พาราสาวะถีอรชุน

กรณีนักวิชาการมหาวิทยาลัยทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300 คนร่วมกันลงชื่อยื่นข้อเรียกร้อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน” ให้คสช.หยุดคุกคามคณาจารย์ นักศึกษาและการเรียนการสอนนั้น คงไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากตำรวจออกหมายเรียก 6 นักวิชาการที่ร่วมกันแถลงข่าวออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา


กรณีนักวิชาการมหาวิทยาลัยทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 300 คนร่วมกันลงชื่อยื่นข้อเรียกร้อง “มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน” ให้คสช.หยุดคุกคามคณาจารย์ นักศึกษาและการเรียนการสอนนั้น คงไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากตำรวจออกหมายเรียก 6 นักวิชาการที่ร่วมกันแถลงข่าวออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

 ข้อเสนอของนักวิชาการจำนวนกว่า 300 คนนั้นมีอยู่ 3 ประการด้วยกันคือ หยุดข่มขู่คุกคามคณาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยบริสุทธิ์ใจ หยุดสั่งห้ามและคุกคามนักศึกษา รวมทั้งประชาชนที่จัดกิจกรรมทางการเมือง และ หยุดแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยให้มีแนวทางหรือเนื้อหาวิชาตามที่คสช. ต้องการ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือคำอธิบายในแถลงการณ์ที่ ยืนยันเรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร หากแต่เป็นสถานที่แสวงหาความรู้ แลกเปลี่ยนถกเถียงกันบนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง นำมาซึ่งความรู้ใหม่ เพิ่มพูนสติปัญญาไปรับรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไปและแก้ไขปัญหาของประเทศ เสรีภาพในการแสวงหาความรู้และแสดงความคิดเห็นจึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและสังคม
 เช่นเดียวกับการยืนยันว่าประเทศไทยไม่ใช่ค่ายกักกัน ประชาชนไทยมีความหลากหลายทางความเชื่อและความคิดทางการเมือง หนทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้คือ เสรีภาพในความเชื่อและการแสดงความคิดเห็นด้วยหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง
การปฏิบัติต่อประชาชนไทยประดุจผู้ถูกกักกันด้วยการปลูกฝังอุดมการณ์หรือความเชื่อหนึ่งๆ เพื่อครอบงำสังคมทั้งหมดภายใต้โครงสร้างอำนาจของคนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการปิดหูปิดตา บังคับข่มขู่ คุกคามด้วยอำนาจกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้ผู้เห็นต่างยุติการแสดงความคิดเห็นมีแต่จะนำมาซึ่งความขัดแย้งมากขึ้น และไม่สามารถนำสังคมไทยไปสู่ความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและสันติสุขได้
โดยข้อเรียกร้องของนักวิชาการกว่า 300 คนในนามเครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังนั้น ไม่ได้สักแต่ว่ายื่นแล้วจบกัน แต่มีการขีดเส้นให้พิจารณาและต้องมีคำตอบภายใน 15 วัน หากคสช.ไม่แยแส ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เครือข่ายคณาจารย์จะพิจารณาการเคลื่อนไหวในระดับที่เข้มข้นขึ้นต่อไป ตรงนี้ต่างหากที่ต้องขีดเส้นใต้
ต้องไม่ลืมว่า ไม่เพียงแต่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยนี้เท่านั้นที่แสดงความไม่พอใจต่อการออกหมายเรียก 6 นักวิชาการ แต่ยังมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 4 องค์กรก็แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมดังกล่าวด้วยเช่นนั้น อีกรายที่น่าจะมีน้ำหนักไม่น้อยนั่นก็คือ ความเห็นของ กลิน ทาวเซนต์ เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย
ที่ไปพูดในงานของสถานกงสุลสหรัฐอเมริกาประจำเชียงใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยทูตสหรัฐฯย้ำว่า อเมริกาหวังว่ารัฐบาลไทยจะเปิดพื้นที่ให้ประชาชน ประชาสังคมพูดมากกว่านี้ ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลไทยก็ยืนยันว่าจะไม่มีการจับหรือควบคุมคนไม่ให้พูดหรือจับคนที่มาชุมนุม การเคารพเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการชุมนุมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
ไม่เพียงเท่านั้นเดวีส์ยังย้ำด้วยว่า สิ่งที่พูดมาทั้งหมดเป็นสิทธิที่รัฐบาลไทยได้เซ็นให้การรับรองไว้กับสหประชาชาติหรือยูเอ็น เหตุการณ์ที่ออกหมายเรียกนักวิชาการสร้างความกังวลใจให้กับสหรัฐฯอย่างมาก สิทธิในการพูดหรือแสดงออก รวมถึงเสรีภาพในการชุมนุม จะทำให้เมืองไทยเข้มแข็ง เมื่อผู้คนสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันจะส่งผลต่ออนาคตของประเทศ
แต่ดูเหมือนว่าผู้บังคับใช้กฎหมายจะไม่ได้คิดเช่นนั้น ซึ่งความเห็นของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในวงเสวนา “กฎหมายคืออะไร มุมมองทางนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญา” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีบางมุมที่น่าจะเข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความหมายของคำว่ากฎหมาย
อย่างแรกคือ ต้องกระชับและชัดเจน ชัดเจนในความหมายว่า ทำอะไรแล้วผิด กฎหมายจะอาศัยวิจารณญาณส่วนตัวของผู้บังคับใช้กฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ไม่ถึงขนาดเป็นศูนย์แต่ทุกคนต้องรู้ว่า “ทำแบบนี้ผิด” ถ้าไม่ชัดเจนว่า “พูดแบบนี้แล้วจะทำให้คนแตกแยกหรือเปล่าวะ” ถ้าแบบนี้ทำให้คนไม่กล้าพูด เพราะฉะนั้นกฎหมายกับเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน
ถ้าคุณทำให้กฎหมายไม่ชัด คุณก็ไปลิดรอนเสรีภาพของคนที่ไม่เข้าใจว่าทำอะไรแล้วผิดไปพร้อมๆ กัน สิ่งสำคัญที่หลายคนน่าจะเห็นพ้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง 10 กว่าปีที่ผ่านมาก็คือ กฎหมายต้องถูกบังคับใช้โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างยิ่ง เพราะเหตุผลที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่กฎหมายไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเสมอภาค เท่ากับคุณให้อำนาจการใช้กฎหมายแก่คนบางคนเท่านั้น
นั่นหมายความว่า ทำให้คำสั่งเหล่านั้นเป็นกฎหมายไม่ได้ เพราะเท่ากับใครกำปั้นใหญ่คนนั้นก็สามารถชี้ได้ว่าใครผิดใครถูกตลอดเวลา แน่นอนว่าคำสั่งจะเป็นกฎหมายได้ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรม คำถามที่ทิ้งไว้คือ ภายใต้ระบอบการปกครองที่ไม่ได้ให้ความเคารพต่อกฎหมายคือเคารพต่อคำสั่ง แล้วใช้คำสั่งในทางที่ไม่เป็นในทางกฎหมายนี้ เราจะทำอย่างไร เราจะอยู่กันได้อย่างไร
อาจารย์นิธิจึงมีข้อเสนอว่า หวังว่าสภาวะเช่นนี้จะเป็นสภาวะชั่วคราว วันหนึ่งก็ต้องหมดไป เพราะทุกอย่างเป็นอนิจจัง จะอยู่ได้อย่างไรตลอดไป วันหนึ่งก็ต้องหมดไป และในความเป็นจริงเราควรกลับไปดูว่า ความพังสลายของระบบกฎหมายในประเทศไทย มันไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้คณะรัฐประหารชุดนี้ จริงๆ มันเกิดสืบเนื่องมาเป็นเวลานานมากทีเดียว
จนกระทั่งว่าถ้าเรามีโอกาสคุณต้องปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไปปฏิรูปตัวอักษรที่อยู่ในหนังสือประมวลทั้งหลาย แต่หมายถึงปฏิรูปตัวระบบกฎหมายทั้งหมดศาล อัยการ ตำรวจ เรือนจำ บทสรุปเช่นนี้ของอาจารย์นิธิแม้จะไม่พูดอย่างตรงไปตรงมา แต่ก็น่าจะเป็นเหมือนที่ใครหลายๆ คนเคยพูดไว้ก่อนหน้านั้น ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองในห้วงความขัดแย้งที่ผ่านมาคือกระบวนการยุติธรรม นั่นหมายความยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิดนั่นเอง

Back to top button