พาราสาวะถีอรชุน
ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ไม่ใช่เรื่องที่ห้ามสื่อขยายผลเหมือนอย่างที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอร้องแกมบังคับในวันแถลงข่าวหลังการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพราะสื่อคงไม่ใช่เครื่องมือของคนฝ่ายหนึ่งพวกใด หากแต่ยืนหยัดในกระบวนการตรวจสอบอันเป็นภารกิจที่สำคัญ เมื่อพบความไม่ชอบมาพากลย่อมทำหน้าที่สืบค้นเพื่อหาความจริงให้กระจ่างชัด
ทุจริตอุทยานราชภักดิ์ไม่ใช่เรื่องที่ห้ามสื่อขยายผลเหมือนอย่างที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขอร้องแกมบังคับในวันแถลงข่าวหลังการประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพราะสื่อคงไม่ใช่เครื่องมือของคนฝ่ายหนึ่งพวกใด หากแต่ยืนหยัดในกระบวนการตรวจสอบอันเป็นภารกิจที่สำคัญ เมื่อพบความไม่ชอบมาพากลย่อมทำหน้าที่สืบค้นเพื่อหาความจริงให้กระจ่างชัด
ถามว่าวันนี้จะมีปัญหาอะไรบานปลาย จนถึงขั้นที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องสั่ง พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านั้นยืนยันกระต่ายขาเดียวมาโดยตลอด ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของกองทัพบกไม่เกี่ยวกับรัฐบาลและหน่วยงานอื่น
นั่นคงเป็นเพราะคาดหวังว่าหลังจากถ้อยแถลงของ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.แล้วทุกอย่างคงจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ปรากฏว่ากลับเป็นเรื่องตรงข้าม เมื่อการแถลงปากเปล่าไม่มีเอกสาร หลักฐานใดๆ มายืนยัน เมื่อไม่อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ ขาดหลักการของเหตุและผล ก็ยากที่จะทำให้คนเชื่อ เพราะมันไม่ง่ายเหมือนสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชาซ้ายหันขวาหัน
ความจริงเรื่องนี้จะไม่มีอะไรยืดยาวหากผบ.ทบ.ตั้งโต๊ะแจกแจงรายละเอียดให้ชัด ที่บอกว่าทั้งหมดดำเนินการโดยเงินบริจาคนั้น รับบริจาคกันมาเท่าไหร่ ใช้ซื้อใช้จ้างอะไรไปบ้าง คงไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัส เนื่องจากที่ดินกว่า 200 ไร่นั้นไม่ได้ซื้อเป็นของกองทัพบกอยู่แล้ว แค่อธิบายว่าซื้อต้นปาล์มมาราคาเท่าไหร่หรือใครบริจาคให้ ค่าหล่อพระบรมรูปบูรพกษัตริย์เป็นเงินเท่าไหร่หรือใครบริจาคให้
เช่นเดียวกับรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ไม่เชื่อว่ากองทัพบกไม่มีคนทำบัญชี โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ว่าสื่อหรือใครก็ตามที่เกาะติดเรื่องนี้จะทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อโครงการ หากแต่พวกที่หาเศษหาเลยกับโครงการนี้ต่างหากที่ทำลายศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการดำเนินโครงการนี้
ความวัวไม่ทันหายความใหม่ก็เข้ามาแทรกกับการที่ตำรวจออกหมายเรียกนักวิชาการ 6 คนที่ร่วมแถลงข่าวแถลงการณ์มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร จนทำให้เครือข่ายนักวิชาการผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขังจำนวน 323 คนต้องไปยื่นหนังสือร้องต่อบิ๊กตู่ให้เลิกคุกคามสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการ ล่าสุดก็มีแถลงการณ์ของเครือข่ายนักวิชาการต่างประเทศเรียกร้องในเรื่องเดียวกัน
กลุ่มนักวิชาการดังกล่าวคือเครือข่ายนักวิชาการในภาวะเสี่ยงหรือ Scholars at Risk Network หรือ SAR ได้ส่งหนังสือเปิดผนึกถึงหัวหน้าคสช.ให้อธิบายถึงกรณีการออกหมายเรียกกับกลุ่มอาจารย์ทั้ง 6 คน หากพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถให้คำอธิบายที่สมเหตุผลได้ SAR จะถือว่านักวิชาการกลุ่มนี้กำลังถูกละเมิดสิทธิจากการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงอออกและเสรีภาพทางวิชาการ
พร้อมกันนี้ยังมีการเรียกร้องให้หัวหน้าคสช.หยุดการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อกลุ่มอาจารย์เหล่านี้ และให้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพของประเทศ โดย SAR เป็นเครือข่ายนักวิชาการระดับนานาชาติจากกว่า 400 มหาวิทยาลัย ใน 39 ประเทศ มีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ หากมีกรณีที่นักวิชาการถูกละเมิดจะมีการดำเนินการในลักษณะต่างๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา
แต่ดูเหมือนว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายนักวิชาการต่างประเทศน่าจะเป็นหมัน เนื่องจากคำให้สัมภาษณ์ของบิ๊กตู่เมื่อวันอังคารดูจะสวนทางกับสิ่งที่เรียกร้องกันอย่างสิ้นเชิง โดยระบุว่า “การเคลื่อนไหวถ้า ไม่กลัวกฎหมายก็ตามใจ ประชาชนเคลื่อนไหวตามเขาก็เดือดร้อนไปก็ตามใจ และใครหาปืนมายิงหาระเบิดมาปาใส่ก็ตามใจ ก็ตายกันไปแล้วกัน แต่ผมไม่ทำอยู่แล้ว”
ไม่รู้ว่าเข้าข่ายการข่มขู่ คุกคามหรือไม่ ทว่านักวิชาการที่ถูกออกหมายเรียกทั้งหมดได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะทำคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทางตำรวจภายใน 30 วันหลังจากที่เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน พร้อมๆ กับออกแถลงการณ์ยืนยันมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารอีกหนึ่งฉบับ เพื่อย้ำถึงสิทธิและเสรีภาพทางวิชาการในรั้วมหาวิทยาลัย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังระบุด้วยว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมิใช่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่มหาวิทยาลัยเท่านั้น พลเมืองทุกคนในสังคมย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากในห้วงเวลาปัจจุบันมีการดำเนินนโยบายของรัฐ การร่างรัฐธรรมนูญ การบัญญัติกฎหมาย ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคมทุกคนจึงย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินการต่างๆ เหล่านั้น
การคุกคามหรือปิดกั้นเสรีภาพของบุคคลใดๆ เป็นเพียงการกดทับปัญหาเอาไว้ มิได้ช่วยให้เกิดการแก้ไขปัญหา ตลอดจนความขัดแย้งในสังคมอย่างแท้จริง จึงยืนยันว่าเสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและมิใช่เพียงสำหรับผู้ประกอบอาชีพอาจารย์เท่านั้น เพราะไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ไม่ใช่ค่ายทหาร หากแต่สังคมไทยก็ไม่ใช่ค่ายทหารเช่นเดียวกัน ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของทุกคนและทุกฝ่ายจึงต้องได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาคและทัดเทียมกัน
ทว่าเมื่อฟังความเห็นของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในมุมมองที่เกี่ยวกับกฎหมายแล้ว ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อย เพราะในรัฐสมัยใหม่นั้น สำนักกฎหมายธรรมชาติระบุว่ากฎหมายมีภารกิจปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม แต่สำนักกฎหมายบ้านเมืองกลับมองว่าแม้กฎหมายจะเลวแค่ไหนก็ตามก็คือกฎหมาย
นั้นสะท้อนว่ากฎหมายภายใต้ระบอบประชาธิปไตยกับกฎหมายภายใต้ระบอบเผด็จการก็คือกฎหมายเหมือนกัน แต่จะถูกต้องชอบธรรมเป็นคนละมุมมองของแต่ละสังคม ผู้มีอำนาจถือว่าตัวเองมีอำนาจชอบธรรมตามกฎหมาย เพราะตัวเองสถาปนาขึ้นเองหรือตรากฎหมายที่ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะบังคับใช้อย่างไรก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการใช้ตรรกะวิบัติหรือตรรกะวิปริตเหมือนอย่างที่ใบตองแห้งว่าไว้เนื่องจากสิ่งที่เป็นอยู่เป็นการใช้อำนาจเป็นความชอบธรรมไม่ใช่ใช้ความชอบธรรมเป็นอำนาจ