พาราสาวะถีอรชุน

ปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์ถามว่าจบไหมหลังการแถลงที่ดุดันของ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ตอบว่าอาจจบได้ในแง่ของผู้มีอำนาจ แต่ในส่วนของประชาชนและคนทั่วไปยังค้างคาใจอยู่ ตราบใดที่ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่บอกว่าเป็นเงินบริจาคทั้งหมด เมื่อยังไม่มีตัวเลขรายรับและรายจ่ายมาอธิบาย ก็ยากที่คนสงสัยจะเชื่อในสิ่งที่ผู้มีอำนาจพูด


 ปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์ถามว่าจบไหมหลังการแถลงที่ดุดันของ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ตอบว่าอาจจบได้ในแง่ของผู้มีอำนาจ แต่ในส่วนของประชาชนและคนทั่วไปยังค้างคาใจอยู่ ตราบใดที่ไม่มีการแจกแจงรายละเอียดเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่บอกว่าเป็นเงินบริจาคทั้งหมด เมื่อยังไม่มีตัวเลขรายรับและรายจ่ายมาอธิบาย ก็ยากที่คนสงสัยจะเชื่อในสิ่งที่ผู้มีอำนาจพูด

ในยุคที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสามารถควบคุมได้ทุกอย่างนั้น แต่อีกด้านก็ถือเป็นผลร้าย เพราะการที่กระบวนการตรวจสอบทำไม่ได้ ข้อมูลที่ควรจะชี้แจงให้สังคมเกิดความกระจ่างก็ไม่ได้รับการเปิดเผย เช่นนั้นแล้ว จะทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความโปร่งใสเกิดขึ้นได้อย่างไร ในยุคที่ประกาศทำสงครามกับการคอร์รัปชั่น ทุกกระบวนการยิ่งต้องแจกแจงให้ละเอียดยิบ

แต่ฐานะประชาชนคงต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่งว่า ในยุคที่อำนาจเด็ดขาดครองเมืองและมีกฎหมายวิเศษอยู่ในมือ บวกเข้ากับท่วงทำนองที่ดุดันของผู้มีอำนาจทุกระดับ อาจจำเป็นที่จะต้องสยบยอมหากไม่อยากมีปัญหาในการใช้ชีวิต เหมือนอย่างที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่นำโดย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กับ สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังถูกดำเนินการอยู่ในเวลานี้

อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการร่วมกับเพื่อนพ้องอาจารย์ต่างมหาวิทยาลัยแถลงการณ์เรื่อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ทำให้ตำรวจที่เชียงใหม่ออกหมายเรียกผู้ร่วมโต๊ะดังกล่าวจำนวน 6 คนในข้อหาขัดคำสั่งคสช.ที่ห้ามชุมนุมกันทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่ตลกไปกว่านั้นปรากฏว่ามีการส่งหมายเรียกไปถึงอาจารย์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย

นั่นก็คือ คงกฤช ไตรยวงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนอรรถจักร์ในฐานะแกนนำกลุ่มนักวิชาการที่ออกแถลงการณ์ต้องยกหูไปขอโทษขอโพย นี่น่าจะเป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่างในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่การถูกออกหมายเรียกครั้งนี้สมชายได้ให้สัมภาษณ์วิเคราะห์ถึงเหตุที่ถูกดำเนินคดีอย่างน่าสนใจ

ประการหนึ่งในระดับการเมืองใหญ่ เราเห็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นในหลายรูปแบบในผู้คนกลุ่มต่างๆ ในแง่หนึ่งมันอาจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นใจในความมั่นคงของผู้มีอำนาจในทางการเมืองขณะนี้ ดังนั้นจึงใช้สิ่งที่เรียกว่ากฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายตอนนี้คิดว่าเป็นกฎหมายที่ไม่สู้จะเป็นธรรมเท่าไหร่ ใช้กฎหมายแบบนี้ดำเนินคดีกับคนกลุ่มต่างๆ

ประการต่อมา อาจเป็นการพยายามแสวงหาความชอบในตำแหน่งหน้าที่ของบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับล่าง เป็นการโชว์ผลงานให้เข้าตานาย อะไรพอทำได้ก็ทำหมดทุกอย่าง ซึ่งความจริงไม่อยากให้เป็นแบบนี้ การกระทำหน้าที่ใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐมันควรคิดถึงกรอบ กติกา หลักการ แต่อาจารย์สมชายยังมองโลกในแง่ดี โดยเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ไม่น่าจะเป็นแบบนั้น

ประการสุดท้ายที่พอจะเป็นไปได้คือ ความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตกลงประกาศคสช.นั้นครอบคลุมขนาดไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องยุ่งยากที่คำสั่งบอกว่าห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง การมาประชุมกัน มานั่งคุยกันเรื่องการเมืองในสถานที่ปิดแบบนี้ถือเป็นการมั่วสุมชุมนุมเกินห้าคนแล้วผิดคำสั่งคสช.หรือเปล่า ถ้าอันนี้ผิด ก็ขอให้ไปจับคนอีกจำนวนหนึ่งที่จัดการประชุมแบบนี้

เพียงแต่ว่าคนจำนวนนั้นความเห็นคงต่างกับกลุ่มอาจารย์ที่ถูกดำเนินคดีนิดหนึ่งตรงที่กลุ่มเหล่านั้นจัดเวทีแสดงความเห็นเพื่อสนับสนุนรัฐบาล หากตำรวจใช้ตรรกะจับคนที่มาประชุมกันเกินกว่าห้าคน คิดว่า ใน สนช. ในสปท.คงโดนจับกันหมด เพราะทั้งหมดก็ไปร่วมประชุม ร่วมแสดงความเห็นกันเต็มไปหมด แต่กลับไม่โดน

มีความเห็นที่น่าสนใจอยู่ว่า ผู้มีอำนาจควรออกคำสั่งห้ามบุคคลใดๆ ในสังคมไทยแสดงความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาลใครทำถือว่าผิด แต่ตอนนี้การห้ามชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นของนักวิชาการในสถานที่ปิดไม่ควรจะเข้าข่าย เรื่องนี้สมควรที่จะให้ฝ่ายความมั่นคงเสนอไปยังหัวหน้าคสช.ออกคำสั่งให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องให้ใครไปตีความและทำให้ผู้มีอำนาจเสื่อมเสีย

อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดของบรรดานักวิชาการที่แสดงความเห็นเพื่อบ้านเมือง คงเหมือนที่สมชายบอกว่าน่าเศร้าใจคือ เมื่อใดก็ตามที่มีการคุกคามการแสดงความเห็นของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เราแทบไม่ได้ยินเสียงจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้ผิดหวังเพราะไม่เคยคาดหวังว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยคนไหนจะกล้าแสดงจุดยืนในเรื่องนี้ เพราะเห็นกันชัดว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้ตบเท้าเข้าไปเป็น สนช.-สปท.เป็นจำนวนมากโดยไม่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ

กรณีนี้ถือเป็นปัญหากับตัวมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยอยากจะมีความเป็นเลิศทางปัญญา ซึ่งความเป็นเลิศทางปัญญาจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเสรีภาพทางวิชาการ มันเป็นไปไม่ได้ที่อยากจะมีความเป็นเลิศทางวิชาการโดยไม่มีเสรีภาพ ให้คนแสดงความเห็นต่างไม่ได้ แสดงความเห็นขัดแย้งไม่ได้ คนแต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเห็นต่างแล้วก็เถียงกันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ดีกว่า ฉะนั้นจึงคิดว่ามันน่าขบขัน อยากเป็นเลิศทางปัญญาแต่ไม่มีเสรีภาพทางวิชาการ มันแยกกันไม่ได้

บทสรุปในมุมของสมชายที่น่าคิดก็คือ ระบบการปกครองแบบไหนก็ตามที่การตรวจสอบมันต่ำ ในโลกปัจจุบันคงอยู่ได้ไม่ง่ายเท่าไหร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างสังคมไทยมันผ่านประสบการณ์ ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร อาจจะมีย้อนกลับไปกลับมา แต่อย่างน้อยการจะย้อนกลับไปก่อนปี 2500 มันคงไม่ง่าย คงมีกลุ่มต่างๆ ที่พร้อมจะทำโน่นทำนี่ รัฐบาลอาจจะสะดุดโน่นสะดุดนี่ไปเรื่อยๆ กรณีอุทยานราชภักดิ์ที่ต้องการจะปิดจ็อบที่ว่าทุกอย่างโปร่งใส น่าจะเป็นสัญญาณสะกิดเตือนผู้มีอำนาจไม่ให้ชะล่าใจได้ไม่น้อย

Back to top button