ปีแห่งการต่อสู้ และสะสมประสบการณ์
ปลายปีของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาของการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาของนักลงทุนในตลาดทุนเสมอ
ปลายปีของทุกปีจะเป็นช่วงเวลาของการทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาของนักลงทุนในตลาดทุนเสมอ ปีที่ผ่านมา นักวิเคราะห์สายที่มองโลกสวยเสมอจะมองเห็นว่า ดัชนีจะสามารถฝ่าข้ามแนวต้าน 1,700 จุดขึ้นไปได้ และอีกฝั่งหนึ่งที่มองโลกแบบดร.ดูม ก็จะมองว่าปีนี้จะเป็นการเผาจริง หลังจากปีที่ผ่านมาเป็นการเผาหลอก
จากประสบการณ์ที่ผ่านไปตลอดทั้งปีนี้ เราจะเห็นได้ว่าข้อสรุปของนักวิเคราะห์ทั้งสายโลกสวยและสายทุบแบบ ดร.ดูม ล้วนมีจุดอ่อนทั้งสิ้น เนื่องจากการเผาจริงกลับเกิดขึ้นเพียงบางส่วน และหุ้นประเภทโลกสวยก็ยังมีเกลื่อนตลาด
ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ที่กำลังจะผ่านไป เราได้เห็นดัชนีของตลาดหุ้นไทย หรือ SET วิ่งในกรอบระหว่าง 1,650-1,580 จุด โดยหุ้นกลุ่มที่พลิกผันมากสุดคือกลุ่มพลังงานที่สามารถจำแนกได้ว่าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่อิงตามราคาน้ำมันปิโตรเลียมที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาสที่สามของปี ช่วยประคองดัชนีของตลาดไม่ให้หลุดลงไปใต้ดัชนีต่ำสุดอันเป็นแนวรับสำคัญคือ 1,580 จุด แต่ก็กดดันจากภาวะภาพรวมของตลาดจากการที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์มีราคาย่ำแย่ลงจากผลประกอบการที่ย่ำแย่ลงโดยภาพรวม แม้ว่าบางรายอย่างเจ้าตลาดอย่างกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะยังคงมีกำไรเพิ่มขึ้นในทุกสถานการณ์จากกลยุทธ์อันหลากหลายไร้เทียมทาน
สำหรับกลุ่มธนาคาร และการเงินจะยังคงมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่สะท้อนถึงการฟื้นตัวต่อเนื่องจนทำให้ราคาบนกระดานส่วนใหญ่ มีค่าต่ำกว่าบุ๊กแวลูยาวนานที่สุดช่วงหนึ่ง
นอกจากนั้นมูลค่าการซื้อขายประจำวันของตลาดหุ้นไทย ที่มีมูลค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับ 4.3 หมื่นล้านบาทต่อวัน ก็ถือได้ว่าห่างไกลจากคำว่าตลาดวาย ตัวที่ชัดเจน
ความแข็งแกร่งของตลาดทุนไทยที่สามารถออกผลิตภัณฑ์หลากหลาย โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่ยังคงคึกคักตลอดทั้งปีและยังมีการออกขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างคึกคัก แม้ว่าจะยังมีลักษณะดิบเถื่อนแบบหนังคาวบอย ที่คนเอาปืนสั้นและยาวมายิงกันอย่างเปิดเผยโจ๋งครึ่มก็ตาม
ถึงแม้ว่าสถานการณ์ของตลาดเก็งกำไรทั่วโลกจะเอื้ออำนวยให้ภาวะตลาดอยู่ในช่วงขาลงมากกว่าขึ้น เนื่องจากเงินเฟ้อที่ถูกบิดเบือนโดยเฟดฯ ให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญยังดำเนินต่อไปจาก ปีนี้จนถึงช่วงกลางปี 2566 ที่กดดันในฐานะปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ จากค่าสกุลเงินที่ผันผวนรุนแรงให้ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง อันเป็นตัวแปรหลักที่ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากต้องบันทึกตัวเลขการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่ตัวแปรที่น่าตื่นตระหนก แต่ว่า unrealized loss การบันทึกทางตัวเลข กดดันต่อราคาหุ้นในตลาดไม่สามารถเกิดสภาพที่รู้จักและเรียกว่า break out ทะลุแนวต้านขึ้นไปได้
ภาวะของตลาดหุ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีบ่งบอกว่ายุคของการแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นไป และตัวเลขยอดจองรถยนต์ในงานเลหลังยอดขายท้ายปี (แม้ว่าจะเปี่ยมด้วยมายาของนักปั่นตัวเลขจนไม่สมจริง ก็ถือว่าจุดต่ำสุดของตัวเลขสถิติต่าง ๆ) ยังคงสะท้อนภาพขาขึ้นของกำลังซื้อในตลาดสินค้าและบริการ
ภาวะเงินเฟ้อเกินจริงหรือ stagflation ในตลาดสินค้าพื้นฐานเช่นราคาน้ำมันดิบ ราคาปุ๋ย และเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร ก็ตอกย้ำถึงการฟื้นตัวอย่างสมมาตรของตลาด น่าจะบ่งชี้ทิศทางของตลาดหุ้นว่าการพลิกตัวของดัชนีตลาดหุ้นจะต้องเกิดขึ้นในปี 2566 แน่นอน แต่จะทะลุแนวต้านขึ้นไปเหนือ 1,700 จุดได้หรือไม่ยังคงต้องประเมิน อีกครั้ง
ลาทีปี 2565 อันน่าอึดอัด…