พาราสาวะถี
ไฮไลต์สำคัญของการเมืองสัปดาห์นี้อยู่ที่การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้
ไฮไลท์สำคัญของการเมืองสัปดาห์นี้อยู่ที่การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ เป้าหมายของฝ่ายค้านคือจับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจขึงพืด หวังผลไปถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โหมโรงกันมาระยะหนึ่งก่อนที่จะเข้มข้นและมองเห็นทิศเห็นทางที่ชัดเจนกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีการยุบสภาหนีซักฟอกแน่ แต่จะเป็นการใช้กลเกมทางข้อกฎหมายเพื่อชิงไหวชิงพริบระหว่างฝ่ายกุมอำนาจกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน
ส่งสัญญาณเป็นนัยจาก วิษณุ เครืองาม เนติบริกรศรีธนญชัย ถ้าการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติเกิดมีการเล่นเกมองค์ประชุมล่ม ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปดังกล่าวต้องถูกตีตกไปด้วย ในความหมายของมือกฎหมายผู้จงรักภักดีต่อผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเผด็จการก็คือ การทำให้องค์ประชุมไม่ครบโดยพรรคร่วมรัฐบาลก็คือ การล้มญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป แนวโน้มก็เหมือนว่าจะเป็นไปในทิศทางนั้น เมื่อพรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล ส่งซิกว่าจะไม่อยู่เป็นองค์ประชุมเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม มันอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิดเมื่อ “ตี๋กร่าง” สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ออกมาแย้งความเห็นข้อกฎหมายของเนติบริกรศรีธนญชัย โดยยกข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ถึงสภาล่มจากเหตุองค์ประชุมไม่ครบในวันที่มีการประชุมพิจารณาญัตติดังกล่าว ก็ไม่สามารถล้มการอภิปรายทั่วไปได้ เพราะตามข้อบังคับสภานั้นจะต้องเลื่อนการอภิปรายญัตติที่องค์ประชุมไม่ครบนั้น ไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
ไม่ว่าความเห็นไหนจะถูก แต่การหนีการถูกอภิปรายจากพรรคฝ่ายค้านไม่น่าจะเป็นผลดีต่อตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ แม้แต่พรรคภูมิใจไทยที่ขู่จะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมเพราะเกรงว่าจะถูกตีแผลของแกนนำพรรคคนสำคัญอย่าง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ แต่การหนีซักฟอกก็ไม่น่าจะก่อประโยชน์กับพรรค มิหนำซ้ำ ยังจะเป็นจุดอ่อนที่ถูกฝ่ายค้านตี และประชาชนก็จะเชื่อว่าฝ่ายกุมอำนาจกลัวเรื่องที่จะถูกแฉ ทำให้มองกันต่อไปว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องจริง
เมื่อประเมินความกลัวและผลประโยชน์ที่จะได้ระหว่างการร่วมอภิปรายกับการหนีซักฟอก ระหว่างผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ กับพรรคภูมิใจไทยแล้ว ความกลัวน่าจะไปตกกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจมากกว่า เนื่องจากไม่ได้กังวลว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายเรื่องอะไร เพราะยังคงมั่นใจว่าด้วยข้อมูลที่มีอยู่ หากไม่มีอะไรที่เล็ดลอดจากภายในไปตกอยู่ในมือฝ่ายค้าน เชื่อว่าจะสามารถตอบและโต้สร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเองได้
ที่หวั่นไหวคือ การถูกอภิปรายจาก ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง การที่แต่ละพรรคอ้างว่าให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ต่อการอภิปรายครั้งนี้ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ก็มีความเป็นไปได้ว่า ส.ส.รายหนึ่งรายใดสามารถที่จะลุกขึ้นอภิปรายรัฐมนตรีในรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยเหตุผลว่าต้องการนำเสนอความเห็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารบ้านเมือง ทั้งที่เมื่อมองจากเงื่อนเวลาที่เหลือแม้จะอยู่กันครบวาระ ความเห็นที่มีก็ไม่มีใครสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
กรณีที่มี ส.ส.รัฐบาลลุกขึ้นขอใช้สิทธิอภิปราย ถ้าเป็นไปในลักษณะให้ข้อเสนอแนะนั่นจะเป็นเรื่องดีกับตัวผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ เพราะจะเกิดการชงเองกินเอง แต่หากมี ส.ส.บางคนลุกขึ้นขอตั้งคำถามไปยังท่านผู้นำหรือรัฐมนตรีในรัฐบาล นี่แหละที่น่าเป็นกังวล เนื่องจากไม่มีใครรู้ได้ว่าสิ่งที่ ส.ส.รายนั้นจะถามเป็นปัญหาในการทำงานระหว่างการร่วมรัฐบาลกันมาตลอดระยะเวลา 4 ปีหรือไม่ ถามแล้วตอบไม่ได้ก็เท่ากับเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของคู่แข่งทางการเมืองไปได้อีกหนึ่งพรรค
นักเลือกตั้งอาชีพรับรู้ได้ถึงความต้องการของประชาชน ดังนั้น นาทีนี้จึงไม่ใช่เรื่องกังวลของบรรดาคนที่เป็นหัวหน้าพรรคหรือระดับนำของทุกพรรคที่จะชิงชัยกับผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจว่า รวมไทยสร้างชาติจะได้ ส.ส.กี่ตำแหน่ง จะใช้เทคนิคแทคติกอะไรทางข้อกฎหมายเพื่อพลิกสถานการณ์ให้ตัวเองกลับเข้าสู่อำนาจ เดินต่อบนถนนอยู่ยาวได้ แต่ต่างมองไปว่าหลังการเลือกตั้งแล้วกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่จะมีอะไรมาทำให้สะดุดหรือไม่
ฝ่ายเดินเกมเพื่อเปิดทางสะดวกขอสัญญาณไฟเขียวหากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง คือบรรดากุนซือและทีมเสธ.ของพี่ใหญ่แก๊ง 3 ป. ไม่ได้กังวลเรื่องมือของ ส.ว.ลากตั้งว่าจะสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่ไม่ใช่ผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจหรือไม่ แต่ห่วงเรื่องมือที่มองไม่เห็นกันมากกว่า เมื่อรัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อพวกเราที่หมายถึงนายกฯ ต้องผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเท่านั้น หลังสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง อำนาจที่หนุนหลังมากว่า 8 ปียอมที่จะให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่
พรรคการเมืองที่ตกอยู่ในภาวะน่าสงสารมากที่สุดสำหรับการเลือกตั้งหนนี้คือประชาธิปัตย์ ขณะที่พรรคระนาบเดียวกันมีการเจรจาไปถึงความร่วมมือตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งกันแล้ว พรรคเก่าแก่ยังตกอยู่ในภาวะเลือดไหลไม่หยุด เจ็บปวดมากไปกว่านั้นคือการถูกดูดจากพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ภายใต้สถานการณ์เวลาที่เหลือน้อยลงทุกที ความหวังที่จะได้ ส.ส.เพื่อการันตี 25 ที่นั่ง ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกล้าทุ่มตกปลาในบ่อเพื่อนกับพื้นที่เป้าหมายซึ่งเชื่อว่าไม่พลาดแน่
สแกนความพร้อมของแต่ละพรรคนาทีนี้ มีเพียงพรรคเก่าแก่และพรรคของผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจเท่านั้น ที่ยังจัดสรรวางตัวผู้สมัครไม่ลงตัว อันเนื่องมาจากฝ่ายหนึ่งจ้องที่จะดูด อีกฝ่ายก็รอดูจนวินาทีสุดท้ายว่าจะมีใครถูกดูดไปอีกหรือไม่ ซึ่งฟันธงได้เลยว่ามีอีกล็อตแน่หลังจากที่มีความชัดเจนเรื่องยุบสภา ขณะเดียวกันขั้วที่จับมือกันไว้แล้ว ก็รอเก็บตกในส่วนของพวกที่เชื่อแน่ว่าถ้าไปต่อกับพรรคเดิมแล้วสอบตกกับพวกที่อยู่ระหว่างต่อรองกับพลังดูดรุ่นใหม่จะใจถึงพอหรือไม่ จะเกิดการเก็บกวาดกันเป็นรอบสุดท้าย นั่นจะทำให้เห็นภาพรัฐบาลใหม่ชัดขึ้นว่าหน้าตาเป็นอย่างไร