กฟผ.แตกต่างอย่างน่าสงสัย.!?
การช่วงชิงเพื่อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจและเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิด
การช่วงชิงเพื่อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ ถือเป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจและเฝ้าติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งขนาด “ใหญ่-กลาง-เล็ก” ต่างร่วมวงสังเวียนชิงเค้กขายไฟเกือบทุกบริษัท..!!
หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 (ประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง) กำลังผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์ จัดแบ่งเป็นไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าพลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน) 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนพื้นดิน) 2,368 เมกะวัตต์
มีผู้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ รวมปริมาณเสนอขาย 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่ประกาศรับซื้อถึง 3 เท่าตัว
ทว่า..รอบแรกว่าด้วยเรื่อง “คุณสมบัติ” ต้องได้รับการพิจารณาจาก 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)-การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ขึ้นอยู่กับว่าโครงการที่เสนอขายเข้ามาขายให้การไฟฟ้าหน่วยงานใดเป็นผู้รับซื้อไฟจากผู้ประกอบการ
ตามประกาศกกพ.เมื่อทั้ง “กฟผ.-กฟภ.-กฟน.” ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ยื่นผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กจิ๋ว (VSPP) แต่ละประเภทและประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติภายในวันที่ 9 ธ.ค. 65
เมื่อครบกำหนดทั้งกฟน.และกฟภ.มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานตนเอง..เพื่อให้สาธารณชนและผู้ถือหุ้นบริษัทต่าง ๆ ได้รับรู้ว่า “บริษัทที่ตัวเองถือหุ้น” จะได้ไปต่อหรือไม่..!?
นั่นหมายถึงการตัดสินว่า..จะพอฝากความหวังไว้กับหุ้นบริษัทนั้น ๆ ได้แค่ไหนกับเรื่องการขายไฟครั้งนี้
แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่า กฟผ.กลับไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางของกฟน.และกฟภ. กล่าวคือ ไม่มีการประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติขึ้นเว็บไซต์ตัวเอง แต่กลับใช้วิธีแจ้งผลการตรวจสอบคุณสมบัติโดยตรงไปที่บริษัทผู้ยื่นขายไฟแทน
อ้าว..แบบนี้สาธารณชนและผู้ถือหุ้น..จะไปนั่งทางในตรัสรู้ได้ละว่าบริษัทที่ตนถือหุ้น “ผ่าน” หรือ “ตกคุณสมบัติ” หรือไม่อย่างไร..!?
ว่าไปแล้วบรรดาโครงการที่เสนอขายไฟให้กฟผ.ล้วนแล้วแต่..เป็นโรงไฟฟ้าขนาดกลาง (SPP) ใหญ่กว่า “โรงไฟฟ้าจิ๋ว” (VSPP) หลายเท่าตัว..นั่นหมายถึงผู้ประกอบการต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีผลต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินตามไปด้วย
แล้วทำไมกฟผ.ถึงไม่ประกาศรายชื่อเหมือนดั่งเช่นกฟภ.และกฟน.จะบอกเป็นความลับทางราชการ มันก็ไม่ใช่..หรือมีเหตุผลใดกฟผ.ก็ไม่ชี้แจงแถลงไขออกมา..เล่นมุกตีมึนซะงั้น..!??
เมื่อกฟผ.ปฏิบัติแตกกต่างเช่นนี้มันเลี่ยงไม่ได้ที่ “ปากหอย..ปากปู” จะติฉินนินทาว่า..“กฟผ.มีลับลวงพราง” กับแผนการรับซื้อไฟครั้งนี้หรือไม่ เพราะมูลค่าโครงการนี้หลายแสนล้านบาทเลยทีเดียว
แต่เอาเหอะ..ถ้าใครติดตามดูความเป็นไปของกฟผ.คงพอจะเดาทางออกได้ว่าทำไมกฟผ.ถึงได้ปฏิบัติแตกต่างกับ 2 การไฟฟ้าดังกล่าว เพราะไอ้เรื่องทำตัวเงียบไม่รู้ไม่ชี้แบบนี้..มันเคยเกิดขึ้นกับกรณี “ก่อสร้างโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน” เครื่องที่ 8-9 ที่จะถูกปลดระวางจากระบบปีนี้และปี 2565
ที่ครม.อนุมัติไปตั้งแต่เดือน พ.ค.แต่มาถึงวันนี้..เรื่องนี้เงียบหายเข้ากลีบเมฆไปเลย..!!
ความแตกต่างของกฟผ.มันจึงน่าสงสัยจริง ๆ..!!!???