บอลโลกที่ไม่เหมือนเดิม
การเข้าไปแบ่งเค้กจากผลประโยชน์และอำนาจเหนือโลกของฟีฟ่าของชาติที่เคยถูกมองว่าเป็นลูกไล่หรืออาณานิคมอย่างชาติในเอเชีย อาจจะไม่ง่ายดาย
การแข่งขันฟุตบอลโลกเริ่มมาได้ 5 วันแล้วที่ประเทศกาตาร์มีประเด็นให้ต้องพูดถึงทุกวัน นับตั้งแต่ทีมชาติอิหร่านที่ขึ้นชื่อว่าเหนียวแน่นในเกมรับมากมาย ถูกอังกฤษถล่มยับแบบไส้พัง 6-2 ตามมาด้วยมหาอำนาจเก่าแก่อย่างอาร์เจนตินาที่นำโดยนักฟุตบอลที่เก่งสุดของโลกอย่างลีโอเนล เมสซี่ต้องพ่ายอย่างขาวสะอาดให้กับทีมซาอุดีอาระเบีย และทีมชาติญี่ปุ่นที่เอาชนะทีมชาติเยอรมนีที่เคยเป็นต้นแบบอย่างเหลือเชื่อและสะอาดงดงาม
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยามนี้ ตรงกับคำแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ที่เรียกว่าฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ หรือฤดูใบไม้ร่วงของประชาชาติทีเดียว
คำว่าฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติใช้สำหรับหลังการลุกฮือของพลังคนหนุ่มสาวในยุโรปที่มีมานับตั้งแต่การปฏิวัติที่แผ่ขยายจากการลุกฮือในปี ค.ศ.1848 ที่ฝรั่งเศสแล้วลุกลามไปทั่วยุโรป ที่ทำให้เกิดการรวมชาติครั้งใหม่ที่ไม่ขึ้นกับศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นกำเนิดของรัฐประชาชาติที่ถือว่าเป็น ชุมชนในจินตนาการหรือ imagined community
ผลพวงตามมาของยุคสมัยดังกล่าวที่มาถึงการล่มสลายของจักรวรรดิรัสเซียใต้ราชวงศ์โรมานอฟ มาเป็นรัฐแบบใหม่ที่เรียกว่ารัฐสังคมนิยมโซเวียต ตามแบบมาร์กซ์-เลนิน
ส่วนคำว่าฤดูใบไม้ร่วงของประชาชาติเรียกยุคสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนอย่างพรรคลาวด๋องของเวียดนามถูกพวกเขมรแดงภายใต้การนำของพล พตที่นำเอาลัทธิชาตินิยมคับแคบมาผสมกับแนวคิดสากลนิยมของลัทธิมาร์กซ์ตีตัวจากกัน แล้วทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทยและมลายูต้องล่มสลายลง การลุกขึ้นต้านทางพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ โดยกรรมกรเมืองกดั๊งส (หรือฉนวนดานซิกเดิม) ที่นำโดยเลก วาเลซ่า ถึงจุดสำคัญสุดนั่นคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและข้อตกลงวอร์ซอหรือม่านเหล็กใต้ยุคอำนาจของโซเวียต
หลังจากนั้นนักคิดซ้ายกลายเป็นขวาจัดของอเมริกาชื่อฟรานซิส ฟูกูยามะ จึงออกคำประกาศยืนยันชัยชนะของทุนนิยมเหนือสังคมนิยมว่าเป็น “จุดจบของประวัติศาสตร์”
แล้วก็มีนักคิดขวาจัดอีกคนหนึ่งของอเมริกาอย่างซามูเอล ฮันติงตัน ออกมาประกาศสงครามครูเสดว่าศัตรูในอนาคตที่แท้จริงของโลกตะวันตกและประชาธิปไตยคืออารยธรรมอิสลาม ในข้อเสนออันโด่งดังที่เรียกว่า ความปริร้าวของอารยธรรมหรือ The crash of civilizations
แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่า บทสรุปเรื่องฤดูใบไม้ร่วงของประชาชาติ เป็นจริงหรือไม่ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฟุตบอลโลกคราวนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าข้อสรุปของ “ฤดูใบไม้ร่วง” ดังกล่าวมีเค้าลางบางประการชัดเจน
หลายทศวรรษมาแล้วที่ชาติจากแอฟริกา ได้ประกาศศักดาขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่ทีมชาติในยุโรปและเมริกาใต้อย่างเต็มภาคภูมิในขณะที่ชาติเอเชียก็กำลังเร่งพัฒนาศักยภาพของชาติตนเองขึ้นมาอย่างเอาจริงเอาจัง
เริ่มจากเกาหลีใต้ที่ขยันสร้างความแข็งแกร่งจนเป็นที่ยอมรับในพลังโสม ตามมาด้วยทีมฟุตบอลจากซาอุดีอาระเบียที่มีปรัชญาและรูปแบบการเล่นของตนเอง ก่อนมาถึงอิหร่าน และญี่ปุ่นที่ยกระดับจากชาติต้นแบบของตนเองมาเป็นรูปแบบเฉพาะตัว… …แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลต่อการแข่งขันหรือปรัชญาการแข่งขันได้
ชัยชนะของซาอุดีอาระเบียเหนือมหาอำนาจอย่างอาร์เจนตินา และญี่ปุ่นเหนือพี่ใหญ่อย่างเยอรมนี ก็สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ชาติในเอเชียอย่างเวียดนาม และไทยได้ดีว่าสามารถที่จะฝันถึง “ฤดูใบไม้ผลิของประชาชาติในฟุตบอล” ได้ เพราะชาติในยุโรปก็สามารถเผชิญกับภาวะ “ฤดูใบไม้ร่วง” ได้เช่นกัน
อย่างน้อยนี้คือการแผ้วถางทางให้กับมหาอำนาจที่ขยันนอนหลับอย่างอินเดียและจีนที่หากตื่นจากหลับไหลเมื่อใดก็สามารถพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินคืนได้
การเข้าไปแบ่งเค้กจากผลประโยชน์และอำนาจเหนือโลกของฟีฟ่าของชาติที่เคยถูกมองว่าเป็นลูกไล่หรืออาณานิคมอย่างชาติในเอเชีย อาจจะไม่ง่ายดายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปากนัก แต่เวลาที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปได้ หากไม่สิ้นความหวังเสียก่อน