‘ปราสาททองโอสถ’ เฉือนหุ้นเพิ่มฟรีโฟลต ONEE

หุ้น ONEE ดิ่งลง 6.45% ในการซื้อขายวันที่ 14 ธ.ค.65 หลังปรากฏข้อมูล ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ขายหุ้นออกมาในสัดส่วน 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว


เส้นทางนักลงทุน

หุ้นบมจ.เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) ดิ่งลง 6.45% ในการซื้อขายเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ภายหลังปรากฏข้อมูล “แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ” กรรมการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ONEE ขายหุ้นสามัญจำนวน 357,000,000 หุ้น สัดส่วน 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทออกมา

โดยขายให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัดแบบข้ามคืน (Overnight Private Placement) รวมถึงผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ ผู้ลงทุนประเภทบุคคลธรรมดา และ/หรือนิติบุคคลโดยเฉพาะเจาะจง จำนวนไม่เกิน 50 ราย ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในราคา 8.50 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาบนกระดานหลักที่ปิดทำการซื้อขายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ณ ระดับราคา 9.30 บาทต่อหุ้น

ให้เหตุผลในการขายหุ้นราคาต่ำว่า กำหนดโดยวิธีการสำรวจความต้องการการซื้อหลักทรัพย์กับผู้ลงทุนประเภทสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Bookbuilding) คิดเป็นมูลค่ารายการเท่ากับ 3,034.5 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Placement Agent)

แพทย์หญิงปรมาภรณ์ เป็นลูกสาวของ “นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งเป็นเศรษฐีหุ้นไทยประจำปี 2565 อันดับ 3 โดยถือครองหุ้นมูลค่ารวม 62,735.68 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 4,517.85 ล้านบาท หรือ 7.76%

หุ้นที่ถือครองประกอบด้วย บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) เจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาล อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, พญาไท, เปาโล ในสัดส่วน 12.77% และ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เจ้าของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส 11.38%

ขณะที่ แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ติดทำเนียบเศรษฐีหุ้นไทย อันดับ 6 นั่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม 1 ใน BDMS โดยถือหุ้นในสัดส่วน 5.08% และ BA 6.49% รวมทั้งยังถือหุ้นใน ONEE จนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 35,001.87 ล้านบาท รวยเพิ่มขึ้น 20,950.06 ล้านบาท หรือ 149.09% ส่งเสริมความเป็นเศรษฐีให้ขยับขึ้นจากอันดับ 21 เมื่อปีที่แล้ว

ONEE เป็นหุ้นน้องใหม่ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งก่อนหน้านี้แพทย์หญิงปรมาภรณ์ ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 1 ในสัดส่วน 40.04% หรือจำนวน 953,500,000 หุ้น

ส่วนผู้ถือหุ้นรอง ๆ ลงมาอีก 4 ลำดับ ประกอบด้วย บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) 595,774,850 หุ้น สัดส่วน 25.02% บริษัท ซีเนริโอ จำกัด 201,722,000 หุ้น สัดส่วน 8.47%, ถกลเกียรติ วีรวรรณ 104,072,000 หุ้น สัดส่วน 4.37% และบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 37,774,059 หุ้น เท่ากับ 1.59%

ภายหลังการขายหุ้นออกครั้งนี้ แพทย์หญิงปรมาภรณ์จะมีสัดส่วนการถือหุ้นลดลงเหลือ 25% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัท ซึ่งจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด และเป็นกรรมการของ ONEE ต่อไป โครงสร้างการบริหารจัดการและนโยบายในการดำเนินธุรกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

แต่สาเหตุที่ยอมตัดขายหุ้นออกในครั้งนี้ เพราะต้องการให้ฐานผู้ลงทุนประเภทสถาบันและผู้ถือหุ้นรายย่อยของ ONEE มีการกระจายตัวมากยิ่งขึ้น ทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือฟรีโฟลต (Free Float) เพิ่มขึ้นจากเดิม 21% เป็น 36%

การเปิดเมือง ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตร่วมกับโควิด ทำให้ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาเติบโต แต่สำหรับโฆษณาสื่อโทรทัศน์ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อและกําลังการบริโภคที่ลดลงของภาคครัวเรือน ส่งผลให้สื่อโฆษณาโทรทัศน์สะสม ณ 9 เดือนแรก ปี 2565 นี้เติบโตเล็กน้อยเพียง 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน

ส่วนเม็ดเงินโฆษณา ภาพรวมในประเทศไทยสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากมูลค่าสะสมช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.2 พันล้านบาท หรือ 9.2% ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสื่อโรงภาพยนตร์ สื่อในระบบขนส่ง สื่อในอาคารและสื่อกลางแจ้ง

ภาพรวมเรตติ้งไพรม์ไทม์สะสมเฉลี่ยเดือนมกราคม-กันยายน 2565 ของช่อง one31 อยู่ที่ 2.481 ทำได้เพียงรักษาอันดับสถานีโทรทัศน์อันดับที่ 21 ส่วนเรตติ้งช่วงเวลากลางวันเฉลี่ยเดือนมกราคม-กันยายน 2565 อยู่ที่ 0.951 เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับที่ 31 ของอุตสาหกรรม

สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 ONEE มีรายได้รวม 1,655.0 ล้านบาท และมีกําไรสุทธิ 164.0 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 546.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.3% แต่กำไรสุทธิลดลง 3.9 ล้านบาท หรือลดลง 2.3% สาเหตุหลักมาจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การกลับมาใช้ชีวิตตามปกติทำให้ ONEE ยังมีรายได้จากธุรกิจอื่นเข้ามาสนับสนุน โดยเฉพาะรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและอีเวนต์ที่สามารถจัดงานได้เต็มที่ ดังนั้นรายได้จากส่วนนี้จึงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 10.3% ของรายได้รวมทั้งหมด นอกจากนี้รายได้จากธุรกิจบริหารศิลปินและการขายสินค้าอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ผู้บริหาร ONEE คาดเม็ดเงินโฆษณาในไตรมาส 4 นี้จะทรงตัวจากไตรมาสก่อน เพราะสินค้ากลุ่ม Global brand ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้านสินค้ากลุ่ม Local brand ยังมีปัจจัยกระตุ้นจากกิจกรรมบอลโลก และจะยังคงกลยุทธ์บริหารต้นทุนรับภาวะเม็ดเงินโฆษณาชะลอด้วยการลดเวลาละคร Primetime ราว 30 นาทีต่อวัน

ฐานสมาชิกแพลตฟอร์ม oneD แข็งแกร่งต่อเนื่อง Monthly Active User (MAU) ที่ 3-6 ล้านรายต่อเดือน และยอดวิว 20-40 ล้านวิวต่อเดือน โดยมุ่งหวังเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross Platform Rating) จะช่วยเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์ออกอากาศสดจะช่วยเพิ่มโอกาสปรับขึ้นค่าโฆษณา การรับชมย้อนหลังได้ยังทำให้ขายโฆษณา Tie in ได้เพิ่มขึ้น ตั้งเป้าไว้ 50% จากปัจจุบัน 30%

ด้าน OTT Platform มีแนวโน้มจ้างผลิต Original content  มากขึ้น แทนที่การซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ONEE ตั้งเป้ารายได้ Copyrigth ปี 2566 ที่ 300 ล้านบาทต่อไตรมาส ใกล้เคียงปีนี้ และหวังมีรายได้จากการรับจ้างผลิต content

ONEE มีโบรกเกอร์ถึง 9 รายแนะนำให้ “ซื้อ” ราคาอยู่ระหว่าง 11-12.80 บาท ราคาหุ้นสูงสุดในรอบ 1 ปี เคยวิ่งไปถึง 13.10 บาท และเคยทำสถิติต่ำสุด 8.85 บาท แต่ล่าสุดราคาหุ้นทรุดไปทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ 8.70 บาท ไม่ขานรับการตัดสินใจขายหุ้นของผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อเพิ่มฟรีโฟลตเลย

Back to top button