ไร้ข้อดีที่ตลาดหุ้นได้รับจากการเก็บภาษีขายหุ้น

การเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax) ถือเป็นความซ้ำซ้อนของค่าใช้จ่ายที่จะมาเป็นภาระให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้น


การเก็บภาษีขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Financial Transaction Tax) ถือเป็นความซ้ำซ้อนของค่าใช้จ่ายที่จะมาเป็นภาระให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งมาจากดำริของหนึ่งรัฐมนตรี ที่เร่งผลักดันออกมา โดยไม่ได้มีความรู้เลยว่า สิ่งที่คิดว่าจะได้จากการเก็บภาษีครั้งนี้ จะกลายเป็นต้องเสียมากกว่า ด้วยความคิดที่ไม่ต้องใช้ข้อเท็จจริงเชิงวิชาการในการชั่งน้ำหนัก ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นแหล่งระดมทุนของเอกชนที่ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของแผ่นดิน ที่จะถูกนำมาพัฒนาประเทศ สร้างงาน และก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในประเทศ มาตลอด 48 ปีที่ผ่านมา

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นองค์กรเดียว ที่สามารถทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล เพื่อนำส่งรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของบริษัทเอกชนที่เสียภาษีในประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ได้เพราะมีนักลงทุน ซึ่งการเก็บภาษีขายหุ้น จะทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นลดลง, นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการลงทุนไปยังตลาดหุ้นเกิดใหม่แห่งอื่น

โดยที่ผ่านมาความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ยิ่งมาเห็นตัวเลือกการลงทุนอย่างหุ้นรายตัว ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่ดำเนินธุรกิจคล้าย ๆ กัน ซ้ำ ๆ โลกเก่า old school ส่วนหุ้นเทรนด์อนาคต หรือหุ้นเทคโนโลยีก็มีแต่ไซส์เล็ก และมีจำนวนให้เลือกน้อยมาก

แน่นอนเลยว่า คนที่เชียร์ให้เก็บภาษีขายหุ้น ส่วนใหญ่จะรู้จักแค่ผิวเผินในทางทฤษฎีเท่านั้น แม้แต่คนในตลาดทุนเองก็ตาม ส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนในการซื้อขายหุ้นแบบจริงจัง หรือยึดเป็นอาชีพที่เรียกกันว่าเป็น full time trader

เนื่องจาก ภาระที่จะต้องจ่ายทุกครั้งไม่ว่าจะอยู่ฝั่งซื้อหรือขาย จะต้องมีค่าใช้จ่ายอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งซ้ำซ้อนกับที่รัฐบาลจะเก็บเพิ่ม ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Trading Fee) จำนวน 0.005% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน

2.ค่าธรรมเนียมการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (TSD Clearing Fee) จำนวน 0.001% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน

3.ค่าธรรมเนียมการกำกับดูแล จำนวน  0.001% ของมูลค่าการซื้อขายต่อวัน

4.ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น (Commissions and Trading Fee) จำนวน 0.25-0.20%

5.ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น

6.ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินหักบัญชีอัตโนมัติ (ATS) ครั้งละ 14.98 บาทต่อวัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลัง เริ่มเก็บภาษีขายหุ้น

ในเมื่อตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) อย่าง SET ที่ลำพังปัจจุบันยังขาดเสน่ห์ที่จะเป็นแรงจูงใจในการดึงเม็ดเงินต่างชาติให้เข้ามา อย่าว่าแต่ต่างชาติเลย คนไทยจำนวนไม่น้อยก็หนีไปลงทุนต่างประเทศ

การเก็บภาษีขายหุ้นเกิดขึ้นย่อมต้องส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นหายไปอย่างน้อย ๆ 30-40% เป็นอย่างต่ำ..

โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ, กลุ่มโรบอตเทรด ที่มีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ 0.01-0.02% ในปัจจุบัน จะต้องมีต้นทุนจากการเก็บภาษีขายหุ้นเพิ่มอีก 0.1% หรือเรียกว่า เพิ่มขึ้น 500-1,000% แน่นอนเลยว่า เจอต้นทุนพุ่งขึ้นแบบนี้คงต้องหยุดชะงัก และไปหาตลาดอื่นเทรดแทน โดยวอลุ่มเทรดของกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 30% ของวอลุ่มเทรดรายวัน

นี่ยังไม่พูดถึงนักลงทุนรายย่อยที่จัดอยู่ในกลุ่มนักเก็งกำไร ที่ซื้อเช้าขายบ่าย หาค่ากับข้าว หรือซื้อถือ 4-5 วันค่อยขาย คงต้องหายไป ซึ่งสัดส่วนของนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 20-30%

เหตุผลที่ต้องเอ่ย และเห็นใจนักลงทุนรายย่อย หรือ นักเก็งกำไรกลุ่มนี้ เพราะคนในตลาดทุนบางคนไปอ้างว่า “การเก็บภาษีขายหุ้น” จะช่วย “ลดแรงเก็งกำไร, “ลดความผันผวน แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นการตัดโอกาส และสร้างภาระต้นทุนการเข้าถึงตลาดทุน

เนื่องจาก นักเก็งกำไรกลุ่มนี้ เคยเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะก้าวไปสู่นักลงทุนที่ลงทุนเพื่อเงินปันผลในอนาคต

ยกตัวอย่าง นาย A กำเงินเข้ามาในตลาดหุ้น 20,000 บาท แล้วจะให้ลงทุนแต่หุ้นปันผลแบบนี้ก็ไม่น่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะหุ้นปันผลดี ราคาต่อหุ้นก็ไม่ได้อยู่ที่หลักหน่วย แถมเงินปันผลก็ไม่ได้จ่ายทุกวัน ส่วนใหญ่จ่ายปีละครั้ง อย่างดี 2-3 ครั้งต่อปี

ฉะนั้นการมีเงินแค่ 20,000 บาท ก็หนีไม่พ้นต้องเล่นหุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีความผันผวนสูง เพราะชีวิตของ รายย่อย คือ “ชีวิตแห่งการเดิมพัน” เพราะทุกวันต้องกินต้องใช้ มีค่าใช้จ่ายในครอบครัว ฯลฯ การจะเอาเงินน้อยมาลงในหุ้นปันผลไม่น่าจะใช่คำตอบของรายย่อย

การเล่นหุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีความผันผวนสูง ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่ควรไปจำกัด หรือตีกรอบ ว่าเล่นหุ้นเก็งกำไรไม่ดี ถือหุ้นปันผลแล้วจะดี ซึ่งบริบทของต้นทุนในแต่ละคนต่างกัน

ขณะที่ นาย B กำเงินเข้ามาในตลาดหุ้น 20 ล้านบาท เอามาซื้อหุ้นปันผลหวังกำไร 5% รอ 1 ปี แบบนี้ระหว่างทาง นาย B ไม่เดือดร้อน และเชื่อแน่ว่า ยังมีเงินนอกที่สามารถนำไปใช้จ่ายยังชีพได้อย่างสบาย ซึ่งต่างจาก นาย A โดยสิ้นเชิง และจะมีสักกี่คนที่จะมีวาสนาเหมือนอย่างนาย B

ยิ่งมาอ่านประวัติวีไอ เซียนหุ้น รายใหญ่ หลายคนก็เกิดขึ้นมาจากการเล่นหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงทั้งนั้น โดยเฉพาะ “วอร์แรนต์” ทำให้หลายคนมีพอร์ตโตเป็นหลักร้อยล้าน พันล้าน และมีชื่อเสียงอยู่ทุกวันนี้

มาถึงบรรทัดนี้ ไม่ได้ต้องการให้ไปเล่นหุ้นเก็งกำไร แต่กำลังสื่อสารและให้ข้อมูล กับ “คนโลกสวย ที่ยังหากิน และหาประโยชน์จากตลาดหุ้น มีทั้งผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ฯลฯ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ นานา ว่า การเก็บภาษีหุ้นจะช่วยลดการเก็งกำไร

การจำกัดการเก็งกำไร เป็นการตัดโอกาส และสกัดกั้นการเกิดของนักลงทุนรุ่นใหม่ ๆ แน่นอนเลยว่าตลาดที่สมบูรณ์ หนีไม่พ้นจะต้องมีส่วนผสมของกลุ่มที่เก็งกำไรเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย

ส่วนความเสี่ยงจากการเก็งกำไรนั้น ไม่ต้องไปสอนเขา เพราะรายย่อยทุกคนเขารู้กติกาอยู่แล้ว ว่าจะต้องรับผิดชอบและดูแลตนเองอย่างไร

สรุป ข้อดีคือ รัฐบาลได้เงินภาษี แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ คือ การตั้งกฎเกณฑ์บังคับใช้เสียภาษี โดยการเสียภาษีครั้งนี้ ไม่ได้มีผลดีต่อตลาดหุ้นเลย แถมยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับอาชีพหนึ่ง (นักลงทุน) และทำลายอีกหลายอาชีพ ทั้งโบรกเกอร์-มาร์เก็ตติ้ง (รายได้ลด-จัดเก็บภาษีน้อยลง) และความน่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในสายตาของ นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการเป็นตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนต่างชาติที่จะขนเงินเข้ามาลงทุนอีกเป็น แสนล้านบาทในอนาคต

ในกรณีที่ หากนักลงทุนหายไปหลังจากการเก็บภาษีขายหุ้นเกิดขึ้น ตามการประเมินกลุ่มนักลงทุนที่จะชะลอการเทรด 30-40% แน่นอนเลยว่า เป้าการเก็บภาษีปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ คงต้องพลาดเป้าอย่างแน่นอน

คำว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” จะเกิดขึ้นทันที แถมตลาดหุ้นไทยก็จะวาย วอลุ่มเงียบเหงา ไร้เสน่ห์ไปอีกนานแสนนาน..

Back to top button