พาราสาวะถี

เป็นการหลุดหรือเจตนาสื่อสารเพื่อที่จะให้อีกฝ่ายเร่งประกาศความชัดเจนทางการเมือง กับการที่นักข่าวถามพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ถึงกรณี ส.ส.พรรคสืบทอดอำนาจ


เป็นการหลุดหรือเจตนาสื่อสารเพื่อที่จะให้อีกฝ่ายเร่งประกาศความชัดเจนทางการเมือง กับการที่นักข่าวถามพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ถึงกรณี ส.ส.พรรคสืบทอดอำนาจจะย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเตรียมตัวจะเป็นสมาชิกพรรคกับคำตอบที่ว่า “อ๋อ เขาก็ไป ก็พรรคเดียวกันนั่นแหละ ไม่มีอะไรหรอก” พร้อม ๆ กับการพูดเหมือนเป็นการยืนยันเรื่องน้องเล็กที่จะไปสังกัดพรรคใหม่ ก็เป็นพี่เป็นน้องกัน ไม่มีอะไร “ท่านอยากไปอยู่นู่นก็ไป ผมไม่ว่าอะไร ผมไม่มีปัญหาอะไร”

เป็นการตอกย้ำอีกคำรบแม้ว่าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจยังยึกยัก ลีลา ล้านเปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติแน่ และจะกระโดดลงเล่นการเมืองแบบเต็มตัว ส่วนเรื่องแยกกันเดิมร่วมกันตีนั้นก็ถือเป็นปริศนาแต่ไม่น่าจะคาดเดาอะไรได้ยาก ทุกอย่างอยู่ที่ผลของการเลือกตั้ง รวมไปถึงกลไกหลังจากนี้ที่จะต้องดูว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปในลักษณะใด โดยต้องรอผลการวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ชะตาในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ด้วย

การอ่านจากท่วงทำนองของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจากการตัดสินใจลุยการเมืองเต็มตัว ทั้งที่รู้อยู่ว่าปลายทางหลังเลือกตั้งจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกแค่ 2 ปี ทำให้คิดกันต่อไปว่าหรือท้ายที่สุด ร่างกฎหมายเลือกตั้งจะจบเห่ที่คำชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นก็จะเข้าสู่โหมดวุ่นวายว่าด้วยกระบวนการของการให้มีกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญซึ่งได้มีการแก้ไขไปแล้วให้เลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ แต่จากจุดเล็กที่เป็นปัญหา อาจจะนำไปสู่การเล่นใหญ่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับกันเลยทีเดียว

เหตุผลเดียวที่จะทำให้องคาพยพของขบวนการสืบทอดอำนาจ ยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะด้วยวิธีการใดก็ตาม คือ การปลดล็อกเงื่อนไขห้ามเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี เพราะนี่ถือเป็นผลประโยชน์โดยตรงที่จะทำให้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ต้องมาติดกับดักที่พวกเดียวกันเองวางไว้ จะได้อยู่ยาวสมใจนึก ดังนั้น คำวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้จึงมีผลต่อมิติทางการเมืองอย่างยิ่ง ไม่โมฆะทุกอย่างก็เดินหน้าจะอยู่กันครบวาระหรือยุบสภาก็ไม่มีปัญหาอะไร

แต่หากร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโมฆะ ถ้าผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเลือกที่จะอยู่ยาวจนครบเทอม ก็พอจะมีช่องให้ฝ่ายนิติบัญญัติคิดอ่านเพื่อจะดำเนินการให้มีร่างกฎหมายในการจัดการเลือกตั้งได้ แม้ว่าจะเผชิญกับกลเกมของเนติบริกรศรีธนญชัยหรือนักกฎหมายขายตัวอย่างไรก็ตาม อย่างน้อยก็ได้ใช้ช่องทางที่ถูกต้องตามครรลอง ต่อให้ไม่ทันสมัยของสภาผู้แทนราษฎร ก็ยังทำให้ประชาชนได้เห็นว่ามีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการโดยผู้แทนประชาชน หรืออาจจะมีการเชิญตัวแทนภาคประชาชนให้มีส่วนร่วม

ถ้ามีการยุบสภาหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโมฆะ ก็จะเกิดเป็นคำถามตัวโตขึ้นมาทันที แม้จะมีความเห็นจากแวดวงนักกฎหมายก่อนหน้านี้ว่า ไม่ว่าจะยุบสภาหรืออยู่ครบวาระโดยไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้งก็จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดเงื่อนเวลาว่าด้วยการจัดการเลือกตั้งทั้งกรณียุบสภา และอยู่ครบวาระไว้ชัดเจน จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้เป็นอย่างอื่นไปได้

ต้องอย่าลืมว่าปาฏิหาริย์กฎหมาย หรือที่อดีตกุนซือของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.อย่าง ไพศาล พืชมงคล เรียกว่าไสยศาสตร์ทางกฎหมายนั้น นึกอยากจะทำอะไรก็ไม่แยแสว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร ถ้าเป้าหมายว่าให้อยู่ยาวแบบไม่ต้องนับเป็นวาระการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ก็หน้าทนอยู่กันไปก่อนแบบนี้ ในเมื่อฝ่ายที่จะชี้เป็นชี้ตายต่างก็เป็นผู้ที่ต้องตอบแทนบุญคุณกันทั้งสิ้น เรียกได้ว่าเป็นการใช้กฎหมายภายใต้กติกาของสิ่งที่ถูกเรียกว่ารัฐพันลึกนั่นเอง ฝ่ายกุมอำนาจทำอะไรก็ไม่ผิด

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นโมฆะ จึงโน้มเอียงใปในทิศทางที่ว่ากลับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นคือใช้ฉบับดั้งเดิม 2560 ก่อนที่จะแก้ไขกฎหมายลูกทั้งหมดไปก่อน จากนั้นค่อยมาแก้กันทั้งฉบับเพื่อปลดล็อกนายกฯ 8 ปี ส่วนอีก 3 แนวทาง คือ ให้สภาร่างกฎหมายลูกใหม่ไม่คิดว่าฝ่ายกุมอำนาจอยากทำ เว้นเสียแต่จะมีการร่างกฎหมายไว้รอแล้วและจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง ตรงนี้ก็จะใช้เสียงข้างมากลากไปในปลายสมัยของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่

แนวทางที่เหลืออีก 2 แนวทาง คือ มีการยุบสภาไปแล้วการออกกฎหมายไม่สามารถทำได้ ครม.ต้องออก พ.ร.ก.เพื่อเป็นกรอบให้ กกต.จัดการเลือกตั้งไปก่อน ซึ่งคงไม่มีการใช้แนวทางนี้ โดยฝ่ายกุมอำนาจจะอ้างว่าเกรงจะเกิดข้อครหาใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและคณะ อีกทางคือ กกต.ออกคำสั่ง ประกาศในการเลือกตั้ง ตรงนี้เปิดประตูตายทำนายไว้ล่วงหน้าได้เลย กกต.ชุดนี้ไม่ทำอย่างแน่นอน

บอกมาโดยตลอดว่าขบวนการสืบทอดอำนาจนั้นวางหมากกลไว้ซับซ้อน แม้บางอย่างจะเป็นการวางกับดักตัวเอง แต่เนติบริกรศรีธนญชัยทั้งหลายก็ช่วยกันหาทางออกเอาไม่สนใจว่ากลไกของกฎหมาย ความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมจะเป็นอย่างไร ดังนั้น กฎหมายว่าจะนำไปสู่การเลือกตั้งเมื่อพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองที่ผ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว และเห็นได้ว่าพรรคไหนได้ประโยชน์จากร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ มันจึงทำให้มีผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมาด้วย

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องติดตามคู่ขนานกันไปกับเรื่องกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาหลังคำวินิจฉัยถ้าชี้ว่าเป็นโมฆะ นั่นก็คือร่างกฎหมายกัญชา กัญชง ที่ ส.ส.พวกรอย้ายคอกเข้าสังกัดพรรคภูมิใจไทยขู่ฟ่อด ๆ หากถูกตีตกจะมี ส.ส.กว่า 30 คนลาออกนั้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งเกมที่สุดท้ายจะไปเข้าทางผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อหนทางที่จะนำไปสู่การยุบสภา โดยที่ไม่ต้องการจะใช้กลไกของรัฐสภาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่คาราคาซัง ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นเครื่องหมายคำถามแล้วใช้กลไกสืบทอดอำนาจที่วางไว้เข้ามาแก้ย่อมดีกว่า แต่ถ้าจะหนักข้อถึงขั้นที่อาจไม่ได้เลือกตั้ง อันนี้ก็ตัวใครตัวมัน

Back to top button