พาราสาวะถี

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นการแย่งชิงผลงาน ซึ่งจะรวมไปถึงนโยบายของทั้งสองพรรคที่แทบจะออกมาเหมือนหรือใกล้เคียงกันเกือบทั้งหมด


หลังจากใช้ใจบันดาลแรง ดูเหมือนว่าพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป.มีพลังล้นเหลือ เดินสายขึ้นเหนือล่องใต้เป็นว่าเล่น วันพุธที่ผ่านมาไปตรวจราชการที่ราชบุรีช่วงเช้า ก่อนที่ช่วงบ่ายจะลาราชการขึ้นเวทีเปิดตัว 4 ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของเมืองโอ่ง คล้อยหลังไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็ไปโผล่ที่ร้อยเอ็ด ยโสธร และมุกดาหาร ด้วยภารกิจที่ระบุว่าเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ความก้าวหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ปี 2565/2566 และโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่

แม้ไม่ใช่การปาดหน้าพื้นที่ที่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจจะไปเหมือนที่ผ่านมา แต่ท่วงทำนองลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการเตรียมพร้อมทางการเมืองในส่วนของพรรคสืบทอดอำนาจ ฐานะที่พี่ใหญ่มีหัวโขนเป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวของพรรค ที่น่าสนใจก็คือ นโยบายเกี่ยวกับน้ำที่น้องเล็กเคลมว่าเป็นผลงานของตัวเอง แค่มอบหมายให้พี่ใหญ่ไปช่วยกำกับดูแลเท่านั้น ซึ่งเจ้าตัวก็บอกว่าเป็นผลงานของรัฐบาล ทว่าการลงพื้นที่ทุกครั้งจะเน้นย้ำไปในเรื่องนี้มันย่อมเป็นความย้อนแย้ง

อย่างที่บอกไปผลงานเรื่องน้ำ ปัญหาที่ดิน นับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการ คสช.ที่พี่ใหญ่ยังมีหัวโขนว่าการกระทรวงกลาโหมและกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกระทั่งไร้เก้าอี้ทั้งสองส่วนแต่ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลงานทั้งสองเรื่อง ถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่พรรคสืบทอดอำนาจหมายมั่นปั้นมือจะชูเป็นจุดขายสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า เช่นเดียวกับการเพิ่มเงินบัตรคนจนที่ถูกคนของพรรครวมไทยสร้างชาติเตะตัดขาว่าเป็นความคิดของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเช่นกัน

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเห็นการแย่งชิงผลงาน ซึ่งจะรวมไปถึงนโยบายของทั้งสองพรรคที่แทบจะออกมาเหมือนหรือใกล้เคียงกันเกือบทั้งหมด เพราะความเป็นประชารัฐที่หลีกหนีคำว่าประชานิยม มันก็คือผลพวงจากความคิดของขบวนการสืบทอดอำนาจ เน้นการแจกสะบัด ส่วนทำได้สำเร็จ สร้างความยั่งยืนได้หรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบเองเมื่อถึงวันเลือกตั้ง ปัญหาใหญ่จนถึงตอนนี้สำหรับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและพรรคของตัวเองคือ การหาและวางตัวผู้สมัคร ส.ส.

เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคการเมืองอื่น ๆ จะเห็นได้ชัดว่ามีความพร้อมกันเกือบทุกพรรค รอเพียงแค่ กกต.ประกาศความชัดเจนเรื่องเขตเลือกตั้งเท่านั้น ขณะที่รวมไทยสร้างชาติของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เมื่อนับนิ้วดูแล้วมี ส.ส.ประเภทตัวความหวังอยู่ไม่ถึง 10 ราย ในจำนวนนั้นก็ไม่ใช่ประเภทจะการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะได้เป็น ส.ส.แน่นอน นั่นจึงเป็นโจทย์และคำตอบของคำถามที่ว่าท้ายที่สุดจะมีการยุบสภาเกิดขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คงไม่อยู่กันไปจนครบวาระ ย้ำอีกคำรบว่าถ้าจะอยู่กันแบบนั้นก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ส.ส.ที่จะย้ายสังกัดต้องลาออกไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคกันเหนียวไว้ก่อน เพื่อให้เงื่อนเวลาสังกัดพรรคครบ 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง นั่นจะเป็นปัญหาสำคัญของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจและรวมไทยสร้างชาติ เพราะนักเลือกตั้งที่ยังไม่ตัดสินใจส่วนใหญ่ยังคงรอดูกระแสของท่านผู้นำว่ากระเตื้องขึ้นมาหรือไม่หลังจากประกาศเล่นการเมืองแบบเต็มตัว หากมีสัญญาณเชิงบวกที่จะรับความเสี่ยงได้จึงจะตัดสินใจย้ายไปเข้าคอก ซึ่งจะต้องดำเนินการหลัง 7 กุมภาพันธ์ไปแล้ว

ขณะที่เรื่องเขตเลือกตั้งที่ กกต.ขอเวลา 45 วันดำเนินการหลังกฎหมายลูกสองฉบับมีผลบังคับใช้ ยังสร้างความหวั่นใจให้กับนักเลือกตั้งและพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย เนื่องจากเกรงว่าจะมีการเล่นแร่แปรธาตุเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคใหม่ที่มีแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ใหญ่กุมบังเหียนอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น การออกมาชี้แจงเรื่องคำนวณ ส.ส.เขตของ กกต.ที่นับรวมเอาจำนวนประชากรที่ไม่มีสัญชาติไทยรวมเข้าไปด้วยนั้น ถูกมองว่าจะเป็นปัญหาตามมาภายหลังหรือไม่

คนที่ตั้งข้อสังเกตจนทำให้ กกต.ต้องตั้งโต๊ะชี้แจงคือ สมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ยังแสดงความกังขาต่อ ที่อ้างว่าทำแบบนี้มาตั้งแต่การเลือกตั้ง ปี 2562 แล้ว อ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 เมื่อปี 2555 กรณีเลือกตั้งเทศบาลนครแม่สอดว่าแม้มีราษฎรที่มีสัญชาติไทย ไม่ถึงเกณฑ์เป็นเทศบาลนคร 50,000 คน แต่มีคนต่างชาติมาอยู่มาก เทศบาลจึงต้องให้บริการสาธารณะ พร้อมมีการเก็บค่าบริการ จึงสมควรให้เป็นเทศบาลนครได้  แม้มีราษฎรที่มีสัญชาติไทยเพียง 20,000 กว่าคน

ความเห็นของสมชัยมองว่า การที่เคยทำมาก่อนในปี 2562 ไม่ได้แปลว่าที่ทำมานั้นถูก  อาจจะผิดแต่ไม่มีใครทักท้วง เพราะ กกต.มีคำสั่งหัวหน้า คสช.คุ้มกะลาหัวอยู่ เรื่องเทศบาลนครแม่สอด  เป็นเรื่องการให้บริการสาธารณะ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การกำจัดขยะ โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ฯลฯ เมื่อเมืองมีคนเยอะมากขึ้น ก็ยกฐานะเป็นเทศบาลนคร เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริการสาธารณะ เป็นคนละเรื่องกับการคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดมี

ที่ชวนให้สงสัยและเกรงว่าจะกลายเป็นชนวนนำไปสู่อย่างหนึ่งอย่างใดหลังเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่คือ ความเห็นของ วิษณุ เครืองาม เนติบริกรศรีธนญชัยก็บอกว่า โดยหลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่นำมานับเพื่อคำนวณเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่เพียงเท่านั้นแม้แต่คนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน ตรงนี้แหละที่บรรดานักกฎหมายโดยทั่วไปมองว่า หรือจะเป็นเจตนาคิดคำนวณเพื่อให้เกิดปัญหาในอนาคต

ปัญหาที่ว่านั่นก็คือ หากมีการยื่นร้องให้เกิดการวินิจฉัยว่าการคำนวณ ส.ส.เพื่อการแบ่งเขตของ กกต.ไม่ถูกต้อง แล้วมีการชี้ว่าเป็นไปตามนั้น มันหมายถึงการเลือกตั้งที่ดำเนินการไปมีโอกาสที่จะถูกสั่งให้เป็นโมฆะได้ทันที อย่าลืมว่า สิ่งที่ กกต.อ้างคือความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งไม่ใช่ความเห็นอันเป็นที่สุด ลองนึกภาพต่อไปถ้าเลือกตั้งเป็นโมฆะใครจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ รัฐบาลรักษาการที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ นี่ไงถึงได้ย้ำแล้วย้ำอีกอย่าได้ประมาทพวกอย่างหนาเรียกพี่ อะไรที่คนทั่วไปไม่ทำ หรือกลไกปกติไม่น่าจะมีและไม่ทำกัน คนพวกนี้สามารถทำได้แบบไร้ยางอาย

Back to top button