KEX ต้นทุนกลืนกำไร.!
ก็รู้ ๆ กันอยู่เต็มอกว่างบงวดปี 65 ของหุ้นขนส่งพัสดุค่ายสีส้ม KEX จะไม่ดี หลังงวดช่วง 9 เดือนแรก เห็นตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ทนโท่ 1,898 ล้านบาท
ก็รู้ ๆ กันอยู่เต็มอกว่างบงวดปี 2565 ของหุ้นขนส่งพัสดุค่ายสีส้ม บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX จะไม่ดี หลังงวดช่วง 9 เดือนแรก เห็นตัวเลขขาดทุนสุทธิอยู่ทนโท่ 1,898 ล้านบาท จากรายได้รวม 13,056 ล้านบาท…
แต่ไม่คิดว่าจะไม่ดีขนาดนี้ เพราะมีตัวเลขขาดทุนมโหฬารกว่า 2,829 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 46 ล้านบาท
มิน่าล่ะ ราคาหุ้น KEX ถึงได้เละเป็นโจ๊ก โดยในรอบ 1 สัปดาห์ ราคาปรับลดลงไป 17.13% รอบ 1 เดือน ปรับลดลง 17.58% และรอบ 3 เดือน ปรับลดลง 16.67% ส่วนวานนี้ (15 ก.พ.) ปรับลดลงอีก 3.23% ปิดตลาดที่ 15.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 98.16 ล้านบาท
ส่งผลให้ทุกวันนี้ KEX ก็ยังคงมีสถานะเป็นหุ้นต่ำจองเสมอต้นเสมอปลาย (ราคาไอพีโอที่ 28 บาท)
หากเจาะดูไส้ใน ปี 2565 KEX มีรายได้จากการขายและการให้บริการอยู่ที่ 17,003 ล้านบาท ลดลง 9.6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 18,817 ล้านบาท สาเหตุมาจากราคาค่าจัดส่งพัสดุที่ลดลง
ส่วนตัวเลขที่ยังดูดี คือ ปริมาณการจัดส่งพัสดุในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นถึง 18% จากปีก่อน
แต่สิ่งที่ตามมาเป็นเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจาก 18,858 ล้านบาท ในปี 2564 มาอยู่ที่ 20,681 ล้านบาท ในปี 2565 โดยแบ่งเป็น ต้นทุนการขายและการให้บริการ 18,685 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% และค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร 1,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.7%
กลายเป็นว่า ปี 2565 KEX ถูกต้นทุนกลืนกำไรไปเต็มคาราเบล..!!
แต่ดูเหมือนว่าต้นทุนในการรักษาส่วนแบ่งการตลาดของ KEX (ปัจจุบันเป็นเบอร์ 2 ของตลาด เป็นรองแค่ไปรษณีย์ไทย) ต้องแลกมากับการขาดทุนที่หนักหน่วงเลยทีเดียว…
ก็ไม่รู้ว่างานนี้จะได้ไม่คุ้มเสียหรือเปล่าน้อ..? เป็นคำถามที่หลายคนยังค้างคาใจ..!!
โอเค…แม้ตลาดขนส่งพัสดุเป็นเค้กก้อนใหญ่ โดยในปี 2565 คาดมีมูลค่าราว 1.06 แสนล้านบาท หรือโตประมาณ 17%…แต่ตลาดนี้ก็แข่งขันกันดุเดือดเลือดสาด เพราะเต็มไปด้วยคู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ดาหน้ามาชิงเค้ก ไม่ว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย, ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส, เอสซีจี เอ็กซ์เพรส, ดีแอสแอล อีคอมเมิร์ซ, นิ่มเอ็กซ์เพรส, แฟลช เอ็กซ์เพรส, นินจาแวน, ลาลามูฟ, เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส, ซีเจ โลจิสติกส์ และ Airasia Express เป็นต้น
เลยเป็นที่มาของการทำสงครามห้ำหั่นราคากัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดมาครองให้ได้มากที่สุด
แถมตอนนี้ราคาถูกอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอที่จะมัดใจลูกค้าเสียด้วยสิ บริการต้องรวดเร็วทันใจด้วย
แหม๊…ดูแล้วการจะรักษาส่วนแบ่งการตลาดของ KEX ไม่ง่ายเลยนะเนี่ย..!!
แต่ยังไงก็อย่ามัวโฟกัสแค่ส่วนแบ่งการตลาดนะ เพราะสิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นคงไม่ใช่แค่การเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 ของตลาดเท่านั้น แต่ต้องมีกำไรควบคู่ด้วยนะ..!!
เพราะต่อให้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาด แล้วขาดทุนทุกปี…อย่างนี้นักลงทุนก็คงไม่ปลื้มหรอกนะ…
ครั้นจะบอกว่าให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน…ตอนนี้นักลงทุนที่มีหุ้น KEX อยู่ในพอร์ตน่าจะรู้สึกขมขื่นไปแล้ว..!!
ยังไงก็ฝากให้ผู้บริหาร KEX ต้องเร่งหาแนวทางปั๊มกำไรแล้วล่ะ…ก่อนที่วิกฤตศรัทธาจะกู่ไม่กลับ..!!
…อิ อิ อิ…