คนตัวเล็กเวียดนาม

ผมยังคงยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวอยู่นะครับว่า แผนการเก็บภาษีขายหุ้น เป็นแผนการที่มักง่ายที่สุด เป็นภาษีที่ผิดหลักการภาษีเป็นอย่างยิ่ง


ผมยังคงยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวอยู่นะครับว่า แผนการเก็บภาษีขายหุ้น เป็นแผนการที่มักง่ายที่สุด เป็นภาษีที่ผิดหลักการภาษีเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่ของความเป็นธรรมและความเสมอภาค และ “คิดสั้น” เป็นอย่างยิ่ง ที่มองแต่ประโยชน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในเฉพาะหน้า แต่ทำลายผลประโยชน์มหาศาลในระยะยาว

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับมูลค่าการเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้ในรอบ 9 เดือนของปีนี้ (2565) มีความน่าสนใจมากครับ มันพอจะบ่งบอกอะไรได้เป็นอย่างดีว่า เราจะ “ได้” อะไรและสุ่มเสี่ยงที่จะ “เสีย” อะไรได้เป็นอย่างดี

ช่วง 9 เดือน (3 ไตรมาส) ปีนี้ มีการเสนอขายตราสารทุนทั้งในรูป IPO และขายครั้งต่อไป คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 162,223 ล้านบาท ส่วนการเสนอขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,981,717 ล้านบาท รวมรายการเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้คิดเป็น 2,143,990 ล้านบาท

นี่แค่ช่วง 9 เดือนนะครับ หากรวมที่เหลืออีก 3 เดือนของปี ตัวเลขรวม น่าจะสูงกว่า 2.8 ล้านล้านบาท เงินก้อนนี้เอาไปหมุนฟันเฟืองทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งก็เป็นเงินมิใช่น้อยนะครับ

เทียบไม่ได้เลยกับเงินจิ๊บจ๊อย 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท ที่จะได้จากการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

คำถามสำคัญก็คือ หากตลาดหุ้นเป็นตลาด ที่ขาดสภาพคล่องไร้เสน่ห์ ไม่ใช่แนวหน้าของการซื้อขายในอาเซียนเช่นทุกวันนี้ เงินกว่า 2.8 ล้านล้านบาทมาหมุนฟันเฟืองเศรษฐกิจในแต่ละปี จะมีมาไหม

ถ้าตอบแบบภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้สัมภาษณ์วันที่นักลงทุนรายย่อยนัดกันหยุดเทรดและมูลค่าการซื้อขายหดหายไปกว่า 1.2 หมื่นล้านบาทว่า ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่อง “ภาษีหุ้น” หรอก เป็นเรื่องความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นที่มาจากต่างประเทศ

ก็คงจะต้องยอมรับความเสี่ยงกันไปว่า 1.5 หรือ 1.8 หมื่นล้านบาทที่จะได้ อาจต้องยอมแลกกับการสูญเสีย 2.8 ล้านล้านบาทที่ได้แน่นอนในแต่ละปี” นี่มันคุ้มค่าจะเสี่ยงแล้วหรือ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ไทย คำพูดออกมาจากจิตใจรักใคร่ผูกพันตลาดหุ้นไทยแค่ไหนกันเชียว

เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมได้รับเชิญไปเปิดงานแกรนด์ โอเพนนิ่งโรงงานใหม่ของบมจ.ศรีนานาพร (SNNP) ที่เวียดนามภาคใต้ ใกล้นครโฮจิมินห์ครับ

ถือโอกาสไปอัปเดตความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเวียดนาม ที่ตอนเปิดประเทศเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ระดับความเจริญยังห่างไกลประเทศไทยสัก 30 ปีเห็นจะได้ไปในตัวด้วย

บ้านเมืองเวียดนามที่พบเห็นคราวนี้ เปลี่ยนไปอย่างมากทีเดียว สมกับข้อมูลที่ได้รับรู้มาพักใหญ่ ๆ แล้วว่า เดี๋ยวนี้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามแซงหน้าประเทศไทยมา 2-3 ปีแล้ว

รวมทั้งอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็โตในระดับ 7-8% มาตลอด ในขณะที่เพื่อนบ้านอาเซียนทั้งติดลบและเติบโตต่ำในช่วงล็อกดาวน์โควิด

เวียดนามสมัครเข้าเป็นภาคีองค์กรการค้าและเศรษฐกิจแหลกทั้ง APEC CPTPP ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังอย่างชัดแจ้ง และเข้าทำสัญญาทวิภาคีเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจำนวนมาก ฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาอย่างมากมาย

ระยะทางจากบินห์เยืองเข้ามายังนครโฮจิมินห์ ห่างกันราว 50 กิโลเมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยห้องแถวค้าขาย แทบจะไม่มีที่ว่างเปล่ามาคั่นเลย

ยิ่งนั่งรถมาตอนกลางคืน ยิ่งเห็นบรรยากาศร้านรวงที่ค้าขายกันคึกคัก ขายกันสารพัดทั้งข้าวของเครื่องใช้และอาหาร ไม่มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ให้เห็น ผู้คนตัวเล็กตัวน้อยได้กลับมาค้าขาย ได้รับอานิสงส์การฟื้นตัวหลังโควิดอย่างเต็มที่

จะกินอาหารต้องจอง ไม่จองไม่มีที่นั่ง

น่าปลื้มใจแทนคนเวียดนามนะครับ  ที่ไม่มี “มือใหญ่ ๆ” มาฮุบเอาอาชีพทำกินเขาไป ทั่วประเทศเวียดนามมี 7-eleven มาค้าขายเบียดโชห่วยท้องถิ่นอยู่แค่ 32 แห่งเท่านั้น ร้านค้าส่ง-ขายปลีกอย่างบี๊กซี-โลตัสก็ไม่มีให้เห็น

อย่างนี้สิครับ ยามเศรษฐกิจฟื้นตัว “คนตัวเล็ก” ก็ได้รับโอกาสฟื้นตัวด้วย ไม่ใช่พอเศรษฐกิจฟื้น “ทุนใหญ่” เอาไปกินหมดเหมือนบางประเทศ

คนตัวเล็กเวียดนามฟื้นจากโควิดเต็มตัวแล้วครับ พร้อมกับการก้าวสู่อนาคตอันสดใสเรืองรองอยู่ข้างหน้า

Back to top button