Water Footprint เทรนด์ใหม่ธุรกิจเกษตร
จากปัญหาการขาดแคลนน้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้ง น้ำเพื่ออุตสาหกรรม หรือ น้ำเพื่อการเกษตร และกำลังนำไปสู่วิกฤติน้ำโลก โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร
จาก “ปัญหาการขาดแคลนน้ำ” ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้ง “น้ำเพื่ออุตสาหกรรม” หรือ “น้ำเพื่อการเกษตร” และกำลังนำไปสู่ “วิกฤติน้ำโลก” โดยเฉพาะ “น้ำเพื่อภาคการเกษตร” นั่นจึงทำให้เกิดแนวคิดการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของแนวคิดว่าด้วย Water Footprint (รอยเท้าน้ำ) ที่กำลังเข้ามามีบทบาทต่อวิถีกระบวนการผลิตภาคการเกษตรในแง่การใช้ทรัพยากรน้ำเพื่อผลิตสินค้าแบบยั่งยืน
แนวคิดเรื่อง Water Footprint ถือเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการวัดปริมาณการใช้น้ำในการผลิตสินค้าและบริการ อย่างใดอย่างหนึ่ง เกิดจากการรวมตัวกันขององค์การระหว่างประเทศ ที่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องวิกฤตน้ำ อาทิ UNESCO IFC WWF และ WBCSD ที่รวมกันจัดตั้งเครือข่าย Water Footprint ทำการศึกษา Footprint ในสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่แต่ละประเทศผลิตและขยายสู่ระดับโลก มีการจัดแบ่ง Water Footprint ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน..
Blue Water Footprint (รอยเท้าน้ำสีฟ้า) หมายถึงปริมาณน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งแหล่งน้ำผิวดินเช่นน้ำในแม่น้ำทะเลสาบรวมทั้งน้ำในอ่างเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ และแหล่งน้ำใต้ดินได้แก่น้ำบาดาลที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
Green Water Footprint (รอยเท้าน้ำสีเขียว) หมายถึงปริมาณน้ำที่อยู่ในรูปของความชื้นในดินที่ถูกใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตพืชผลทางการเกษตรการทำไม้และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
Gray Water Footprint (รอยเท้าน้ำสีเทา) หมายถึงปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ คำนวณจากปริมาณน้ำที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีตามค่ามาตรฐาน
สำหรับประเทศไทย มีการบริโภคน้ำภายในประเทศที่ระดับ 2,223 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และอิตาลี ขณะที่ค่าเฉลี่ย Water Footprint ช่วงปี 1997-2001 มีค่าเท่ากับ 1,243 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี โดยมีการใช้น้ำกับภาคเกษตรสัดส่วนมากถึง 90%
ด้วยเหตุความจำเป็นอย่างสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมาก เป็นสินค้าที่ไทยสามารถผลิตเพื่อบริโภคเองได้ในประเทศเป็นหลัก จึงเป็นการบริโภคน้ำในประเทศสัดส่วนสูง จึงทำให้ Water Footprint การบริโภคน้ำภาคเกษตรไทยจึงอยู่ระดับสูง ดังนั้นค่า Water Footprint การผลิตสินค้าเกษตรของไทยจึงอยู่ระดับสูง เช่น สินค้าข้าว น้ำตาลทราย ไก่แปรรูป ของไทย ที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
จึงกลับมาที่โจทย์ใหญ่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือสนับสนุนให้เกษตรกรไทย ตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการเพาะปลูกพืชด้วยระบบน้ำหยด (Drip Irrigation) มากขึ้น แม้เบื้องต้นคงไม่สามารถทำได้ครอบคลุมได้ทั้งหมด
แต่ถือจุดเริ่มต้นและเป็นแนวทางที่ดี เรื่องการลดการใช้น้ำต่อพืชสำคัญอย่างข้าว มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเกษตรและนำมาปรับใช้ การใช้ที่ดินและน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การวิจัยและพัฒนาพืชสายพันธุ์ใหม่ และเลือกเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่ใช้น้ำน้อยไปด้วย
อีกตัวการสำคัญที่มีผลต่อค่า Water Footprint ภาคการสินค้าเกษตรของไทย หนีไม่พ้นนโยบายหรือแผนบริหารจัดการน้ำจากภาครัฐ
นั่นหมายถึงแม้ภาคเกษตรกรไทย จะตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากเพียงใดก็ตาม แต่แผนบริหารจัดการน้ำภาครัฐไร้ประสิทธิผล “ร้อยเท้าน้ำ” ก็คงจะไม่มีความหมายใด ๆ เลย…!!