PTG ปั๊มธุรกิจการแพทย์

ที่ผ่านมาเรารู้จัก บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี หรือ PTG ในฐานะหุ้นปั๊มที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจการขายน้ำมัน ผ่านปั๊มน้ำมันแบรนด์ “พีที” (PT)


ที่ผ่านมาเรารู้จักบริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ในฐานะหุ้นปั๊มที่ก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจการขายน้ำมัน ผ่านปั๊มน้ำมันแบรนด์ “พีที” (PT)…

ผลประกอบการช่วงก่อนหน้านี้ก็เติบโตดีอยู่นะ เพิ่งมาสะดุดเมื่อปี 2564 ที่กำไรลดลงเหลือ 1,006 ล้านบาท จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 1,894 ล้านบาท รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ ทั้งเรื่องให้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และการปรับลดค่าการตลาด…

ขณะที่ งวด 9 เดือนแรกปี 2565 ตุนกำไรสุทธิไว้แล้ว 951 ล้านบาท จากรายได้รวม 130,447 ล้านบาท

แต่น่าเสียดายที่อัตรากำไรสุทธิบางเฉียบ บางปีไม่ถึง 1% เสียด้วยซ้ำ..!!

PTG รู้ถึงจุดอ่อนตรงนี้ดี ก็พยายามแก้เกมธุรกิจด้วยการหันไปรุกธุรกิจ Non-oil มากขึ้น ผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปั๊ม PT…

ทำให้ปัจจุบันในปั๊ม PT จะเห็นบางสาขามีร้านกาแฟพันธุ์ไทย บางสาขามีร้านคอฟฟี่เวิลด์ มีร้านข้าวแกงครัวบ้านจิตร ร้านสะดวกซื้อ Max Mart ศูนย์ซ่อมแซม Autobacs เป็นต้น

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ PTG คือการส่ง MAX Ventures เข้าร่วมลงทุนในบริษัท อรินแคร์ จำกัด (ARINCARE) สตาร์ตอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มร้านขายยาออนไลน์สำหรับเภสัชกรและร้านขายยา ผ่านการระดมทุน Series B มูลค่า 4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีกลุ่มบริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน) หรือ CHG เป็นผู้ร่วมลงทุนหลัก ถือหุ้น 35% ส่วน PTG ถือหุ้น 10% เพื่อลงทุนใน Health Tech

หลังจากก่อนหน้านี้ PTG ชิมลางใช้แพลตฟอร์ม ARINCARE ในการบริหารร้านยา NEXX Pharma ซึ่งให้บริการทั้งจำหน่ายยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์การแพทย์ แล้วเห็นว่าเป็นแพลตฟอร์มที่น่าสนใจ

ก็ถือเป็นการเติมพอร์ต Non-oil ด้วยการปั๊มธุรกิจการแพทย์นั่นเอง..!!

โดยเบื้องต้นจะเป็นการสร้างแวลูให้กับปั๊ม PT ผ่านบัตร MAX การ์ดกว่า 19 ล้านราย ซึ่งสามารถใช้แต้มเป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าจากเครือข่ายร้านขายยาที่ใช้ระบบ ARINCARE ทั่วไทย

ถัดมาสามารถใช้ปั๊ม PT และร้านกาแฟพันธุ์ไทย ที่มีจุดให้บริการรวมกว่า 3,000 จุด ในการส่งมอบสินค้าและบริการของเครือข่ายร้านขายยาที่ใช้ระบบ ARINCARE

ส่วนระยะยาวก็จะรับรู้รายได้และกำไรของ ARINCARE ตามการเติบโตของธุรกิจร้านขายยา ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์

อ้อ…ที่เห็นผลประกอบการของ ARINCARE ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยังมีตัวเลขขาดทุน โดยปี 2561 มีรายได้รวม 2.90 ล้านบาท ขาดทุน 4.90 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้รวม 14.35 ล้านบาท ขาดทุน 8.06 ล้านบาท และปี 2564 มีรายได้รวม 41.04 ล้านบาท ขาดทุน 12.50 ล้านบาท…ก็อย่าเพิ่งตกใจไปล่ะ เพราะยังอยู่ในช่วงก่อร่างสร้างตัว ซึ่งเป็นเรื่องปกติของธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่ระยะเริ่มต้นมักมีผลประกอบการขาดทุน

แต่ถ้าสังเกต จะเห็นว่ารายได้ของ ARINCARE เพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนถึงโอกาสในการเติบโต นั่นแปลว่าเมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง ARINCARE ก็คงสะกดกำไรได้ไม่ยากเย็นนัก เมื่อถึงตอนนั้นก็คงปั๊มรายได้และกำไรให้กับ PTG ได้ละมั้ง..!?

แค่ว่าตอนนี้ PTG คงต้องรออดเปรี้ยวไว้กินหวานก่อน..!!

ใช่ปะคะ “เสี่ยพิทักษ์ รัชกิจประการ” ขาาา…

…อิ อิ อิ…

Back to top button