พาราสาวะถีอรชุน

เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 เรื่อง “หยุดอ้างกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรมข่มขู่คุกคามประชาชน” โดยยกเอาคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวว่าการแสดงความเห็นของนักวิชาการอาจเป็นเหตุให้มีผู้มายิงหรือปาระเบิดใส่จนล้มตายเป็นคำกล่าวที่มีลักษณะข่มขู่คุกคามแม้จะอ้างว่าตนจะไม่เป็นผู้กระทำก็ตาม


เครือข่ายคณาจารย์ผู้ห่วงใยศิษย์ที่ถูกคุมขัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 เรื่อง “หยุดอ้างกฎหมายที่ไร้ความชอบธรรมข่มขู่คุกคามประชาชน” โดยยกเอาคำพูดของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวว่าการแสดงความเห็นของนักวิชาการอาจเป็นเหตุให้มีผู้มายิงหรือปาระเบิดใส่จนล้มตายเป็นคำกล่าวที่มีลักษณะข่มขู่คุกคามแม้จะอ้างว่าตนจะไม่เป็นผู้กระทำก็ตาม

คำกล่าวในลักษณะดังกล่าวเป็นการยั่วยุชี้นำและสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในฐานะผู้นำประเทศ การกล่าวโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเช่นนี้จะยิ่งส่งผลเสียหายให้กับประเทศเป็นทวีคูณ ซึ่งการเปิดโอกาสให้บุคคลได้แสดงความคิดเห็นอย่างแตกต่างหลากหลายเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย หาได้เป็นความสับสนวุ่นวายดังที่พลเอกประยุทธ์เข้าใจไม่

การแสดงความเห็นและเสนอข้อมูลอย่างสันติและไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นของนักวิชาการรวมถึงนิสิตนักศึกษาและประชาชน เพื่อให้สังคมมีมุมมองรอบด้านเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ซึ่งดำเนินมาในทุกรัฐบาลจึงเป็นวิถีทางประชาธิปไตยที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งความสับสนวุ่นวายแต่อย่างใด จะมีก็แต่รัฐบาลเผด็จการที่ลุแก่อำนาจและไม่ยอมฟังเสียงใครเท่านั้นที่จะเห็นเป็นอื่นได้

เครือข่ายคณาจารย์ฯขอให้คสช.หยุดการดำเนินคดีและการข่มขู่คุกคามการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยสุจริตและอย่างสันติของอาจารย์รวมถึงนิสิตนักศึกษาและประชาชน แทนที่คสช.จะเรียกประชาชนที่เห็นแตกต่างไปปรับทัศนคติ  เครือข่ายคณาจารย์ฯเห็นว่าคสช.ควรเรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนทัศนคติกับประชาชนที่เห็นต่างอย่างเสมอหน้าจึงจะสร้างสรรค์กว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละด้วยทัศนคติของท่านผู้นำที่เมื่อถอดรหัสความคิดมาแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจากม็อบกปปส.ที่ออกมาเคลื่อนไหวโบกมือดักกวักมือเรียกรัฐประหาร ด้วยการเชื่อมั่นว่าตนเองคือ “กลุ่มคนดี” พร้อมๆ กับการสาดโคลนโยนให้คนที่ไม่ใช่พวกเดียวกันเป็น “คนไม่ดี” ไปแบบหน้าตาเฉย มิเช่นนั้น ท่านผู้นำคงไม่พูดถึงเรื่องลอยกระทงที่ให้ลอยคนไม่ดีไปให้พ้นๆ จากแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม มีคำถามผุดขึ้นมาในห้วงเวลานี้ว่า ในเมื่อเป็นยุคแห่งคนดีแล้วไฉนจึงมีปมการโกงโครงการอุทยานราชภักดิ์เกิดขึ้น คนมีสีที่ยืนหยัดมาโดยตลอดว่าพวกตนคือคนดี คนมีคุณค่าของสังคม เหตุใดจึงไปทำให้โครงการอันเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีของประชาชนทั้งประเทศมีเรื่องมัวหมองและเกี่ยวข้องกับคนมีสีล้วนๆ

คงไม่มากล่าวหาว่าอย่าพูดพล่อยๆ เพราะหากทุกอย่างโปร่งใส ไร้ทุจริตแล้ว การแถลงของ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันศุกร์ที่แล้วต้องถือว่าทุกอย่างจบสิ้นกระบวนการ แต่เมื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สั่งปลัดกระทรวงกลาโหมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบซ้ำเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคม นั่นย่อมสะท้อนปมที่ว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังหลายประการ

กล่าวสำหรับกลุ่มคนดีที่มีหลากหลายประเภท ในส่วนของเนติบริกร ผลจากการร่างรัฐธรรมนูญที่เวลานี้เห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเป็นคำตอบว่า กระบวนการร่างกฎหมายสูงสุดของประเทศนั้นมีลับลมคมในหรือโปร่งใสเป็นการเขียนเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมโดยแท้ งานเขียนของ โชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องความเป็นและไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตยของการจัดทำรัฐธรรมนูญไทย น่าจะเป็นคำตอบที่ใกล้เคียงมากที่สุด

โดยอาจารย์โชคชัยได้เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 กับฉบับที่กำลังยกร่างในปัจจุบัน ผ่านการพิจารณาเชิงวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหาสาระแห่งรัฐธรรมนูญ มิใช่พิจารณาเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น ด้วยเกณฑ์เชิงปริมาณในห้าตัวชี้วัดและโดยองค์รวม พบว่า รัฐธรรมนูญปี 40  มีคุณภาพประชาธิปไตยมากที่สุดร้อยละ 75

รัฐธรรมนูญปี 50 มีคุณภาพประชาธิปไตยที่ร้อยละ 40 และรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันอยู่ ซึ่งจะเรียกว่าปี 2559 หรือ 2560  มีคุณภาพประชาธิปไตยต่ำที่สุดร้อยละ 35 โดยอาจขยับเพิ่มหรือลดตามเนื้อหาที่ยุติจริงจนคะแนนสาระเพิ่มขึ้นและโดยรวมอาจได้คะแนนมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 50 แต่ย่อมไม่เกินฉบับ 40

จึงพอจะประเมินได้ว่าองค์รวมของการจัดทำและแนวโน้มสาระของรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะเกิดขึ้นยังไม่มีคุณภาพพอที่จะเป็นความหวังใหม่ในการส่งผลต่อความก้าวหน้าอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยของการเมืองไทยได้ เพราะกระบวนการสร้างสรรค์ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยที่เพียงพอนั่นเอง แม้จะใส่เนื้อหาให้ดูเป็นประชาธิปไตยมากเท่าที่จะทำได้ในสายตาคณะผู้ยกร่าง

แต่ก็ยังมีข้อจำกัดให้ทำได้ไม่เต็มที่ตามบรรยากาศของสังคมเผด็จการและอำนาจสั่งการของคณะผู้ปกครอง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ดังจะเห็นได้จากข้อเสนอหรือที่เรียกกันว่าใบสั่ง 10 ข้อของคสช.ที่ส่งตรงถึงกรธ.ที่ประธานกรธ.ก็เป็นสมาชิกคสช.อยู่ด้วย แม้จะพยายามปลอบใจประชาชนว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเสนอดังกล่าวเป็นพิเศษก็ตาม ย่อมส่งผลต่อการยอมรับและปรับใช้ในอนาคต

มีแนวโน้มว่าอำนาจอธิปไตยที่ประชาชนไทยผู้เป็นเจ้าของและมอบแก่รัฐประชาธิปไตยอย่างสมัครใจอันสอดคล้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์การเมืองเสรี จะถูกจำกัดและไม่สามารถใช้ได้เป็นการทั่วไปด้วยการอาศัยอำนาจอื่นที่ด้อยกว่าอำนาจอธิปไตยของประชาชนหรือด้วยหลักวิชาชีพอื่นที่อาจอ้างกฎเกณฑ์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่เป็นปฏิปักษ์หรือมิได้เกื้อกูลต่อความเป็นวิทยาศาสตร์ของการเมืองประชาธิปไตย

ด้วยเหตุนี้ ย่อมทำให้กลไกประชาธิปไตยขัดแย้งกันมีผลให้องค์รวมแห่งระบอบติดขัด ขับเคลื่อนไปอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ได้ คงต้องยกเอาคำกล่าวของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มาตอกย้ำอีกรอบว่า ถ้าระบบที่สร้างขึ้นมามันดี แล้วปล่อยให้ระบบมันเดินไป มันบกพร่องก็แก้ไป สุดท้ายตัวระบบจะกลั่นกรองคนที่ดี คนที่ดีหมายถึงคนที่มีความสามารถในการทำงานเพื่อสาธารณะแล้วถูกตรวจสอบได้โดยระบบตรวจสอบที่ดี

แน่นอนว่า ที่ทำกันอยู่เวลานี้มันไม่ใช่การสร้างระบบที่ดี ไม่ใช่การทำประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ในแบบไทยๆ และให้สากลยอมรับ หากแต่เป็นความพยายามที่จะสร้างวาทกรรมหรือเขียนกฎหมายเพื่อทำลายระบบที่ดีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มที่อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นคนดีมากที่สุด โดยตีกันคนอีกพวกด้วยสารพัดวิธีที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึงว่าคนที่อ้างตัวว่าเป็นคนดีจะคิดกันได้

Back to top button