Green Bond ตราสารหนี้ธุรกิจสีเขียว
การลงทุนที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของธุรกิจและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จนทำให้เกิดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน
หนึ่งในเมกะเทรนด์ว่าด้วยการลงทุนโลก..นั่นคือการลงทุนที่มุ่งเน้นความยั่งยืนของธุรกิจและให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จนทำให้เกิดตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) ประกอบด้วย ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ผู้ออกใช้ระดมทุนเพื่อดำเนินธุรกิจ ภายใต้แนวคิดเติบโตอย่างยั่งยืนดังกล่าว
โดยเฉพาะ Green Bond (ตราสารหนี้สีเขียว) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงิน ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ทั้งผู้ออกตราสารหนี้และนักลงทุนสถาบันต่าง ๆ เพื่อนำเงินไปใช้กับธุรกิจที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ทั้งโครงการพลังงานทางเลือก การบำบัดน้ำเสีย และการคมนาคมสะอาดต่าง ๆ
หลายประเทศมีการออกกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาคการผลิตและการลงทุนให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ACMF) เห็นชอบแนวทางพัฒนามาตรฐานของ ASEAN Green Bond ที่สอดคล้องทั้งภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือตราสารประเภทใหม่
สำหรับผู้ออก Green Bond มีทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชนหรือสถาบันการเงิน ที่ต้องการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนบางส่วนหรือทั้งหมดไปใช้ลงทุนหรือรีไฟแนนซ์โครงการใหม่ หรือโครงการเดิมที่เป็นโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ที่เห็นชัดคือดึงดูดนักลงทุนกลุ่มใหม่ ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม, ยกระดับภาพลักษณ์องค์กร และสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนที่สำคัญคือได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างก.ล.ต.ต่อตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม
แต่ว่า..อาจมีกระบวนการและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการออกตราสารที่สูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป..
ส่วนผู้ลงทุน Green Bond มีทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่หรือนักลงทุนทั่วไป ขึ้นอยู่กับว่า Green Bond ที่ออกมานั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ว่าจะเสนอขายให้ใครบ้าง ประโยชน์ที่เห็นชัด คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจ จากการได้รับการยกเว้นภาษี
ภาครัฐบางประเทศมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุน และความพึงพอใจจากเงินลงทุนถูกนำไปใช้ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยตรง
สำหรับประเทศไทยการออก Green Bond นับตั้งแต่ปี 2561 มีมูลค่าร่วม 200,000 ล้านบาท แม้ว่าจะคิดเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อยของมูลค่าหุ้นกู้ภาคเอกชนทั้งหมด และมากกว่า 50% ออกโดยบริษัทในกลุ่มพลังงาน
โดยมีการประเมินว่าไทยต้องการเงินลงทุนภาคพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เฉลี่ยปีละกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่ำ 25% ภายในปี 2573
ถือว่า Green Bond เป็นอีกเมกะเทรนด์โลก เพิ่มทางเลือกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ใช้ในการระดมทุน ตลอดจนเป็นทางเลือกใหม่สำหรับนักลงทุนด้วยเช่นกัน..