รถยนต์ค่ายจีนกับไทย
งานมอเตอร์โชว์ส่งท้ายปีซึ่งเป็นจังหวะของการขายเพื่อส่งมอบรถยนต์ในต้นปีหน้า ผ่านไปหมาด ๆ ด้วยยอดจองรถที่กลับมาคึกคักเช่นเดิม
งานมอเตอร์โชว์ส่งท้ายปีซึ่งเป็นจังหวะของการขายเพื่อส่งมอบรถยนต์ในต้นปีหน้า ผ่านไปหมาด ๆ ด้วยยอดจองรถที่กลับมาคึกคักเช่นเดิม เหมือนยุคก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ด้วยบรรยากาศที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นคือยอดจองรถยนต์ไฮบริด (ทั้งแบบเดิมคือ ใช้น้ำมันผสมไฟฟ้า และ PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูป หรือ อีวี แทรกเข้ามา แทนที่รถยนต์ใช้น้ำมันอย่างเดียวที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE มากขึ้น
ภาพรวมของตลาดรถยนต์ที่สะท้อนถึงความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปรวดเร็วเช่นนี้ ทำลายข้อความโฆษณาของค่ายรถยนต์ใช้น้ำมันที่ชอบอ้างเหตุผลว่าค่าใช้จ่ายรถไฮบริดและไฟฟ้านั้นจะแพงจนไม่คุ้มค่ากับการใช้รถยนต์สันดาปภายในต่อไปโดยเฉพาะช่วงหลังจาก 8 ปีผ่านไปที่ราคายอดขายรถยนต์ไฮบริด และอีวีจะตกกราวรูดรุนแรงเพราะผู้บริโภคยอมรับว่าต้นทุนค่าเติมพลังงานในรถไฮบริดและอีวีนั้นต่ำลงในช่วง 8 ปีจนคุ้มกับความเสี่ยงของค่ารถยนต์ที่จะราคาต่ำลงไปหลังจากนั้น
ที่น่าสนใจก็คือการรุกตลาดเข้ามาของรถยนต์ไฮบริดและอีวีนั้น มีค่ายรถใหม่ที่ปรากฏตัวในฐานะผู้นำตลาดรถทางเลือกใหม่ด้วยนั้นคือค่ายรถยนต์จากจีนอย่าง GWM, MG, VOLVO, CHERY และ ล่าสุด BYD รถยนต์ค่ายจีนนี้ เข้ามาเปิดเกมรุกทางการตลาดด้วยวิธีการต่างกันไปตามความถนัดแต่ที่แน่นอนคือราคาสินค้าและคุณภาพรถยนต์ที่ไม่แพ้รถยนต์จากยุโรปและญี่ปุ่น ที่ครองเป็นเจ้าตลาดมายาวนาน
MG ของค่ายรถเซี่ยงไฮ้เจ้าเก่า เป็นค่ายรถยนต์จีนที่ซื้อแบรนด์จากอังกฤษมาสร้างใหม่ รุกมาสร้างฐานการผลิตในไทยผ่านการเป็นพันธมิตรยาวนานกับกลุ่มซีพีของไทย และเริ่มรุกการตลาดด้วยรถยนต์อีวีจนเป็นผู้นำตลาดรถราคาถูก แต่ดีไซน์และคุณภาพเหนือชั้นยึดครองส่วนแบ่งเหนียวแน่นมากขึ้น แม้ว่าจะมีเสียงค่อนแคะว่าเป็นค่ายรถที่มีเสียงบ่นของบริการหลังการขายจุกจิกมากสุดก็ตาม
GWM รุกเข้ามาด้วยการซื้อโรงงานเก่าของจีเอ็มของสหรัฐฯ ที่ถอนตัวจากไทย แล้วเร่งรุกการตลาดด้วยรถยนต์ไฮบริดชั้นยอด HAVAL-H6 ที่โดดเด่น แล้วตามด้วยรถไฟฟ้า ORA GOOD CAT ที่สั่นสะเทือนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นให้ต้องปรับกลยุทธ์รับมืออุตลุด
ตามมาด้วยการเปิดตัวอย่างงดงามของยอดขายรถยนต์จากจีน BYD ที่ใช้รุ่น ATTO-3 ผลิตในจีน เปิดตลาดด้วยยอดขายถล่มทลายนับกว่าพันคัน ด้วยทางเลือกของข้อเสนอที่ให้มากกว่าจนเกินคุ้มสำหรับรถในราคาจับต้องได้แค่ 1.2 ล้านบาท ชนิดไม่มีกั๊กแบบที่รถยนต์ค่ายยุโรปทางญี่ปุ่นต้องได้อายเลยทีเดียว ทำเอานักดริฟต์รถยนต์ชื่อดังของไทยต้องพร้อมใจกันเทคะแนนให้หมดหน้าตักกัน
เกมรุกทางการตลาดของค่ายรถจีนที่ยกตัวอย่างมานั้น ทำให้จิตสำนึกผู้บริโภคเปลี่ยนไปว่า เคยถูกค่ายรถยนต์ยุโรปและญี่ปุ่น เอารัดเอาเปรียบมานานแค่ไหนกับการโฆษณาชวนเชื่อทางการตลาด
ข้อเสนอทางเลือกของผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยจากค่ายรถจีนที่เต็มเหยียด ทำให้ผู้บริโภค “ตาสว่าง” กับสิ่งที่ค่ายรถยนต์เสนอให้ว่า สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นโบนัสของผู้บริโภคนั้น (เช่นเบรก ABS, หรือ adaptive cruise control หรือ sun roof) เอาเข้าจริงเป็นแค่มาตรฐานขั้นต้นที่จำเป็นเท่านั้น ในการขับขี่ยวดยานแบบ 4 ล้อบนท้องถนน
การรุกแทรกเข้ามาในตลาดไทยของค่ายรถนี้จึงกลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่มากกว่าการทุ่มตลาด และหากค่ายรถจีนจะทำเช่นนี้ต่อไป หากพวกเขาจะกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนตลาดรถยนต์โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากสนธิสัญญาการค้าจีน-อาเซียนที่ไม่มีภาษีระหว่างกันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
เพียงแต่ย่างก้าวความสำเร็จของค่ายรถจากจีนนั้นน่าจะทำให้ความฝันของการให้ไทยเป็น ดีทรอยต์แห่งเอเชียหดแคบลงเป็นแค่ตลาดรถยนต์รองรับจีนในทางพฤตินัยไปโดยปริยาย