ความสำคัญ ‘บทวิเคราะห์ต่างประเทศ’ ต่อ ‘ตลาดหุ้นไทย’
การเห็นข้อมูลที่กว้างและหลากหลาย ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้เท่าทัน เหตุการณ์ในการขึ้น-ลงของหุ้นตัวนั้น ๆ อย่างมีเหตุมีผล
ในตลาดหุ้น “ข้อมูล” ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่นักลงทุนทุกคนจะต้องมีก่อนการจะทำการลงทุนใด ๆ
การเห็นข้อมูลที่กว้างและหลากหลาย ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้เท่าทัน เหตุการณ์ในการขึ้น-ลงของหุ้นตัวนั้น ๆ อย่างมีเหตุมีผล รวมถึงสามารถคาดเดาอนาคตข้างหน้าแบบคร่าว ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากผลประกอบการที่ถูกประเมินมา
หากลำดับความสำคัญของแหล่งข้อมูลสำหรับการลงทุน จะพบว่า “บทวิเคราะห์ต่างประเทศ” ที่ คอมเมนต์หุ้นไทย ไม่ว่าจะเชิงบวก หรือลบ ถือเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่นักลงทุนทุกกลุ่ม อาทิ กองทุนไทย, กองทุนต่างประเทศ, นักลงทุนรายใหญ่ นักลงทุนรายย่อยที่พยายามเข้าถึง
ยังไม่นับรวม แม้แต่เจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ก็อยากที่จะทราบข้อมูลดังกล่าวด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลที่บริษัทตนเองถูกประเมิน หรือ บริษัทคู่ค้าทางธุรกิจ, คู่แข่งที่ทำธุรกิจที่คล้ายกัน และรวมถึงนักวิเคราะห์ไทยที่ cover หุ้นเหล่านั้นด้วย
นี่จึงเป็นที่มาของความมีอิทธิพล และความสำคัญของการเป็นที่จับตาของ “บทวิเคราะห์ต่างประเทศ” ที่เขียนให้คุณ ให้โทษออกมาในแต่ละครั้งที่ส่วนใหญ่จะปรากฏออกสู่สาธารณะแบบปิด ให้เฉพาะลูกค้าของแต่ละแห่งเท่านั้น
ส่วนใหญ่การเข้าถึงแหล่งข้อมูลดังกล่าวมักจะถูกจำกัดไว้สำหรับสมาชิก หรือผู้ที่จ่ายรายเดือน รวมถึงการเปิดพอร์ตเป็นลูกค้าของโบรกเกอร์นั้น ๆ ซึ่งการเปิดพอร์ตกับโบรกเกอร์ใหญ่อย่าง Credit Suisse ต้องมีเงินสดฝากเข้าบัญชีจำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอย่างน้อย (สมัย 8 ปีก่อน)
ความสำคัญของบทวิเคราะห์ต่างประเทศ
คือ การอ่านมุมมองความคิดของนักวิเคราะห์ต่างชาติว่ามองหุ้นไทย (รายตัว) หรือตลาดหุ้นไทยอย่างไร
หากนักลงทุนต่างชาติได้อ่านแล้วนำไปเปรียบเทียบกับหุ้นอื่น ๆ ในภูมิภาคแล้วเกิดเห็นโอกาสก็จะสามารถเข้ามาลงทุนได้
เนื่องจากบทวิเคราะห์ไทยยังไม่สามารถส่งถึงมือนักลงทุนต่างชาติได้อย่างทั่วถึง แม้บทวิเคราะห์บางสำนักของไทยกับต่างประเทศจะมีไอเดียไม่ต่างกัน แต่มีอุปสรรคในการส่งต่อไปถึงมือนักลงทุนต่างชาติ
ขณะที่บทวิเคราะห์ต่างประเทศสามารถส่งผ่านไอเดียและข้อมูล ไปยังนักลงทุนต่างชาติได้ง่ายกว่า ทั้งภาษาและลักษณะการเขียน (สกุลเงิน) ทำให้การจะดึงเม็ดเงินใหม่ ๆ และก้อนใหญ่ ๆ เข้ามาจะต้องมีบทวิเคราะห์ต่างประเทศเป็นตัวส่งผ่านเพื่อถ่ายทอดข้อมูล ทำให้มีความสำคัญที่จะช่วยดึงสภาพคล่องจากภายนอกเข้ามา
โดยจะขอยกตัวอย่าง ขั้นตอนก่อนที่บทวิเคราะห์ต่างประเทศจะมาถึงมือนักลงทุน คือ หลังจากที่นักวิเคราะห์เขียนงานเสร็จเรียบร้อย จะต้องผ่านการตรวจสอบอีก 3 ด่าน คือ
1.Head of research
2.Research committee
3.Regional head of research
ฉะนั้นข้อมูลและการวิเคราะห์จากบทวิเคราะห์ต่างประเทศ ไม่ได้ออกมาง่าย ๆ อย่างที่เราคิดกัน และไม่ใช่ input แต่สมองของคนเขียนเท่านั้น แต่มันยังบ่งบอกมุมมองของคนนอกภูมิภาค ว่ามองกลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างไร?
หลักในการออกบทวิเคราะห์ต่างประเทศ มีขั้นตอนดังนี้
ถ้า ”Outlook” ของการมองโดย Regional head of research มองประเทศไหนดี บทวิเคราะห์หุ้นรายตัวก็จะออกมาดีคล้อยตามกัน เพราะเวลาฝรั่งมองเรา จะมองจากภาพใหญ่ก่อน ถ้าภาพใหญ่ดี ก็จะปักธงลงไปในหุ้นรายตัวว่าจะมี theme ไหน ที่จะสนับสนุนให้ประเทศดีขึ้น
สรุปความง่าย ๆ คือ “ถ้ามุมข้างบน (outlook ประเทศ) ไม่ได้ มุมข้างล่าง (หุ้นรายตัว) ก็ยากมากที่จะมีการมองที่สวนทาง นอกเสียจากว่า จะมีดีลเป็นรายตัวอื่น นี้ก็ยกเว้นไป”
อันนี้ ขอฝากให้เป็นความรู้ไว้ใช้ได้ตลอดชีวิตสำหรับการลงทุน ที่จะต้องอาศัยการอ่านบทวิเคราะห์ฝรั่งจะได้รู้ว่า แท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร
ขอเสริมอีกเรื่องนึง ปกติเป้าหมายการออกบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างประเทศ จะมีระยะเวลาการลงทุนตั้งแต่ 6-12 เดือน ไม่ใช่ออกปุ๊บหุ้นต้องวิ่งปั๊บ แบบนี้คนออกบทวิเคราะห์ที่เป็นฝรั่งไม่ชอบ
เหตุที่ไม่ชอบเพราะ มันทำให้ลูกค้าของโบรกเกอร์ไม่สามารถซื้อของได้ในราคาถูก ส่วนใหญ่คนที่ทำให้เกิดความ error ตรงนี้คือ ลูกค้าคนไทย-รายย่อย และกองทุน ที่เห็นบทวิเคราะห์ให้เป้าเพิ่ม ก็รีบกระโดดเข้าใส่อย่างบ้าเลือด พอมีกำไร 10-20% ก็เทขายทิ้ง
ต้องบอกเลยว่า กองทุนต่างชาติเวลาลงทุน จะลงยาว 6-9 เดือนขึ้นไป ไม่ใช่ 1-2 วัน เหมือนที่บ้านเราเล่นกันอยู่ การที่โบรกเกอร์ต่างประเทศออกบทวิเคราะห์แล้วหุ้นลง เขาชอบ เพราะจะทำให้ลูกค้าเขาซื้อของได้ในราคาไม่แพง และเป็นลักษณะการทยอยซื้อเรื่อย ๆ
ในขณะที่บทวิเคราะห์บ้านเรา ถ้าออกมาแล้วหุ้นไม่ขึ้นภายใน 1-2 วัน อันนี้ คนออกจะซวย แถมโดนด่า ว่า “ออกบทวิเคราะห์มาเพื่อให้รายใหญ่ขายของใส่” เราไม่สามารถปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวได้เลย เพราะเราถูกสอนมาให้รู้จักแต่ การรับรู้ ผลตอบแทนแบบเร็ว ๆ
จงอย่าดูแคลน หรือหัวเราะใส่บทวิเคราะห์ของต่างประเทศ เวลาออกมาแล้วหุ้นลง เพราะเนื้อหาเหล่านี้เขียนเพื่อให้ลูกค้าที่เป็นสถาบันต่างประเทศอ่าน แม้แต่กองทุนในประเทศก็ยังต้องอ่านเพื่อใช้ตัดสินใจในการลงทุน
ฐานลูกค้าต่างชาติโดยมากจะมีเม็ดเงินขนาดใหญ่ ฉะนั้นการที่จะอนุมาน หรือมองว่า ฝรั่งออกรีเสิร์ชมาเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการ “ขายใส่” แบบนี้คงจะเป็นมุมมองที่แคบไปสักนิด
ถึงแม้ถ้ามี ก็อาจจะทำได้ไม่บ่อยนัก ถ้าบ่อยบทวิเคราะห์สำนักนั้นก็จะไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป และถือเป็นการทำลายวิชาชีพที่ตนทำอยู่
การเขียนบทวิเคราะห์แล้วหุ้นขึ้น ถือเป็นเป้าวัตถุประสงค์หลักที่นักวิเคราะห์ทุกคนต่างต้องการ การจะใช้เพื่อมาทำลาย คงจะอยู่ในอาชีพนี้ได้ไม่นานโดยเฉพาะโบรกเกอร์ต่างประเทศ เพราะเรื่องเครดิต กับความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ในแต่ละอาชีพจะมีจรรยาบรรณของตนอยู่ ฉะนั้นการที่เราไม่ได้อยู่ในสายอาชีพนักวิเคราะห์ (แต่อยู่ในสายผู้ลงทุน) แล้วไปประเมินอะไรบางอย่างที่เราไม่เคยรู้จักมันเลย อาจจะทำให้เราพลาดอะไรดี ๆ บางอย่างไปก็ได้ครับ
บทความนี้ ไม่ได้โปรฝรั่ง หรือต้องให้เชื่อบทวิเคราะห์ต่างประเทศ เพียงแต่จงใช้ประโยชน์จากมันให้สมกับการเป็นนักลงทุนที่สามารถใช้ข้อมูลรอบด้านในการตัดสินใจในการซื้อขายหุ้นได้อย่างถูกจังหวะ
ยิ่งในสถานการณ์แบบนี้ นักลงทุนต่างชาติ ซื้อสุทธิหุ้นไทยตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบันทะลุ 2.2 แสนล้านบาท
ในฐานะนักลงทุน เราควรให้ความสำคัญกับ “บทวิเคราะห์ต่างประเทศ” ให้เพิ่มมากขึ้น