ตั้งรับ 3 ปัจจัย ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยปีหน้า
เหลืออีกแค่เดือนกว่า ๆ ก็จะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 66 แน่นอนว่าประเทศไทยคงต้องฟันฝ่าสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่จะถาโถมเข้าใส่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เส้นทางนักลงทุน
เหลืออีกแค่เดือนกว่า ๆ ก็จะก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปี 2566 แน่นอนว่าประเทศไทยคงต้องฟันฝ่าสารพัดปัจจัยเสี่ยงที่จะถาโถมเข้าใส่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดั่งเช่นปีนี้ ดังนั้นความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ประเมินอัตราขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าที่ 3.5% มีกรอบระหว่าง 3-4% ต่อปี
แต่การเติบโตระดับนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ อยู่ภายใต้ปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและนอกประเทศ 3 เรื่องใหญ่ที่จะต้องติดตาม คือ
1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดเงิน-ตลาดทุน รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 2.ภาวะหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจอยู่ในระดับสูง และ 3.การกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่าอาจจะรุนแรงระลอกใหม่
มุมมองของสภาพัฒน์นี้สอดคล้องกับศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่เห็นว่าเศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น
ทั้งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบายเศรษฐกิจ และภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง เป็นแรงกดดันสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งออกที่จะชะลอตัวลงมากจากที่เคยเติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา
โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนที่เศรษฐกิจกำลังเผชิญปัญหาหลายมิติ รวมถึงตลาดสำคัญในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ปลายปีนี้และกลางปีหน้า ส่งผลต่อเนื่องทำให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนอาจขยายตัวชะลอลงเช่นเดียวกัน
ขณะที่ ความช่วยเหลือจากทางภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีน้อยลง เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลังทำให้รัฐบาลระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ปรับสูงขึ้นดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวและบริการซึ่งจะเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยก็ยังต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน เช่น ความไม่แน่นอนของจีนในการผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID อาจใช้เวลานานกว่าคาด
ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยน้อยลงและช้าลง รวมถึงอาจทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกคลี่คลายช้าลง ภาวะเงินเฟ้อสูงในประเทศอาจยาวนานกว่าคาดจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง
การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยในช่วงต้นปี 2566
สภาพัฒน์ ชี้ว่า ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมรับมือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยควรดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อย ทั้งในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้ตรงจุดเหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย
ให้ความสำคัญกับการแก้ไขภาระหนี้เดิมและการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการจัดการหนี้นอกระบบ เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้และไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและเศรษฐกิจในระยะยาว
นอกจากนี้ ต้องดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ตลอดจนเร่งรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจชัดเจน และสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ
สภาพัฒน์เห็นว่าประเทศไทยควรเร่งแก้ปัญหาและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยวให้เหมาะสมและเพียงพอรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น สนามบิน และส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง ยกระดับและฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน
ในส่วนของธุรกิจเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ไม่น้อยกว่า 93% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 70% ของงบประมาณทั้งหมด และการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง
ในปี 2566 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยอีกปีหนึ่ง การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
รวมถึงการติดตาม เฝ้าระวังปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง
ตลอดจนการติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดและการกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่น เพื่อเตรียมการป้องกันได้อย่างทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง