กฟผ.-ปตท.เครื่องมือรัฐหน้ากากคนดี

จากบั้นปลาย “รัฐบาลประยุทธ์” ที่กำลังดิ้นรนเพื่อหวังหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง นั่นทำให้การดำรงไว้ซึ่งฐานเสียงและคะแนนนิยมจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น


จากบั้นปลาย “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่กำลังดิ้นรนเพื่อหวังหวนคืนสู่อำนาจอีกครั้ง นั่นทำให้การดำรงไว้ซึ่งฐานเสียงและคะแนนนิยม (ที่พอจะมีเหลืออยู่บ้าง) จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น..แต่ด้วยวิธีการแบบการเมือง การดำรงคงไว้เพื่อคะแนนเสียง จึงต้องแทรกแซงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ แต่ขึ้นอยู่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดเท่านั้นเอง

ตัวอย่างที่ชัดเจนและเห็นอยู่ตอนนี้..คือเรื่อง “ค่าไฟ” รัฐวิสาหกิจที่ถูกแทรกแซง และใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองนั่นคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เพื่อ “ตรึงค่าไฟ” ไม่ให้กระทบฐานและคะแนนเสียงรัฐบาล

วันที่ 14 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ประจำงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 66 โดยตรึงค่าเอฟทีอยู่ที่อัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย (ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้าน) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ระดับเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมและบริการ ปรับขึ้น Ft อัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้มีค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 5.69 บาทต่อหน่วย

“การปรับขึ้น Ft รอบนี้มีการบวกรวมภาระหนี้ที่ต้องทยอยคืนให้กับกฟผ.ประมาณ 33 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่หากไม่ได้คิดรวมเงินที่ต้องทยอยคืนให้กฟผ. จะทำให้กฟผ.มีสภาพคล่องติดลบสูงสุด ประมาณ 75,000 ล้านบาท”

ด้วยความที่กฟผ.ต้องแบกรับภาระต้นทุนการจ่ายค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาล ที่สูงกว่าค่าเอฟทีที่ กกพ.เห็นชอบนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 64 -ส.ค. 65 คิดเป็นเงินสะสม 125,880 ล้านบาท มีการประเมินตัวเลขถึงเดือน ธ.ค. 65 จะสูงถึง 150,000 ล้านบาท ทำให้กฟผ.อาจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินช่วงปี 2566

แต่เรื่องนี้ยังไม่จบ!..เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งการผ่าน “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ให้ทบทวนราคาค่า Ft ให้ถูกลงกว่าเดิมที่กกพ.มีมติปรับขึ้น 190.44 สตางค์ต่อหน่วย และกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่กกพ.จะต้องดีดลูกคิดเพื่อให้ได้คำตอบในวันนี้ (28 ธ.ค. 65)

เท่านั้นไม่พอ!..ยัง “ไล่รีดรายได้และกำไร” ที่ควรจะได้ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติจากปตท.อีก 6,000 ล้านบาท ทำให้ทั้งผู้บริหารและบอร์ดบริษัท อิดหนาระอาใจไม่น้อย..ขาหนึ่งก็ “ช่วยประชาชน” อีกขาหนึ่งก็ “ย้อนแย้งธรรมาภิบาล” ตามพ.ร.บ.บริษัทมหาชนและพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ

เพราะคำตอบสุดท้าย “ปตท.ต้องจ่าย” อยู่ดี แต่จะไปสรรหาช่องหรือวิธีการอย่างไรเท่านั้นเอง..!!?

ตัวอย่างที่ปตท.ประสบมาแล้ว..ก็คือต้องเจียดงบ 3,000 ล้านบาท เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใช้ตรึงราคาน้ำมัน..เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 ที่ผ่านมา

แหละนี่คือหนึ่งบทสรุปบั้นปลายชีวิตรัฐบาล “หน้ากากคนดี” ที่ต้องการดำรงฐานเสียงเพื่อหวังกลับสู่อำนาจอีกครั้งและนี่เองทำให้รัฐมนตรีพลังงาน กลายเป็นรัฐมนตรี Power Blank อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้..จริง ๆ

Back to top button