ลบแบรนด์ DTAC..ล้างชื่อเทเลนอร์.!

ทันทีที่การประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้น DTAC และ TRUE มีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE นั่นถือเป็นการลบแบรนด์ DTAC


ทันทีที่การประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC และผู้ถือหุ้นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 มีมติอนุมัติจัดตั้งบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE นั่นถือเป็นการลบแบรนด์ “ดีแทค” หรือ DTAC และล้างชื่อกลุ่มเทเลนอร์ออกจากแผนภูมิธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยไปอย่างถาวร..!!

แบรนด์ DTAC มีรากเหง้าเริ่มมาจาก “บุญชัย เบญจรงคกุล” ในฐานะผู้ก่อตั้ง DTAC ตั้งแต่ยุคบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ UCOM ก่อนเปลี่ยนผ่านมาสู่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC หลังการเข้ามาของกลุ่มเทเลนอร์ หลังวิกฤติต้มยำกุ้ง พร้อมเปลี่ยนแบรนด์จาก “ยูคอม” เป็น “แทค” และเปลี่ยนมาเป็น “ดีแทค” มาจนถึงปัจจุบัน

โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2532 ด้วยการเข้ารับสัมปทานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ช่วงคลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHz จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ประเภทเพื่อสร้าง-โอนและดำเนินการ (BTO) ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 และจดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ช่วงเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2538 และเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ช่วงปี 2550

แม้ว่าที่ผ่านมา “ตระกูลเบญจรงคกุล” ขายหุ้นให้กลุ่มเทเลนอร์ไปแล้ว แต่เมื่อใดที่พูดถึงคนชื่อ “บุญชัย เบญจรงคกุล” สิ่งที่แรกในภาพจำคือ “ดีแทค” หรือเมื่อพูดถึง “ดีแทค” ภาพความทรงจำแรกคือ “บุญชัย เบญจรงคกุล” เช่นกัน

ถัดมาคือ “ซิคเว่ เบรคเก้” อดีตซีอีโอของ DTAC ที่ถูกส่งตรงมาจากเทเลนอร์ ถือว่าเป็นสร้างปรากฏการณ์ด้านการตลาด จนทำให้ DTAC เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วทุกกลุ่มเป้าหมาย จนทำให้แบรนด์ “ใบพัดสีฟ้า” อย่าง “ดีแทค” โดดเด่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน..และท้าทายพี่ใหญ่ AIS ไม่น้อยทีเดียว

ทำให้ยุคนั้น..เมื่อพูดถึง “ดีแทค” ภาพของ “ซิคเว่ เบรคเก้” ลอยเด่นขึ้นมาทันที..ชนิดที่ว่าเห็นหน้า “ซิคเว่ เบรคเก้” ก็นึกถึง “ดีแทค” ขึ้นมาทันที และเป็นอีกหนึ่งลายเซ็นดีแทค ที่มีคนจดจำมากสุดคนหนึ่งเลยทีเดียว..

เมื่อสิ้นสุดยุค “ซิคเว่” เป็นซีอีโอ “อเล็กซานดรา ไรช์” ที่เข้ามาในช่วงเวลาที่ “ดีแทค” กำลังพ่ายแพ้สงครามการตลาด (หลังหมดยุคของ “ซิคเว่ เบรคเก้” และ DTAC โยนผ้าขาวไม่เอาคลื่น 900 MHz) ด้วยปรากฏการณ์ “ลูกค้าย้ายค่ายหนี” จนดีแทค สูญเสียมาร์เก็ตแชร์ไปอย่างมาก สุดท้ายเสียตำแหน่งมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ให้กับ TRUE ไป

สำทับด้วยวิกฤติความเชื่อมั่นที่ว่า “กลุ่มเทเลนอร์” กำลังจะถอยทัพทิ้งการลงทุนในประเทศไทย ทำให้ “อเล็กซาน ดรา ไรช์” ที่รู้จุดอ่อนตรงนี้…จึงแก้เกมทันที ด้วยคำมั่นที่ว่า “เราสัญญาว่าจะไม่หยุด” พร้อมแคมเปญโฆษณาตอกย้ำคำพูดดังกล่าว ผ่านสื่อโฆษณาต่าง ๆ จนกลายเป็นที่จดจำมากยิ่งขึ้น

ทำให้ “อเล็กซานดรา ไรช์” กลายเป็นสัญลักษณ์ทางการตลาด เฉกเช่น “ซิคเว่ เบรคเก้” ที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ และที่สำคัญ “กู้วิกฤติความเชื่อมั่น” ในแบรนด์ดีแทคได้อีกครั้ง..!

แต่สถานการณ์ดีขึ้นได้ไม่นาน!..การถอยทัพของดีแทคและเทเลนอร์ในสงคราม 5G พร้อม ๆ กับกระแสข่าวกลุ่มเทเลนอร์เร่ขายหุ้น DTAC ให้กับ AIS และ TRUE ชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ..และสุดท้ายดีลมาจบกับค่าย  TRUE ที่กำลังประสบปัญหาภาระต้นทุนทางการเงิน จนเริ่มขยับเนื้อขยับตัวไม่ออก.!! ฝ่าย “เทเลนอร์” ก็อยากจะออกจากไทยอย่างเต็มแก่..!?

มันจึง “สุกงอม” มาสู่ดีล TRUE ควบ (เขมือบ) รวม DTAC อย่างที่ได้เห็นกันอยู่ในขณะนี้..!!

ด้วยโครงสร้างการควบกิจการ TRUE-DTAC (แท้จริงแล้วคือเทคกิจการ) ทำให้เห็นชัดเจนว่านี่คือการ “ลบแบรนด์ DTAC..ล้างชื่อเทเลนอร์” จนไม่ต้องสาธยายกันให้เจ็บคอแล้วละ..!!!

Back to top button