จับตากล่าวโทษ MORE จะมีภาค 2 หรือไม่ ???

ดู ๆ แล้วงานนี้อาจจะไม่จบง่าย และไม่จบเพียงเท่านี้ เคส MORE ฉาวโฉ่ จะมีภาค 2 หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องติดตาม


เส้นทางนักลงทุน

เผยโฉมหน้าที่แท้จริงกันซะที! เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (.ล.ต.) เดินหน้ากล่าวโทษผู้กระทำความผิด 18 ราย ได้แก่ 1.นายอภิมุข บำรุงวงศ์ 2.นายเอกภัทร พรประภา 3.นายอธิภัทร พรประภา 4.นางอรพินธุ์ พรประภา

5.นายประยูร อัสสกาญจน์ 6.นายวสันต์ จาวลา 7.Mr.Shubhodeep Prasanta Das 8.บริษัท ตงฮั้ว แคปปิตอล จำกัด 9.บริษัท ตงฮั้ว มีเดีย แล็บ จำกัด 10.นายสมนึก กยาวัฒนกิจ 11.นางสาวจิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ

12.นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา 13.นางสาวอัยลดา ชินวัฒน์ 14.นางสาวสุร์ศิริ ปรีดาสุทธิจิตต์ 15.นายอิทธิวรรธน์ วรรณะเอี่ยมพิกุล 16.นายมั่นคง เสถียรถิระกุล 17.นายโสภณ วราพร และ 18.นายอมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีสร้างราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE

งานนี้ถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับตลาดทุนไทยที่หลายหน่วยงานเข้ามาประสานความร่วมมือกันจนทำให้สามารถดำเนินการกล่าวโทษผู้กระทำผิดได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน

ต้องขอชื่นชมและยกนิ้วให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ หรือสมาคมโบรกเกอร์ รวมทั้งบริษัทโบรกเกอร์ทั้งหลาย ตลอดจนสำนักงานก.ล.ต., สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) และกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)

ที่แท็กทีมกันทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการตรวจสอบรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ทำงานเชิงรุกร่วมกันในการสืบสวนและตรวจสอบการกระทำผิดเกี่ยวกับตลาดทุน เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน การบังคับใช้กฎหมายจึงเกิดประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความผิดปกติในการซื้อขายหุ้น MORE ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 แวดวงตลาดทุนต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการยับยั้งความเสียหาย และต่างจับตามองถึงศักยภาพของหน่วยงานทุกฝ่ายที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ท่ามกลางความวิตกกังวลว่าผู้กระทำผิดอาจจะลอยนวลไปได้

กระทั่งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิด 18 รายดังกล่าว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากได้รับข้อมูลจากตลท. กรณีการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ของกลุ่มบุคคลที่อาจเข้าข่ายเป็นการสร้างราคา และข้อมูลจากบก.ปอศ. กรณีมีบริษัทหลักทรัพย์รวม 10 แห่ง ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับบุคคลหลายรายในข้อหาฉ้อโกง

โดยทุจริต หลอกลวง ทำให้ได้ไปซึ่งเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์ เป็นเหตุให้บริษัทหลักทรัพย์ได้รับความเสียหาย และทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE รวมถึงพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังได้ตรวจสอบเพิ่มเติมและประสานการทำงานร่วมกับพนักงานสอบสวน บช.ก. และบก.ปอศ. เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พบว่าผู้กระทำความผิดทั้ง 18 ราย ซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งด้านความสัมพันธ์ส่วนตัว เส้นทางการเงิน การซื้อขายหลักทรัพย์

รวมถึงช่องทางและสถานที่ในการส่งคำสั่งซื้อขาย โดยได้แบ่งหน้าที่กันในการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ดังกล่าว โดยส่งคำสั่งซื้อขายที่มีการจับคู่ซื้อขายกันในปริมาณมาก ทำให้ราคาเปิดของหลักทรัพย์ MORE สูงกว่าราคาปิดของวันก่อนหน้า อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์ MORE

การร่วมมือกันของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการกระทำที่เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 244/3 (1) ประกอบมาตรา 244/5 และมาตรา 244/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ดังนั้นก.ล.ต.จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 18 ราย ต่อบก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ทางด้านปปง.นั้น เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมของปปง. ครั้งที่ 2/2566 มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหุ้น MORE ที่มีความผิดปกติ โดยให้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

งานนี้ นายอภิมุข บำรุงวงศ์ หรือ ปิงปอง กับพวกโดนเต็ม ๆ ฐานมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติเห็นชอบให้เลขาธิการปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 59 รายการ พร้อมดอกผล รวมมูลค่าประมาณ 4,470 ล้านบาท

ราคาหุ้น MORE ตอบรับข่าวด้วยการร่วงติดต่อกัน 4 วันทำการ 17.39% (8-13 กุมภาพันธ์ 2566) จากระดับ 0.46 บาท ลงสู่ระดับ 0.38 บาท

ล่าสุด MORE แจ้งต่อตลท.ว่า “เฮียม้อ” นายอมฤทธิ์ประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจและเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเพื่อพิสูจน์ตนเองในชั้นการสอบสวนต่อไป โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งการลาออกดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยแต่อย่างใด คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนจะพิจารณาสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อดำรงตำแหน่งแทนที่ว่างลง โดยจะอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลือของกรรมการที่ลาออก

แต่แวดวงตลาดทุนยังมีการตั้งคำถามตามมาด้วยว่าตาข่ายในการตรวจสอบเคสนี้ห่างเกินไปหรือไม่ อันเป็นผลสืบเนื่องจากข้อมูลที่เคยปรากฏก่อนหน้านี้ คือ บริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) ได้แจ้งต่อก.ล.ต.ว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ได้บิ๊กล็อตหุ้น MORE จำนวน 948.11 ล้านหุ้น เท่ากับ 13.2108% ของทุนชำระแล้ว ในราคา 0.38 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงิน 360 ล้านบาท จากนายอภิมุข หรือ ปิงปอง, นายศิริศักดิ์ ปิยทัสสกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3, นายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 6 และนายวสันต์

ซึ่งสอดคล้องกับนายศิริศักดิ์ ที่รายงานต่อก.ล.ต.เช่นกันว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ได้ถูกบริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย) บังคับขายหลักประกัน หรือฟอร์ซเซลหุ้น MORE ทั้งหมดจำนวน 742.86 ล้านหุ้น หรือ 10.35% ของทุนชำระแล้ว

ด้านนายสามารถให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า หุ้น MORE ของตัวเองถูกอายัดแค่บางส่วนราว ๆ 100 กว่าล้านหุ้น ส่วนที่เหลือได้เจรจาขายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ จีเอ็มโอ-แซด คอม (ประเทศไทย)

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. ระบุชัดว่าจะบูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่ายในการตรวจสอบการซื้อขายในช่วงเวลาอื่นเพิ่มเติมด้วย ซึ่งเชื่อว่าน่าจะพบผู้กระทำความผิดเพิ่มเติมได้

และแถมท้ายว่า การกล่าวโทษของก.ล.ต.เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย เป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลยพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

ดู ๆ แล้วงานนี้อาจจะไม่จบง่าย และไม่จบเพียงเท่านี้ เคส MORE ฉาวโฉ่ จะมีภาค 2 หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ต้องติดตาม

Back to top button