กองทุนเพื่อสังคมในตลาดหุ้น
ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งเกือบจะเต็มตัวแล้ว สภาฯ ก็ล่ม ครม.ก็ล่ม เพราะส.ส.-รัฐมนตรี เอาเวลาสภาฯ เวลาประชุมครม.ออกพื้นที่ไปหาเสียงกันหมด
ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งเกือบจะเต็มตัวแล้ว สภาฯ ก็ล่ม ครม.ก็ล่ม เพราะส.ส.-รัฐมนตรี เอาเวลาสภาฯ เวลาประชุมครม.ออกพื้นที่ไปหาเสียงกันหมด ขนาด “ลุงป้อม” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังลาประชุมครม.ไปหาเสียงตัดหน้า “ลุงตู่” แห่งพรรครวมไทยสร้างชาติที่จ.ราชบุรีเลย
ส.ส.ในพื้นที่คงทำตัวลำบากในการมาต้อนรับ “2ลุง” ที่บัดนี้ แยกกันตั้งวงสร้างดาวคนละดวงกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
พปชร.หรือพรรคพลังประชารัฐ ถือโอกาสเปิดแคมเปญนโยบายแรกออกมาในเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐชนิดไม่เกรงใจพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะมีการเพิ่มเงินแก่ผู้ถือบัตรเป็น 700 บาทต่อเดือน โดยประมาณการว่าจะมีผู้ถือบัตรทั้งสิ้น 18 ล้านคน ใช้เงินรัฐเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะต้องใช้เงินสูงถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาท
ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค เข้าใจว่าจะเป็นผู้คิดค้นนโยบายนี้ขึ้นมา เสนอแนวทางที่ฟังดูดีว่า เงินใช้จ่ายบัตรสวัสดิการรัฐในแต่ละปี ไม่จำเป็นจะต้องเบิกจ่ายออกมาจากงบประมาณในภาครัฐเลย
แต่จะใช้วิธีระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ อาทิ ผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้พ้นโทษ และผู้สูงอายุ เป็นต้น
กองทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ มีแนวทางการสร้างงานให้กลุ่มเปราะบางมีรายได้ แล้วปันส่วนรายได้กลับคืนมาสู่กองทุน ซึ่งต่างประเทศก็มีกองทุนเพื่อสังคมเช่นนี้แล้ว ส่วนในประเทศไทยก็มีกองทุน “ฟิวเจอร์ ฟันด์” ที่ประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนเป็นอันมาก
ดร.นฤมลยังบอกด้วยว่า ดำริเรื่องนี้ เธอได้นำไปปรึกษาหารือกับคุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการก.ล.ต.มาแล้วด้วย
ผมเองก็ได้ฟังดำริเรื่องการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผ่านช่องทางตลาดทุน โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐ จากบทสัมภาษณ์ดร.นฤมลในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” โดยหมาแก่-แมวสาว เมื่อช่วงสายวันพุธที่ผ่านมานี่แหละ
ไอเดียแปลกดี! แต่มองไม่เห็นทางปฏิบัติจริงได้เลย
ต้องไปถามผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ ว่า กองทุนในตลาดทุนทั้งหลาย ขับเคลื่อนดำเนินงานกันอย่างไร และแรงจูงใจในการเข้าซื้อ “หน่วยลงทุน” ที่จะทำให้กองทุนมีเงินทุนไปดำเนินงานโครงการได้จนสำเร็จวัตถุประสงค์นั้น มีที่มาอย่างไร
หลักใหญ่ใจความคือผลตอบแทนในรูปของ “เงินปันผล” ครับ ยิ่งปันผลสูงก็ยิ่งจะระดมกองได้มาก ผลตอบแทนระดับ 3-4% นี่เป็นเรื่องธรรมดาครับ แต่หากกองทุนใดให้ผลตอบแทนเป็น 5-6% ขึ้นไป ก็ยิ่งจะได้รับความสนใจมาก
ไม่ใช่ทำกันได้ง่าย ๆ เลยนะครับกับการขายกองทุน ขนาดกองทุนที่เอาทรัพย์สินรัฐเข้ามาจัดตั้ง เช่นกองทุนวายุภักษ์ หรือกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ซึ่งแม้จะให้ผลตอบแทนต่ำ แต่ก็มีความมั่นคงสูงกว่ากองทุนเอกชน ก็ยัง “หืดขึ้นคอ” ในการขายหน่วยลงทุน
นับประสาอะไรกับกองทุนโลกสวยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผ่านช่องทางตลาดทุน ซึ่งไม่อาจจะคำนวณผลตอบแทนโดยแน่ชัดได้ และมีแนวโน้มที่จะเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนติดลบเอาด้วยซ้ำ
กองทุนแบบนี้ในต่างประเทศ ผมก็ไม่เคยได้ยินนะ ไม่รู้อาจารย์นฤมลไปเอาแบบอย่างนี้มาจากไหน และที่อ้างว่าได้ไปคุยกับคุณรื่นวดีแห่งก.ล.ต.มาแล้ว ก็ไม่รู้ว่าคุยกันแบบไหน ท่านเห็นด้วยทั้งหมด หรือเห็นด้วยบางส่วน หรือคุณนฤมล เข้าใจผิดไปเองก็ไม่มีใครรู้
พักนี้ มีแต่คนเห็นตลาดหุ้นเป็นขุมทองแมคเคนนา โดยเฉพาะนักการเมือง ไม่รู้เป็นอะไรสิน่า!