รถไฟไทย-จีนยิ่งเลื่อนลอยขี่พายุ ทะลุฟ้า

สัปดาห์ก่อน ผมได้ทำหน้าที่จิ้งจกร้องทักว่า โครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด ตามกรอบความร่วมมือไทย-จีน อาจจะล่มเอา


สัปดาห์ก่อน ผมได้ทำหน้าที่จิ้งจกร้องทักว่า โครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางหนองคาย-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด  ตามกรอบความร่วมมือไทย-จีน อาจจะล่มเอา

เพราะไม่มีรายละเอียดในมือสักอย่างเดียว ปล่อยให้ทางฝ่ายจีนเป็นฝ่ายเชิดฉิ่งอยู่แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น

ไม่มีบริษัทที่ปรึกษา มาทำการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ หรือที่เรียกว่า ”ฟีซสิบิลิตี้ สตัดดี้” อันจะศึกษาครอบคลุมหมดทั้งในเชิงเทคนิควิศวกรรม การเงิน และรูปแบบที่เหมาะสมในการลงทุน

โครงการจะถูกหรือแพงไป ควรจะเลือกลงทุนรูปแบบไหน ก็สามารถจะพึ่งพาข้อมูลในการตัดสินใจได้จากบริษัทที่ปรึกษานี่แหละ

นอกจากนั้น ผมยังคิดว่าบริษัทที่ปรึกษา ยังมีความจำเป็นทางขั้นตอนกฎหมายในการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐหรือการลงทุนร่วมกับภาคเอกชน

แต่นี่ นับแต่เปิดกรอบความร่วมมือรถไฟไทย-จีนขึ้นมา ผมยังไม่เคยได้รับรู้เลยว่า รัฐบาลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษารายใดมาทำงาน หรือหากมีก็ต้องสำแดงบทบาทหน้าที่ตัวเองให้เด่นชัดได้แล้ว

เพราะโครงการรถไฟความเร็วปานกลางไทย-จีน กำลังเดินทางมาถึงเส้นทางอลวน ที่มูลค่าลงทุนโครงการก็บานปลาย จาก 4 แสนล้านบาท กลายมาเป็น 5 แสนล้านบาท

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ฝ่ายจีนก็โก่งราคาสูงมาก คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.5% ในขณะที่ฝ่ายไทยรับได้ที่อัตรา 2.0% เท่านั้น

ท่านผู้นำประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับปรี๊ดแตกออกมาก่อนว่า ประชุมไทย-จีนมา 8 รอบแล้ว ทำไมไม่เกิดความคืบหน้าในการทำโครงการเสียที

จึงได้คำตอบที่วงเงินลงทุนก็บานปลาย และอัตราดอกเบี้ยก็แพงกว่ามิตรประเทศอื่นดังกล่าวนั่นแหละ

มันก็น่าสงสัยนะครับว่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งผ่านโปรเจ็กต์ใหญ่ รวมทั้งโครงการร่วมลงทุนกับต่างประเทศมามากมาย ทำไมไม่รายงานข้อมูลที่เป็นจริงและระบบระเบียบปฏิบัติที่จำเป็นให้นายกฯ ทราบ

เงินลงทุนที่บานปลายถึง 1 แสนล้านบาท ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และก็คงจะหวังพึ่งบริการ ”สาลิกาลิ้นทอง” ไม่ว่าจากใครได้ลำบาก เนื่องจากความมากมายของจำนวนเงินนั่นเอง

เรื่องอัตราดอกเบี้ย 2.5% จะต่อรองลงมาให้เหลือ 2.0% ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก นอกจากนั้นก็ยังมีตัวเปรียบเทียบจากแหล่งเงินกู้ญี่ปุ่น เช่น ไจก้า ซึ่งวิ่งอยู่ในอัตราต่ำกว่า 1.5% เข้าไปอีกด้วย

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่างกัน 1% ของยอดเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ก็ทำให้ผู้กู้ต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 5 พันล้านบาทเชียวนะครับ แล้วจะตอบสังคมว่าอย่างไรล่ะครับ

อย่างนี้ จะถือว่า เป็นการบริหารงานที่ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์หรือเปล่า

แล้วเกิดในภายภาคหน้า ที่ท่านผู้นำประยุทธ์ ก้าวล่วงพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็อาจมีสิทธิจะโดนเล่นงานเช่นเดียวกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ด้วยหรือไม่…

ในข้อหาบริหารงานอันทำให้รัฐสูญเสียผลประโยชน์

ผมว่ายากแล้วล่ะ โครงการรถไฟความเร็วปานกลางไทย-จีน เราคงต้องกลับมาตั้งหลักทบทวนกันใหม่แล้วว่า ความผิดพลาดเกิดจากอะไร

หนึ่ง.เกิดเพราะความไม่รู้หรือเปล่า ไม่รู้ธรรมเนียม ไม่รู้ระบบ และไม่มีข้อมูลโครงการที่เป็นของตนเอง

สอง.เกิดเพราะเรามีความคิดหวังพึ่งพาจีนมากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งความเป็นจริง จีนนั้นไม่ใช่ซานตาครอสเด็ดขาด ต่างก็ยึดหลักผลประโยชน์แห่งชาติตนเอง เฉกเช่นเดียวกับมิตรประเทศอื่นๆ ทั้งสิ้น

น่าเป็นห่วงไปถึงโครงการรถไฟความเร็วปานกลางไทย-ญี่ปุ่น เส้นกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ด้วยล่ะ

                                            

Back to top button