ปีแห่งการ ‘ลอยแพ’
บริษัทดัง ๆ ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ก็นึกว่าปีนี้กระแสลอยแพพนักงาน (Mass layoffs) น่าจะเบาบางลงบ้าง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
หลังจากที่ได้เห็นข่าวบริษัทดัง ๆ ประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ก็นึกว่าปีนี้กระแสลอยแพพนักงาน ครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า Mass layoffs น่าจะเบาบางลงบ้าง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น จนถึงขณะนี้ ยังมีบริษัทออกมาประกาศปลดคนกันไม่เลิก
นิยามของ Mass layoffs คือ หนึ่ง เมื่อมีพนักงานอย่างน้อย 50 คนถูกเลิกจ้างภายใน 30 วันหรือน้อยกว่านั้น ส่งผลให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้างมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 ของพนักงานทั้งหมดของบริษัท และสอง พนักงาน 500 คนถูกเลิกจ้างภายใน 30 วันหรือน้อยกว่านั้น ไม่ว่าบริษัทจะมีพนักงานมากเพียงใด
ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดที่สุดในสหรัฐฯ โดยจากรายงานของ MONDO เอเย่นต์จัดหางานชื่อดังของประเทศ มีเกือบ 20 บริษัทที่ปลดพนักงานในปีนี้ไปแล้วทั้งที่เพิ่งเข้าเดือนที่สอง และจำนวนพนักงานที่ได้รับผลกระทบแต่ละบริษัทมีตั้งแต่ 1% ถึง 20% และส่วนใหญ่เป็นบริษัทเทคโนโลยี
“ยาฮู” เป็นหนึ่งในบริษัทที่เพิ่งประกาศปลดพนักงานครั้งใหญ่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีแผนที่จะปลดมากกว่า 20% ของกำลังแรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด 8,600 คน พนักงานในแผนกโฆษณาจะได้รับผลกระทบมากกว่าครึ่งของทั้งแผนกภายในปลายปีนี้เนื่องจากเป็นแผนกที่ตั้งใจจะปรับโครงสร้างอยู่แล้ว และเกือบ 1,000 คน จะต้องถูกปลดภายในปลายสัปดาห์ที่แล้วเลย
รายงานชิ้นหนึ่งที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาชี้ว่า การลอยแพพนักงานในสหรัฐฯ ในเดือน มกราคมสูงสุดในรอบกว่าสองปี เนื่องจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เคยเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้พากันลดตำแหน่งงานในอัตราที่สูงสุดเป็นครั้งที่สองเท่าที่เคยมี เพื่อรับมือกับภาวะถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น
บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ อย่าง “กูเกิล อเมซอน” และ “เมต้า” ต้องรีบปลดพนักงานก็เพราะว่า กำลังจัดการได้อย่างลำบากกับ “มาตรการลดต้นทุนที่ยังจำเป็นต้องสามารถแข่งขันได้” เนื่องจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและบริษัทลดลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการจ้างงานเพิ่มเป็นจำนวนมากเกินไปในช่วงที่โควิดระบาดเมื่อกิจกรรมออนไลน์เฟื่องฟู
แม้แต่มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ เมต้า ก็ยอมรับว่า การลดตำแหน่งงานเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมต้า แต่ขณะกรณีของทวิตเตอร์ ต้องลดพนักงานลงครึ่งหนึ่งหลังจากอีลอน มัสก์ เข้ากุมบังเหียนเมื่อเดือน ตุลาคม
การปลดพนักงานครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นนี้ สามารถสร้างความเสียหายต่อทั้งบุคคลที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและต่อเศรษฐกิจโดยรวม คำถามคือ มันเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีหรือไม่ ?
คำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญคือ มันเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้แล้วเพราะภาคเทคโนโลยีโตเร็วมากโดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่เมื่อภาวะดอกเบี้ยกำลังสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกาล บริษัทและบุคคลทั่วไปต้องเตรียมพร้อมที่จะรีเซ็ตความคาดหวังเกี่ยวกับการเติบโต การจ้างงาน และการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและมองว่าบริษัทเทคโนโลยีจะไม่มีฉนวนป้องกันจากการขึ้นลงของเศรษฐกิจอีกต่อไป
อย่างไรก็ดีมีคำปลอบใจและข้อสังเกตว่า คนงานจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบในสหรัฐฯ ดูเหมือนจะหางานใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่า ปีนี้จะเป็นปีแห่ง “การลอยแพ” แต่ถ้าดูตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ มันก็ยังถือว่าต่ำอยู่ โดยในเดือนที่ผ่านมา มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในธุรกิจบาร์และภัตตาคาร บริษัทสุขภาพและธุรกิจก่อสร้าง เสียด้วยซ้ำ
ตะวันอาจลับที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่มันต้องไป “โผล่” ที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งอย่างแน่นอน แค่ต้องรีบจับเทรนด์ธุรกิจใหม่ และหาให้เจอโดยไว..