอื่นส่วนใหญ่จะเป็นค่ายประชาธิปัตย์เสียมากกว่า ดังนั้น เมื่อยังคงใช้ฐานเสียงเดิม เปลี่ยนแค่สีเสื้อ มันจึงไม่ได้มีผลต่อการจะไปสกัดกั้นแนวทางแลนด์สไลด์ของคู่แข่งสำคัญ มิหนำซ้ำ ยังเป็นการเตะตัดขาในพวกเดียวกันอีกต่างหาก หรือว่าทั้งพี่ใหญ่และน้องเล็กต่างก็ไม่แคร์ว่าใครจะได้รับผลกระทบขอเพียงให้ได้ ส.ส.ในจำนวนที่ต้องการเพื่อจะจับมือกันผนวกเข้ากับพรรคที่พร้อมจะเป็นลมใต้ปีกให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจได้อยู่ยาวอยู่แล้วอย่างภูมิใจไทยเท่านั้นก็พอ
อย่างไรเสียการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็มี 250 เสียง ส.ว.ลากตั้งเป็นต้นทุนอยู่แล้ว จะว่าไปการที่พี่ใหญ่จะเสีย ส.ส.ส่วนหนึ่งไปให้น้องเล็กและน้องรอง ก็ยังมีส่วนที่จะมาเติมคือทีมงานของ ธรรมนัส พรหมเผ่า บวกลบคูณหารแล้ว จำนวนอาจไม่เท่าเดิม แต่อย่างน้อยก็ถือเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มีโอกาสมากว่าหลังเลือกตั้งจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้กลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม โดยเฉพาะบรรดา ส.ส.จากกำแพงเพชรที่มี ไผ่ ลิกค์ เป็นแกนหลัก คาดหมายว่าจะได้รับการเลือกแบบยกจังหวัด
ส่วนคนที่จะไปอยู่กับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นคือ สุชาติ ชมกลิ่น ที่ถือเป็นสายตรงบวกกับปัญหาความไม่ลงรอยกับบ้านใหญ่ชลบุรี ยังไงก็ต้องย้ายพรรคแน่ ก็จะหอบหิ้ว ส.ส.ในสังกัด 10 กว่ารายตามไปด้วย เช่นเดียวกันกับ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่มีเก้าอี้ ส.ส.สิงห์บุรีเป็นตัวหนุนนำไปด้วย ไม่ต่างกับ ส.ส.ภาคใต้ของพรรคสืบทอดอำนาจที่มีอยู่จำนวน 18 ราย เกินกึ่งหนึ่งจะหนีตามน้องเล็กเพราะกระแสในพื้นที่ยังเชื่อมั่นในตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ
ที่ต้องจับตากันเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นกลุ่มสามมิตรของ 3 เกลอ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน และ อนุชา นาคาศัย รวมทั้ง สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคซึ่งมี ส.ส.เพชรบูรณ์เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการต่อรองเพื่อที่จะตัดสินใจว่าพลังดูดฝ่ายไหนจูงใจได้ดีกว่ากัน แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าด้วยฐานะแม่บ้านพรรค ยังคงจะปักหลักอยู่กับพรรคเดิมต่อไป แต่ถ้านำเอาความเคลื่อนไหวของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ลงพื้นที่เมืองมะขามหวานถี่ยิบ ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแน่นอน
ขณะที่กลุ่มสามมิตรเมื่อสัมผัสจากปฏิกิริยาและบทสัมภาษณ์ของสมศักดิ์ล่าสุด ที่อ้างว่าเวลานี้ข้อมูลที่มีมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ มันหมายความว่าอย่างไร สิ่งที่ชัดเจนขึ้นคือกลุ่มธรรมนัสจะกลับมาจึงเป็นตัวเร่งให้สามมิตรต้องตัดสินใจย้ายพรรคอย่างนั้นหรือ ในฐานะที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาต่อกันมาโดยตลอด หรือก่อนหน้านั้นมีข้อมูลว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะไม่ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ พอไม่ใช่จึงต้องทบทวนกันใหม่ และมีแนวโน้มว่าจะไปอยู่กับท่านผู้นำ
ประเด็นที่ว่าจะกลับบ้านหลังเก่าอย่างเพื่อไทย คงเป็นทางเลือกสุดท้าย เรื่องระดับนำของพรรคพอที่จะพูดคุยกันได้ แต่ปัญหาพื้นที่เลือกตั้งที่ต่างฝ่ายต่างก็มีเด็กในคาถาเตรียมตัวลงสมัครแล้ว เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้การย้ายขั้วเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จำเป็นต้องเลือกไปอยู่กับพรรคที่คิดว่ามีโอกาสที่จะชนะหรืออย่างน้อยก็ได้รับแรงสนับสนุนที่เป็นปัจจัยให้คนในความดูแลอยู่สบายดีกว่า ทางด้านของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ก็ชัดเจนเช่นกันที่ได้ยกหูหาหลังน้องเล็กเข้ากล่าวลาถามบรรดาแกนนำกลุ่มต่าง ๆ จะอยู่กับพรรคต่อไปหรือไม่
แต่อย่างที่บอกไม่ว่ากลุ่มไหนจะขยับกันอย่างไร พรรคที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าใครเพื่อนต่อการตัดสินใจของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้นก็คือประชาธิปัตย์ เพราะจะมี ส.ส.ในภาคใต้และอดีต ส.ส.ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ที่เป็นตัวเต็งในพื้นที่ กทม.ย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย ค่อนข้างจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า คนวางแผนเคลื่อนเกมทางการเมืองสำคัญของพรรคผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจนั้น จะใช้บริการของ สุเทพ เทือกสุบรรณ โดยมีบรรดาแกนนำที่ไขก๊อกมาจากพรรคเก่าแก่เป็นคณะทำงานหลัก
อย่างไรก็ตาม การเก็บอาการของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจที่ยังไม่ยอมตอบคำถามถึงเรื่องความชัดเจนทางการเมืองนั้น คงจะรอดูผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องสำคัญคือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่นัดชี้ชะตาวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ เพราะจะเป็นร่างกฎหมายที่มีผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ส่วนร่างกฎหมายพรรคการเมืองหลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้พรรคการเมืองทำงานง่ายขึ้นทั้งการหาสมาชิกและการเลือกผู้สมัคร ส.ส.
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะบรรดานักเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างแสดงความเป็นห่วงเรื่องร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แม้กระทั่ง วิษณุ เครืองาม ก็กังวลเรื่องนี้เหมือนกัน นั่นเป็นเพราะถ้าถูกตีตกจะเป็นโจทย์สำคัญว่า แล้ว กกต.จะใช้กฎหมายอะไรเป็นเครื่องมือในการจัดการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลและพรรคการเมืองไร้เล่ห์เหลี่ยมก็สามารถที่จะยกร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อให้พิจารณาทันกรอบเวลาก่อนสภาครบวาระได้
เพราะการจะไปใช้ช่องทางอื่น คือ ให้ ครม.ออกเป็นพระราชกำหนด หรือให้ กกต.ออกเป็นประกาศคำสั่งเพื่อจัดการเลือกตั้ง ก็ดูท่าว่าน่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ไม่ว่าจะดำเนินการแบบไหน การเลือกตั้งก็จะต้องเป็นไปในรูปแบบบัตร 2 ใบ เพราะรัฐธรรมนูญได้มีการแก้ไขและบังคับใช้ไปแล้ว และไม่ว่าจะเป็นยุบสภาหรืออยู่ครบวาระเลือกตั้งก็จะต้องเกิดขึ้นไม่มียืดเยื้อ เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เช่นกัน อยู่ครบวาระต้องเลือกตั้งใหม่ไม่เกิน 45 วัน ยุบสภาต้องเลือกตั้งใหม่ในกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 45 แต่ไม่เกิน 60 วัน