BCP และ ESSO
ข่าวเรื่องกรณีที่ BCP ทุ่มทุนเพื่อเอาเงินกว่า 3 หมื่นกว่าล้านบาทไปซื้อกิจการของ ESSO จากเอ็กซอนโมบิลของอเมริกาที่ต้องการถอนตัวจากไทยสิ้นเชิง
ข่าวเรื่องกรณีที่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ทุ่มทุนเพื่อเอาเงินกว่า 3 หมื่นกว่าล้านบาทไปซื้อกิจการของ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO จากเอ็กซอนโมบิลของอเมริกาที่ต้องการถอนตัวจากไทยสิ้นเชิง
ในเชิงยุทธศาสตร์ อาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเสียงตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหมาะสมหรือคุ้มค่าของดีลดังกล่าว ผมจึงขอมีส่วนร่วมในกระบวนการซื้อขายหุ้นดังกล่าวโดยแบ่งแยกเรื่องพิจารณาออกเป็นสองหัวข้อคือ ในทางยุทธศาสตร์ของลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจ และประเด็นของการเงินบริษัท
ทั้งสองหัวข้อต้องแยกแยะและวางน้ำหนักให้เหมาะสมเพื่อป้องกันความสับสน
ในทางยุทธศาสตร์ ควรจะซื้อหุ้นดังกล่าวอย่างยิ่งยวด ที่ผ่านมาถือว่าล่าช้าเกินไปด้วยซ้ำ แถมยังซื้อได้ราคาสุดแสนดีอีกเพราะคนอยากขายเขาไม่ต้องการแล้ว ขายยกกระทั่งที่ตัวโรงกลั่น แฟรนไชส์ธุรกิจค้าปลีกแล้วไม่มีใครที่จะเหมาะสมเท่ากับ BCP อีกแล้ว
ไม่ใช่เพราะว่ากรรมการผู้จัดการหรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารอย่างนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช หรือพี่ตู๋จะรู้จักกับผมดีแค่ไหนเพราะผมเรียนรุ่นเดียวกันกับพี่ตู๋ที่วพน.10 หรือไม่หรอกนะครับ
การที่ BCP จะต้องเข้าซื้อหุ้นของ ESSO เพราะเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่จำเป็นต้องลงมือกระทำครับ เนื่องจากการถือกำเนิดขึ้นของ BCP ที่เกิดขึ้นมาโดยนายทหารจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เนื่องมาจากความรู้สึกอัดอั้นตันใจจากการทนเห็นคนไทยถูกปู้ยี่ปู้ยำข่มขืนใจจาก 3 บริษัทน้ำมันต่างชาติจากยุโรป และอยู่เหนือสังคมไทยยาวนานจนกระทั่งเมื่อมีการก่อตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ (ในทางปฏิบัติ) คือ การปิโตรเลียมแห่งชาติ (ปตท.) ในปี 2521 นั่นเอง
สำหรับจอมพลสฤษดิ์นั้นหากไม่พูดถึงเรื่องราวของการฉ้อฉลสารพัดแล้วในการก่อตั้งบางจากหรือ BCP ต้องยอมรับเลยว่าชาตินิยมของจอมพลผ้าขาวม้าแดงนี้ เขาคือนายทหารที่มีจิตใจชาตินิยมอันกล้าหาญยิ่งนัก
ก่อนหน้าจะมี BCP น้ำมันของประเทศไทย มี 3 บริษัทต่างชาติร่วมกันผูกขาดธุรกิจค้าปลีกน้ำมันแค่ 3 รายคือเชลล์เอสโซ่และคาลเท็กซ์โดยเน้นที่การนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์เป็นหลัก (ราคาอ้างอิงสิงคโปร์นั่นละคือต้นแบบของวิธีคิดอันล้าหลัง)
ในช่วงสงครามเอเชียบูรพา ทั้งสามรายได้ถูกยึดกิจการ แต่ตัวแทนของต่างชาติน้ำมันกลับมายึดครองตลาดน้ำมันอย่างเบ็ดเสร็จ หลังสงครามสิ้นสุดลง โดยกำหดในเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องกำหนดให้ บริษัทท้องถิ่นคิดจะค้าน้ำมันจะต้องซื้อจากทั้งสามราย และห้ามการน้ำเข้าเอง
ความอัดอั้นตันใจทำให้จอมพลสฤษดิ์คิดหาทางตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันแห่งแรกขึ้นมา โดยบางจากปิโตรเลียม ได้กลายเป็นโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทย แต่บางจากก็ไม่สามารถขายน้ำมันเอง ต้องออกมาเป็นว่าแบรนด์ “สามทหาร” จะกลายเป็นแบรนด์รอง มีไว้สำหรับหน่วยงานทหารและรัฐอื่นในวงจำกัด ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับแบรนด์นอก (ที่สามารถใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบบนักบุญคนบาปได้แนบเนียน)
บางจากช่วงหนึ่งถึงกับยอมตนให้ทุนสิงค์โปร์ของ ซี เจ ฮวง (เรียกว่ากลุ่มซัมมิท) เข้ามาเช่า
โรงกลั่นไปหาประโยชน์ก่อนถูกยกเลิกไปเพราะฤทธิ์ทหารยังเติร์ก ก่อนที่โสภณ สุภาพงษ์ จะเข้ามาบีบน้ำตา สร้างตำนานค้าปลีกให้บางจากเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง ที่ทำให้วงการน้ำมันต้องปรับปรุงตัวครั้งใหญ่หลังปี 2541
วิกฤตต้มยำกุ้งที่นำธุรกิจมีปัญหาการเงินจนกระทั่งพบทางออกที่ในที่สุดทำให้นักการเงินอย่างนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ให้ BCP หลุดพ้นจากสถานะรัฐวิสาหกิจกลายเป็นบริษัทเอกชนธรรมดา ด้วยฝีมือของนายชัยวัฒน์ ที่บางจากยุคใหม่กลายเป็นบริษัทและหุ้นที่โดดเด่นที่ทั้งเติบโตและกำไร (ไม่นับการขาดทุนเมื่อสองปีก่อนจากพิษโควิด-19 เพียงปีเดียว) แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าค่าการกลั่นของโรงกลั่นบางจากนั้นต่ำที่สุด
สำหรับดีลที่เกิดขึ้น การใช้เงินในจังหวะที่สามารถถอนแรงบาปที่ยักษ์น้ำมันข้ามชาติอย่างเอ็กซอนโมบิล เคยกระทำชำเราสังคมไทยยาวนานถือเป็นภารกิจที่เด่นมากของ BCP ครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องยกย่องชมเชยอย่างจริงใจ
ส่วนการซื้อขายด้วยราคาที่ต่ำเกินคาดจึงเป็นแง่มุมทางเทคนิคที่ลดความสำคัญของดีลลงไป
สำหรับการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์นั้นน่าจะทำพอเป็นพิธีและเชื่อว่าน่าจะไม่มีคนที่ถือ ESSO ยอมขายขาดทุนออกมาสู้ทยอยขายเมื่อราคาเข้าสู่ช่วงที่ขาดทุนต่ำกว่านี้หรือมีกำไรหากราคาขยับขึ้นไปเท่าเดิมในอนาคต
งานนี้ถือว่าพี่ตู๋มาเหนือชั้นจริง ๆ นึกไม่ออกจริงเลยว่าหากไม่ใช่พี่ตู๋แล้วจะมีใครทำได้อีก