พาราสาวะถีอรชุน

วันแรกแต่เป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้ สถานการณ์ที่คาดหมายกันว่าผู้มีอำนาจจะลากยาวรากงอกอยู่กันไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2560 แต่มาถึงนาทีนี้เริ่มมีกระแสเสียงชักจะไม่มั่นใจว่า รัฐนาวาคสช.ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพาคณะผ่านพ้นขวากหนามอยู่รอดปลอดภัยไปจนถึงเวลานั้นได้หรือไม่ แม้จะถือดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 อยู่ในมือก็ตาม


วันแรกแต่เป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้ สถานการณ์ที่คาดหมายกันว่าผู้มีอำนาจจะลากยาวรากงอกอยู่กันไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2560 แต่มาถึงนาทีนี้เริ่มมีกระแสเสียงชักจะไม่มั่นใจว่า รัฐนาวาคสช.ภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพาคณะผ่านพ้นขวากหนามอยู่รอดปลอดภัยไปจนถึงเวลานั้นได้หรือไม่ แม้จะถือดาบอาญาสิทธิ์มาตรา 44 อยู่ในมือก็ตาม

จากเดิมที่เป็นกังวลว่าปัญหาเศรษฐกิจจะพ่นพิษทำให้รัฐบาลรัฐประหารไปต่อกันไม่เป็น แต่กว่าจะเห็นผลดอกผลของมาตรการต่างๆ ที่ได้หว่านลงไป ยังต้องใช้เวลา นาทีนี้ปมการทุจริตอุทยานราชภักดิ์น่าจะเป็นชนักปักหลักของรัฐบาลประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นคณะผู้บริหารประเทศที่มีนายทหารใหญ่นั่งร่วมคณะเกินครึ่งของจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมด กลับปล่อยให้มีข่าวคราวมัวหมองกับในโครงการที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีของคนไทยทั้งประเทศ

ด้วยเหตุนี้แม้จะพยายามอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัวแล้วผลักให้เป็นการใช้จ่ายเงินบริจาคไม่เกี่ยวกับงบประมาณแผ่นดิน แต่หลังจากที่สื่อได้พากันสาวไส้จนเห็นความไม่ปกติหลายๆ ประการ ขนาด พลเอกธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ.แถลงด้วยท่าทีขึงขัง หวังว่าคนจะเชื่อและได้ดอกไม้กลับมา กลายเป็นก้อนอิฐที่สร้างความอิดหนาระอาใจไปเสียฉิบ

ล่าสุด ไม่รู้ว่าจะเป็นเรื่องราวใหญ่โตอะไรขึ้นมาอีกหรือไม่และยิ่งเป็นการตอกย้ำภาพความไม่ชอบมาพากลหนักเข้าไปอีก หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้ารวบตัว จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.คาตลาดสดมหาชัยเมืองใหม่ หลังที่แวะพักตั้งขบวนจะพากันไปเยี่ยมชมและถวายสักการะพระบรมรูปบูรพกษัตริย์ที่อุทยานราชภักดิ์

ในเมื่อยืนยันมาโดยตลอดทุกอย่างโปร่งใสไร้ปัญหา ขณะที่โฆษกรัฐบาลและโฆษกคสช.ก็ยืนยันว่า ยังคงมีประชาชนเดินทางไปเยี่ยมชมกันไม่ขาดสาย แล้วทำไมประชาชนกลุ่มหนึ่งในนามนปช.จะเดินทางไปไม่ได้ กลายเป็นว่า ยิ่งกระทำยิ่งดิ้นยิ่งอธิบายกับสังคมอย่างไร แทนที่จะทำให้คนไร้ข้อสงสัยโดยสิ้นกระบวนความ กลับเป็นว่ามีปุจฉาเกิดขึ้นมาไม่หยุดหย่อน

ภาพดังกล่าวนี้ หากเป็นสื่อในประเทศโดยเฉพาะสื่อเลือกข้างอาจจะพอถูๆ ไถๆ ให้คนเชื่อกันได้บ้าง ยิ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามคนเสื้อแดงคงไม่ต้องพูดถึงพร้อมที่จะเชื่อทุกอย่างที่ผู้มีอำนาจยัดใส่สมองอยู่แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าในสายตาของต่างชาติหากมีการนำไปเผยแพร่พร้อมกับเหตุผลที่ทำให้ถูกจับกุม ไม่รู้จะอธิบายให้นานาชาติเข้าใจยังไง

ยิ่งได้ยินคำให้สัมภาษณ์ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่บอกว่า ทั้งสองคนไม่สมควรไปและคงคิดได้เรื่องนี้กระทรวงกลาโหมได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดใหม่ขึ้นมาสอบสวนแล้ว แต่ก็น่าขีดเส้นใต้ต่อคำให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวการกดดันให้ พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยกลาโหม

หากจำกันได้ก่อนหน้านั้นบิ๊กป้อมจะยืนยันโดยตลอด บิ๊กโด่งไม่ต้องชี้แจงหรือแสดงความรับผิดชอบใดๆ แต่พอมาวันนี้ถามอีกหนพลเอกประวิตรบอกว่า พลเอกอุดมเดชคิดเองได้ว่าควรลาออกหรือไม่เพราะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ต้องส่งสัญญาณใดๆ งานนี้คงไม่ต้องตีความหมายอะไรกันให้เมื่อยตุ้ม น่าจะถึงเวลาที่เตี้ยต้องเลิกอุ้มค่อมแล้ว มิเช่นนั้น จะพังกันทั้งคณะ

มุมที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเพื่อให้เป็นที่น่าเชื่อถือต่อประเด็นอุทยานราชภักดิ์นั้น จาตุรนต์ ฉายแสง ได้ให้ทัศนะอย่างน่าสนใจ ก่อนหน้านี้ โดยชี้ว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่พากันบอกว่าจะตรวจสอบได้ต้องมีคนไปร้องทุกข์กล่าวโทษหรือกล่าวหาเสียก่อน บางองค์กรอย่างป.ป.ช.ยังไม่ทันจะตรวจสอบก็รีบออกมาบอกว่ายังไม่พบการทุจริต ฟังคล้ายกับจะบอกว่าไม่มีการทุจริต

ปัญหาจึงมาอยู่ที่การตรวจสอบซึ่งดูจะมีปัญหามากและยังไม่มีวี่แววว่าจะมีการตรวจสอบที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ นี่คือโจทย์ข้อใหญ่และยากสำหรับคสช.และรัฐบาลในวันนี้ ผู้ต้องสงสัยหรือถูกกล่าวหาจากสังคมที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการอุทยานราชภักดิ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นผบ.ทบ.และปัจจุบันยังเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม

การที่รัฐมนตรีกลาโหมตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่มีรองปลัดกระทรวงเป็นประธานและกรรมการส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในกระทรวงจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่น่าเชื่อถือว่า คณะกรรมการจะสามารถทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาได้ การตั้งกรรมการสอบสวนที่จะมีผลทางวินัยนี้ควรให้เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการควรเป็นระดับปลัดกระทรวง

ที่เป็นปัญหายิ่งขึ้นไปอีกคือ การตรวจสอบโดยศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือศอตช. ซึ่งดูเหมือนรัฐบาลอาจจะใช้ตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ากำลังเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ แต่กลับจะยิ่งแสดงให้เห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเรื่องการทุจริตในโครงการนี้เสียอีก นั่นคือ ปัญหาระบบของการจัดการกับการทุจริตที่ คสช.และรัฐบาลนี้ได้ออกแบบและสร้างไว้

คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่มีรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานนั้นตั้งโดยคสช. ในคณะกรรมการนี้ทั้งป.ป.ช. สตง. อัยการสูงสุดและองค์กรอื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการปราบการทุจริตอยู่ด้วย หมายความว่าโดยระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ องค์กรอิสระทั้งหลายที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการปราบการทุจริตไม่มีความเป็นอิสระหรือไม่ใช่องค์กรอิสระแล้วนั่นคือ ปัญหา

แต่ยังไม่จบแค่นี้ ศอตช.และองค์กรต่างๆ ที่ไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติที่อยู่ใต้คำสั่งของคสช.นี้ กำลังจะตรวจสอบโครงการที่ดำเนินการมาโดยอดีตเลขาธิการคสช.และปัจจุบันยังเป็นกรรมการคสช.อยู่ ย่อมมีคำถามว่าการตรวจสอบที่ทำโดยระบบกลไกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางอำนาจหน้าที่และผลประโยชน์เช่นนี้ จะเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมได้อย่างไร

ทางที่ดี เฉพาะหน้านี้จึงไม่ควรใช้ศอตช.ทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการนี้ แต่ควรส่งเสริมและให้ความร่วมมือให้องค์กรที่มีหน้าที่ทั้งหลายทำหน้าที่ไปอย่างเป็นอิสระจากคสช.และรัฐบาล ส่วนขั้นตอนต่อไปควรจะทบทวนระบบการจัดการกับการทุจริตเสียใหม่ อย่าให้อีนุงตุงนังหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้อย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ นี่คือปัญหาที่น่าจะสาหัสกว่าเรื่องเศรษฐกิจที่คิดว่าผู้มีอำนาจเด็ดขาดไม่คาดคิดว่าจะเจอและไม่เชื่อว่าจะสลัดเรื่องนี้ไม่หลุด

Back to top button