‘OR’ 2 ปีที่น่าผิดหวัง

OR เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครบรอบ 2 ปีเมื่อวันที่ 2 ก.พ.66 การคาดการณ์ของนักลงทุนในวันนั้น กับ ณ วันนี้ ถือว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) หรือ “โออาร์”

เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครบรอบ 2 ปีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566

การคาดการณ์ของนักลงทุนในวันนั้น กับ ณ วันนี้

ถือว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เข้าเทรดวันแรกของโออาร์ช่วงเปิดตลาด ราคาลดลงไปต่ำสุด 22.10 บาท และขึ้นมาสูงสุด 29.50 บาท

ก่อนจะมาปิดที่ระดับ 29.25 บาท

ถัดมาอีก 2-3 วัน

ราคาหุ้นโออาร์ทะยานขึ้นไปต่อเนื่อง

ราคาหุ้นขึ้นไปสูงสุดถึง 36.50 บาท

มีนักลงทุนรายใหญ่ รายย่อย เข้ามาเทรดกันคึกคัก

ด้วยความคาดหวังกับแผนธุรกิจของโออาร์ที่นอกเหนือจากค้าปลีกน้ำมันแล้ว

ยังคาดหวังกับธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันอย่างค้าปลีกที่ประเมินว่า โออาร์น่าจะขึ้นมาเป็นยักษ์ในวงการธุรกิจค้าปลีก เทียบกับบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของไทย

ทว่า ผ่านมาจนถึงวันนี้

“ความหวัง” กลายเป็นเหลือแค่ “ความฝัน”

ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของโออาร์ไม่สามารถสร้างกำไรหรือหามาร์จิ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น

เมื่อมีการเข้ามาแทรกแซงจากภาครัฐกับ “ค่าการตลาด” ในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดทะยานขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น ดูเหมือนแผนการรุกในธุรกิจค้าปลีกของโออาร์

มีเพียงการเข้าซื้อกิจการขนาดทีไม่ได้ใหญ่มาก

และกิจการเหล่านั้น ยังไม่ได้สร้างรายได้ และกำไรอย่างมีนัยสำคัญให้กับโออาร์

ล่าสุด ผลประกอบการไตรมาส 3/65 ของโออาร์

EBITDA Margin ของธุรกิจค้าปลีก (ไม่ใช่น้ำมัน) กลับลดลง ทั้งที่ควรจะเพิ่มขึ้น

นั่นทำให้ความหวังของนักลงทุนที่จะให้โออาร์ฝากไว้กับธุรกิจค้าปลีก (แม้จะยังมีขนาดเล็ก ๆ) กลับ “พังทลาย”

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/65

มีการวิเคราะห์กันว่า ตัวเลข EBITDA Margin ในธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันจะลดลงจากไตรมาสก่อน ด้วยเหตุผลต้นทุนวัตถุดิบและโฆษณาที่สูงขึ้นของธุรกิจค้าปลีก

และที่เลวร้ายกว่านั้น

บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ที่ต่าง ๆ

ค่อนข้างคาดการณ์ไปในแนวทางเดียวกันว่า ไตรมาส 4/65 “โออาร์จะขาดทุน”

ทำให้มีการปรับลดราคาเป้าหมายของโออาร์ลงมาค่อนข้างมาก

ส่งผลราคาหุ้นปรับลดลงต่อเนื่อง

แต่ยังลงมาไม่เท่ากับจุดต่ำสุด (22.10 บาท) ในวันแรกที่เข้าเทรด

โออาร์ หากเราจะคาดหวังกับเรื่องค้าปลีกน้ำมัน

คงเป็นเรื่องยาก เพราะทราบกันดีว่า น่าจะมีการเข้าแทรกแซงเรื่องราคาน้ำมันจากภาครัฐไปเรื่อย ๆ

ส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน

คล้ายกับว่า โออาร์จะโพสิชั่นตัวเองไปทางด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ (CVS) มากกว่าที่จะดันตนเองขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่วงการธุรกิจค้าปลีก

ส่วนการให้บริการเกี่ยวกับสถานีชาร์จสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

ยังคงไม่น่าจะสร้างรายได้และกำไรอย่างมีนัยสำคัญได้ในช่วงนี้

ก่อนหน้านี้ เคยเขียนไปแล้วว่า

หากดีลธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันของโออาร์ ถ้าจะให้ดูน่าสนใจจริง ๆ

ฟังแล้วจะต้องร้อง “ว้าว”

คือต้อง “บิ๊ก” จริง ๆ เท่านั้น

Back to top button