พาราสาวะถี
ปักหลักให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมืองมากกว่าทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภารกิจนั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ปักหลักให้สัมภาษณ์ประเด็นทางการเมืองมากกว่าทุกครั้งหลังเสร็จสิ้นภารกิจนั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา การตอบคำถามของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.ไร้คำว่า ไม่มี ไม่รู้ ทุกถ้อยคำที่สื่อสารออกมาเป็นความชัดเจนต่อทิศทางของพรรคสืบทอดอำนาจว่าจะเดินไปอย่างไร ชัดแจ้งมากขึ้นและมากกว่า ถ้าเป็นภาษาฟุตบอลก็ต้องบอกว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้อยู่ในแผนการทำทีมของพี่ใหญ่อีกต่อไป จากการที่พูดถึงน้องเล็กว่า “ก็ท่านนายกฯ แสดงดูว่าเหมือนจะไปละนะ เหมือนจะไป”
ก่อนจะอธิบายเชิงหลักการ ท่านนายกฯ ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับพรรคพลังประชารัฐ ท่านนายกฯ ไม่ได้อยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนให้ท่านเป็นนายกฯ เพราะฉะนั้นท่านจะอยู่หรือไม่อยู่ แต่ในข้อเท็จจริง “นายกฯ ก็ไม่ได้อยู่อยู่แล้ว” นี่ก็เป็นการยกการ์ดสูงเพื่อทำให้คนทั่วไปได้เห็นว่า ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจไม่ได้เดินเกมการเมืองแบบเต็มตัวกับพรรคสืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อวันนี้จะไปสังกัดพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่ความพอใจของเจ้าตัว
การที่ทำให้พี่ใหญ่ต้องแสดงจุดยืนต่อน้องเล็กทั้งที่คนที่ถูกพูดถึงยังไม่ได้ประกาศความชัดเจนทางการเมืองนั้น ก็เพื่อที่จะการันตีสร้างความมั่นใจกับคนที่ย้ายเข้ามาอยู่แล้วอย่าง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กลุ่มของ ธรรมนัส พรหมเผ่า และที่กำลังจะตามมาอีกหลายคณะ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคก็จะไม่สนับสนุนผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกแน่นอน ขณะเดียวกันท่วงทำนองเช่นนี้มันทำให้มือประสานสิบทิศของพี่ใหญ่ทำงานได้สบายใจขึ้น
การประเมินตัวเลข ส.ส.หลังเลือกตั้ง แม้ค่อนข้างจะเป็นที่แน่นอนว่าพรรคสืบทอดอำนาจจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับ 3 รองจากเพื่อไทยและภูมิใจไทย แต่ตัวเลขที่ได้นั้นจะมากพอในการที่จะทำให้พรรคเป็นตัวแปรสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นสูตรเพื่อไทย ภูมิใจไทย ก็ต้องมีพลังประชารัฐ หรือ เพื่อไทย ก้าวไกล ถ้า ส.ส.ขาดไปในจำนวนที่มีความจำเป็นก็ต้องเลือกใช้บริการพลังประชารัฐ แม้จะขัดใจกองเชียร์ฝ่ายประชาธิปไตย แต่เพื่อความเปลี่ยนแปลงก็ต้องยอม
ขณะเดียวกันสูตรภูมิใจไทย บวกพลังประชารัฐก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน บนข้อแม้ที่ว่าพรรคของ อนุทิน ชาญวีรกูล จะต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 150 ที่นั่ง พลังประชารัฐต้องมีอย่างน้อย 70-80 คน ที่เหลือก็ไปเก็บตกเอาจากพรรคขนาดกลางอื่น ๆ รวมไปถึงรวมไทยสร้างชาติของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจด้วย โดยที่สูตรนี้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะต้องยอมรับเก้าอี้รองนายกฯ เท่านั้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นถ้าไปถึงฝั่งฝันขออยู่บนเก้าอี้นายกฯ อีก 2 ปีไม่ได้ มันก็อาจถึงเวลาที่จะบอกว่า “ผมพอแล้ว” ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ทำให้เสียงของพรรคสืบทอดอำนาจมีพลังในการต่อรอง ไม่ได้อยู่ที่เพียงแค่จำนวน ส.ส.เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องของเสียง ส.ว.ลากตั้งที่จะเข้ามามีส่วนโหวตเลือกนายกฯ เป็นหนสุดท้าย ก่อนหน้านั้นอาจถูกล็อกไว้เพื่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจทั้งหมดโดยไม่มีแตกแถว แต่หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งมาแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนไป ความเอาใจใส่ ดูแลแบบใจถึงพึ่งได้พี่ใหญ่ยังคงทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ นั่นย่อมส่งผลถึงอนาคต
หลังการเลือกตั้งหากสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของสภาแล้ว เสียง ส.ว.ไม่ต่ำกว่าร้อยเสียงนั้นเป็นสิ่งที่พี่ใหญ่สามารถประสานขอความร่วมมือกันได้อย่างสบาย ยิ่งถ้าเป็นการจับมือกับภูมิใจไทยแล้วดันอนุทินนั่งนายกฯ ยิ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.อย่างแน่นอน ส่วนการร่วมตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยนั้น ถ้ามีภูมิใจไทยร่วมด้วย เสียง ส.ว.ก็แทบจะไม่มีความหมาย เพราะนั่นหมายความว่าลำพังเสียง ส.ส.ก็น่าจะเกินครึ่งของที่ประชุมรัฐสภาอยู่แล้ว
นอกจากนี้ มีข่าวแว่วมาจากพรรครวมไทยสร้างชาติว่า ปัญหาที่สร้างความหนักใจให้กับผู้บริหารพรรคคือ ความไม่ชัดเจนของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้ไม่สามารถปิดดีล ส.ส.ที่คุยกันไว้ก่อนหน้า และให้จับตาดูการเปิดตัวของ ส.ส.เปลี่ยนสีเสื้อไปสังกัดภูมิใจไทยในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ ถ้าจำนวนหนึ่งเป็นคนที่พรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเคยทาบทามไว้แล้ว นั่นหมายความว่า ตัวเลข ส.ส. 25 ที่นั่งของรวมไทยสร้างชาติเพื่อคงสิทธิ์ในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาจะยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกต่อไป
การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งนั้น เมื่อคำนวณระยะเวลาที่เหลือ จากนี้ทุกพรรคจะต้องประกาศความพร้อมได้แล้ว ทั้งในแง่ของผู้สมัคร แคนดิเดตนายกฯ และนโยบายพรรค เหมือนที่ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ที่แยกทางกับพรรคสร้างอนาคตไทยแล้วไปร่วมกับพรรคสืบทอดอำนาจบอก “ไม่มีใครไปสู้รบในสงครามที่ไม่ชนะ” นั่นย่อมมองให้เห็นว่าโอกาสของการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้และ กทม. พรรคที่นิพิฏฐ์เคยสังกัดอย่างประชาธิปัตย์ รวมไปถึงรวมไทยสร้างชาติโอกาสที่จะเบียดแทรกได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำนั้นยากยิ่งนัก
แม้ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะมีคะแนนนิยมที่ดีในภาคใต้ แต่ก็ไม่ได้พุ่งปรี๊ดเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ความชื่นชอบที่อยู่ในระดับ 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อดีดลูกคิดคำนวณภายใต้ตัวแปรต่าง ๆ ในสนามเลือกตั้งจะได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึง 10 ที่นั่งเสียด้วยซ้ำไป ไม่ต่างจากในพื้นที่ กทม. อย่าลืมเป็นอันขาดว่าสองสนามดังกล่าว นอกจากพรรคฝ่ายค้านฐานเสียงยังดีหลายพื้นที่แล้ว พื้นที่เป้าหมายของฝ่ายกุมอำนาจปัจจุบันต่างก็ต้องแข่งขันช่วงชิงกันเองทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพรรคสืบทอดอำนาจ เห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่พรรคของอนุทินเปิดเกมรุกทุกพื้นที่ด้วยความมั่นใจว่าตัวเองอยู่ในฐานะผู้กุมความได้เปรียบมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ที่น่าสนใจไม่เพียงแค่ภาคใต้และ กทม.เท่านั้น ยังต้องจับตาดูพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ฐานอันแข็งแกร่งของเพื่อไทย แต่เป็นฐานเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะถูกทีมงานของเสี่ยหนูเจาะไข่แดง แย่งชิงเก้าอี้มาได้อีกจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุนี้พรรคนายใหญ่ที่ประกาศแลนด์สไลด์จึงไม่ได้อินังขังขอบต่อพวกงูเห่ากินกล้วยที่ตีจาก เพราะเชื่อมั่นส่งใครลงก็มีโอกาสชนะ ผิดกับฝ่ายตรงข้ามที่จะไล่เตะตัดขากันอุตลุด