TTB เน้นคุมคุณภาพสินทรัพย์
TTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 3,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาส 3/2565
คุณค่าบริษัท
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB โครงสร้างสินเชื่อรวมแบ่งตามประเภทของลูกค้า ณ สิ้นปี 2565 1.สินเชื่อลูกค้ารายย่อย 60% 2.สินเชื่อบรรษัทลูกค้าธุรกิจ 32% และ 3.สินเชื่อ SME 8% สินเชื่อรวมแบ่งตามผลิตภัณฑ์หลัก 1.สินเชื่อเช่าซื้อ 30% 2.สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 23% 3.เงินให้กู้ยืมที่มีกำหนดระยะเวลา 19% 4.สินเชื่อเงินเบิกเกินบัญชี (OD) 16% 5.สินเชื่อเพื่อธุรกิจต่างประเทศ 6% 6.สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต 5% 7.อื่น ๆ 1%
TTB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 3,847 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาส 3/2565 และขยายตัว 37.4% จากไตรมาส 4/2564 หนุนโดยรายได้จากการดำเนินงานอื่น ๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นมาที่ 1,264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.2% จากไตรมาส 3/2565 และเพิ่มขึ้น 69.3% จากไตรมาส 4/2564 โดย TTB รับรู้กำไรพิเศษจากการซื้อคืนตราสารหนี้ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 หรือ AT1 บางส่วน ประมาณ 463 ล้านบาท และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มสูงขึ้นมาที่ 3.10% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 2.92% และเทียบกับไตรมาส 4/2564 ที่ 2.98% จากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ที่ดีขึ้นแม้ว่าต้นทุนทางการเงินจะสูงขึ้นตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่วนการเติบโตในฝั่งรายได้ TTB มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิไตรมาส 4/2565 จำนวน 13,826 ล้านบาท ขยายตัว 6.6% จากไตรมาส 3/2565 และเติบโต 8.3% จากไตรมาส 4/2564 ส่วน NIM เพิ่มขึ้นจากการปรับสัดส่วนสินเชื่อไปยังสินเชื่อรายย่อยที่ผลตอบแทนสูงขึ้นและสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิฟื้นตัวเพิ่มขึ้น 8.5% จากไตรมาส 3/2565 มาที่ 2,750 ล้านบาท แต่ลดลง 8.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ด้านอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ในไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 46% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2565 ที่ 45% แต่ลดลงจากไตรมาส 4/2564 ที่ 49% ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามฤดูกาล
เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ตามงบการเงินรวม ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1,376,118 ล้านบาท ลดลง 1.3% จากไตรมาส 3/2565 แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.4% จากสิ้นปี 2564 มาจากสินเชื่อรายย่อยในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้านเป็นหลัก ส่วนสินเชื่อรายใหญ่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง TTB ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ในไตรมาส 4/2565 จำนวน 4,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.1% จากไตรมาส 3/2565 แต่ลดลง 4.3% จากไตรมาส 4/2564 หรือคิดเป็นอัตราส่วน ECL ต่อเงินให้สินเชื่อ (credit cost) ที่ 1.38% สูงขึ้นเมื่อเทียบไตรมาส 3/2565 ที่ 1.24% แต่ลดลงเมื่อเทียบไตรมาส 4/2564 ที่ 1.46%
TTB มีกำไรสุทธิงวดปี 2565 จำนวน 14,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.5% เมื่อเทียบกับงวดปี 2564 ณ สิ้นปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ไตรมาส 4/2565 และ ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.73% ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และลดลงจากช่วงการระบาดของโควิด-19 ในไตรมาส 3/2564 ที่สูงถึง 2.98% และลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ที่ 2.81% ณ สิ้นปี 2565 ด้านอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 138% ในไตรมาส 4/2565 ดีขึ้นจาก 135% ในไตรมาส 3/2565 ผู้บริหาร TTB ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อที่ 3% ในปี 2566 จากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อย
บล.กสิกรไทย มีมุมมองเชิงบวกต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่ควบคุมได้ โดยปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี 2566-2567 ขึ้น 18%, 20% เป็น 1.66 หมื่นล้านบาท และ 1.91 หมื่นล้านบาท TTB ใช้วิธีการแบบระมัดระวังในการรับรู้รายได้จากดอกเบี้ยค้างรับ เนื่องจากมีการตั้งสำรองเต็มจำนวนสำหรับดอกเบี้ยค้างรับที่เกิดจากสินเชื่อขั้นที่ 3 (NPLs) เพื่อจำกัดความเสี่ยงขาลงในอนาคตและไม่ให้ NII หรือรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิสูงเกินจริง
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น TTB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 14 ก.พ. 2566 ที่ 1.40 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 10.31 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.68 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น TTB อยู่ที่ 0.63 เท่า ต่ำกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.70 เท่า