ขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชา

รอบการจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ช่วง 1 ม.ค.-30 เม.ย. 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าบ้าน จัดเก็บเท่าเดิมในอัตรา 4.72 บาท/หน่วย


รอบการจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ช่วง 1 ม.ค.-30 เม.ย. 2566 สำหรับค่าไฟฟ้าบ้าน จัดเก็บเท่าเดิมในอัตรา 4.72 บาท/หน่วย ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าเอกชน ปรับเพิ่มจาก 4.72 บาท เป็น 5.33 บาท และนี่ก็ยังไม่รู้ว่า เมื่อเข้าสู่การจัดเก็บรอบใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) จะโดนปรับเพิ่มขึ้นกันอีกเท่าไหร่

ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทย ได้รับผลกระทบมาจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกมาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่ทำให้ราคานำเข้า LNG พุ่งจาก 26.5 เหรียญสหรัฐ/บีทียู (ก่อน ก.พ. 65) มาเป็นราคาสูงสุด 70.50 เหรียญก็มี และในปัจจุบันราคาเริ่มอ่อนตัวลงสู่ระดับ 27.0 เหรียญ

แต่ก็นั่นแหละ การกำหนดอัตราค่าไฟงวดใหม่ ก็ยังคงต้องนำไปเฉลี่ยกับต้นทุนค่าก๊าซเก่าที่มีราคาสูง ฉะนั้นค่าไฟรอบใหม่ ก็ยังคงต้องมีการปรับขึ้นอีกเป็นแน่

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่ง ก็คือก๊าซธรรมชาติที่ขุดได้ในอ่าวไทยและมีราคาต่ำ 5-6 เหรียญฯ บีทียู ได้หายออกไปจากระบบ ซึ่งเดิมแหล่งเอราวัณ ผลิตได้วันละ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต แต่การที่ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ตามกำหนด ทำให้ปัจจุบันขุดก๊าซขึ้นมาได้เพียงวันละ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตเท่านั้น

ก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่มีราคาแค่ 5-6 เหรียญฯ หายไปถึง 75% และก็ต้องทดแทนด้วยราคา LNG นำเข้าสูงตั้งแต่ 27-62 เหรียญฯ

ทำให้นึกถึงแหล่งก๊าซและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ที่เจรจากันมาไม่รู้กี่รัฐบาลรวมเวลาไม่น้อยกว่า 35 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จสักที รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์เคยพูดถึงตอนขึ้นมามีอำนาจแรก ๆ จากนั้นก็หายจ้อย เพิ่งจะมีการประชุมลับครม.เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมานี้

8 ปีที่อยู่มา ไม่เคยคิดจะดำเนินการเรื่องนี้จริงจังอะไรเลย มาคิดได้เอาตอนปลายรัฐบาล ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าพล.อ.ประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งที่จะถึงในเร็ววันนี้หรือเปล่า

ความพยายามในการหาทางเอาปิโตรเลียมใต้ทะเลมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน ริเริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะได้รับแบบอย่างความสำเร็จอันดีในเขตพื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ไทย-มาเลเซียปี 2522 ที่ทั้งสองประเทศแสวงผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่โดยพักเรื่องอาณาเขตดินแดนเอาไว้ก่อน

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ก็มีความพยายามดำเนินการต่อมา แต่ไม่ทันมีผลสำเร็จอะไร ในยุครัฐบาลทักษิณโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ต้องถือว่า MOU บันทึกช่วยจำปี 2544 มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ทางฝ่ายกัมพูชาสมัยนั้น ให้ความสนใจในการขุดปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ แต่ก็ยังเกี่ยงงอนในเรื่องการแบ่งเขตดินแดนที่จะมีการตัด “เกาะกูด” ของไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตกัมพูชาด้วย

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยนั้น ต่อสู้ว่าสนธิสัญญาสยามและฝรั่งเศสค.ศ. 1907 ข้อ 2. ระบุไว้โดยแน่ชัดแล้วว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดกับเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม”

กัมพูชาก็รับปฏิบัติเรื่องนี้มาช้านาน แม้แต่ในช่วงที่มีการประกาศเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา ที่มีการผนวกเกาะกูดเข้าไปในอาณาเขตของตนด้วย แต่ก็ยังไม่มีปฏิบัติการที่เรียกร้องเอาจริงในเรื่องนี้

นอกจากการยืนยันเรื่องสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907 แล้ว ทางฝ่ายไทยพยายามเจรจาให้ฝ่ายกัมพูชายอมรับการนำทรัพยากรในพื้นที่ร่วมมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยพักเรื่องอาณาเขตเอาไว้ก่อน เหมือนเช่นโมเดลไทย-มาเลเซียทำสำเร็จมาแล้ว นายกรัฐมนตรีฮุน เซนมีท่าทีคล้อยตาม

ถึงขั้นมาหารือกันเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ 50:50 ในพื้นที่ทับซ้อน และ 60:40 แล้วแต่แหล่งปิโตรเลียมอยู่ชิดฝั่งแดนใคร

มรรคผลจาก MOU 2544 ล้มครืนลงในการรัฐประหารปี 2549 รัฐบาลสมัครพยายามดำเนินการต่อ แต่ก็เจอกระแสชาตินิยมรุนแรงต่อต้าน จนไม่อาจเดินหน้าต่อได้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อมา ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาไม่ราบรื่นนัก เพราะนายกฯ ฮุน เซนยังให้การสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณ จึงสั่งเลิก MOU 2544

มาถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการพูดถึงการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมรอยู่ 2 ครั้งช่วงต้นรัฐบาลกับปลายรัฐบาลนี่แหละ

ขอฝากโครงการพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-กัมพูชาแก่พรรคการเมืองทุกพรรคและรัฐบาลหลังเลือกตั้งมา ณ ที่นี้ด้วย จะเป็นพระคุณอย่างสูงแก่แผ่นดิน

Back to top button