‘ภาษีลาภลอยน้ำมัน’ กระหึ่มอีกครั้ง.!
“อำนาจเงิน” ที่บริษัทน้ำมันทั่วโลกมีอยู่อย่างมหาศาล ก็คงสามารถ “กล่อม” รัฐบาล ให้ “ปิดหูปิดตา” ได้อีกตามเคย
ทันทีที่รับรู้กันว่า บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของชาติตะวันตก หรือ Big oil มีกำไรมากกว่าสองเท่าในปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าอัตราผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ ก็เริ่มมีเสียงประณามว่าฟันกำไรท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชน และออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเก็บ “ภาษีลาภลอย” กับบริษัทน้ำมัน กันอีกครั้ง หลังจากที่การเรียกร้องในปีที่ผ่านมาเงียบหายไปกับสายลม
กำไรรวมของบริษัท บีพี เชฟรอน อีควินอร์ เอ็กซ์ซอน โมบิล เชลล์ และโตตาล อีเนอร์จีส์ มีมูลค่าสูงถึง 219,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2565 ทำลายสถิติก่อนหน้าฉลุยและเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า ดังนั้นจึงสามารถจ่ายปันผลได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 110,000 ล้านดอลลาร์ และยังสามารถซื้อหุ้นคืนได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย
“เอ็กซ์ซอน โมบิล” ทำกำไรสูงสุดในอุตสาหกรรมน้ำมันตะวันตก โดยมีมูลค่า 56,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เชลล์ ฟันกำไรเกือบ 40,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดกว่าที่เคยทำได้ และทำลายสถิติกำไรก่อนหน้านี้ที่ทำไว้ 28,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2551 ได้อย่างสบาย ๆ
“อีควินอร์” บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของนอร์เวย์ มีกำไรจากการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาเพิ่มสองเท่าเช่นกัน โดยอยู่ที่ 74,900 ล้านดอลลาร์ เพราะว่าราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งขึ้น และบริษัทได้กลายเป็นซัพพลายเออร์ก๊าซรายใหญ่สุดของยุโรปหลังจากบริษัท ก๊าซพรอมของรัสเซียลดการป้อนน้ำมันให้ชาติตะวันตกที่สนับสนุนยูเครน
บริษัท โตตาลอีเนอร์จีส์ ของฝรั่งเศส ก็ใช่ย่อยทำกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ 36,200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ บีพี ได้กำไร 27,700 ล้านดอลลาร์ ส่วน เชฟรอน บริษัทน้ำมันอันดับสองของสหรัฐฯ ได้กำไรสุทธิเหนาะ ๆ 36,500 ล้านดอลลาร์ เกินกว่าสถิติก่อนหน้าเมื่อปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 10,000 ล้านดอลลาร์
เหตุผลใหญ่ที่ทำให้บริษัทน้ำมันมีกำไรมากปีที่ผ่านมาคือ การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ทำให้ราคาพลังงานผันผวนรุนแรงและพุ่งเอาพุ่งเอาจนผู้ใช้รถต้องปาดเหงื่อวันแล้ววันเล่า ขณะเดียวกันสงครามยูเครนยังได้เปลี่ยนโฉมตลาดพลังงานทั่วโลกและเป็นข้ออ้างให้บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ลดเป้าหมายและยืดระยะเวลาในการบรรลุแผนงานด้านสภาวะอากาศเพื่อร่วมลดภาวะโลกร้อนไปด้วย
มีเสียงโจมตีต่อบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากทั้งนักการเมือง เอ็นจีโอและ ประชาชนหลังจากเห็นตัวเลขกำไร เช่นประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า กำไรที่พวกเขาทำได้สองแสนล้านท่ามกลางวิกฤตพลังงานโลกเป็นสิ่งที่น่าคับแค้นใจและรับไม่ได้ นอกจากนี้ยังกล่าวว่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่เอากำไรไปเพิ่มการผลิตในประเทศเพื่อช่วยลดราคาน้ำมันน้อยเกินไป แต่กลับใช้ผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ซื้อหุ้นของตัวเองคืน ตอบแทนซีอีโอและผู้ถือหุ้น ในขณะเดียวกัน ไบเดนก็เสนอให้เพิ่มภาษีเป็นสี่เท่าสำหรับการซื้อหุ้นคืนเพื่อจูงใจให้มีการลงทุนระยะยาว โดยยืนยันว่าผู้บริหารบริษัทจะยังคงทำกำไรได้ “มาก”
กลุ่มนิรโทษกรรมสากลก็ระบุว่า ผลกำไรจำนวนมหาศาลของ Big Oil “ไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดเจน และ เป็น “ภัยพิบัติที่ไม่อาจบรรเทาได้” โดยบอกว่าจะต้องเก็บภาษีต่อกำไรที่ได้หลายแสนล้านดอลลาร์ให้เพียงพอเพื่อที่รัฐบาลสามารถจัดการกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพให้กับประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด และปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ดียิ่งขึ้นเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลก
เหตุผลในการปกป้องผลกำไรอันมหาศาลที่บรรดาซีอีโอของ Big Oil ได้ยกมาอ้างคือ การให้ความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานในขณะที่กำลังมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน และขู่กลาย ๆ ว่า การเก็บภาษีที่สูงขึ้นอาจขัดขวางการลงทุนได้
แม้ซีอีโอจะบอกว่าท้ายที่สุดแล้ว ภาษีลาภลอยเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ แต่ก็ทิ้งท้ายว่า บริษัทน้ำมันต้องการ “บรรยากาศการลงทุนที่ปลอดภัยและมั่นคง”
มีความเป็นไปได้ว่า การเรียกร้องให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ อาจจะเป็นเพียงการ “โหนกระแส” และ “คล้อยตามอารมณ์ร่วมของมวลชน” ที่รับไม่ได้กับกำไรที่มากเกินควร และ มันบาดใจชาวบ้านเมื่อย้อนไปดูในปีที่ผ่านมาว่า ต้องยอมควักเงินมาเติมน้ำมัน และก๊าซที่พุ่งทะยานไม่หยุดวันแล้ววันเล่าเกือบทั้งปี
สุดท้ายแล้ว “อำนาจเงิน” ที่บริษัทน้ำมันทั่วโลกมีอยู่อย่างมหาศาล ก็คงสามารถ “กล่อม” รัฐบาล ให้ “ปิดหูปิดตา” ได้อีกตามเคย และ “ภาษีลาภลอยน้ำมัน” ก็จะเป็นได้แค่ “ภาษีล่องลอย” ที่ยากจะเก็บได้จริง เหมือนที่ผ่าน ๆ มา