‘ค่าแรง’ขาขึ้น
แม้ยังคงมีข่าวบริษัทปลดคนงานเป็นระยะ ๆ อยู่ในขณะนี้ แต่ในญี่ปุ่น บริษัทยักษ์ใหญ่ได้พากันประกาศขึ้นค่าแรงกันเป็นทิวแถว
แม้ยังคงมีข่าวบริษัทปลดคนงานเป็นระยะ ๆ อยู่ในขณะนี้ แต่ในญี่ปุ่น บริษัทยักษ์ใหญ่ได้พากันประกาศขึ้นค่าแรงกันเป็นทิวแถว เนื่องจากไม่สามารถต้านทานแรงกดดันและเสียงเรียกร้องจากทั้งสหภาพแรงงานและผู้กำหนดนโยบายของประเทศได้ การยอมขึ้นค่าแรงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ และฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นสองยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น ล่าสุดน่าจะเป็นเค้าลางว่า บริษัทอื่น ๆ ทั่วทุกอุตสาหกรรม จะต้องขยับตามอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่สุดของโลก ประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า จะยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ต้องการให้เพิ่มฐานเงินเดือน แม้ทั้งบริษัทและสหภาพไม่ยอมบอกว่าจะขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ระบุว่าฐานเงินเดือนที่จะขึ้นนั้น สูงสุดในรอบ 20 ปี นอกจากนี้จะขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานพาร์ตไทม์และพนักงานสัญญาจ้างอาวุโส และยังตกลงจ่ายโบนัสแบบครั้งเดียว จำนวน 6.7 เดือนด้วย
ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่โตโยต้าประกาศ คู่แข่งอย่าง ฮอนด้า มอเตอร์ ก็ประกาศขึ้นตาม โดยบริษัทตกลงทำตามข้อเรียกร้องของสภาพแรงงานที่จะขึ้นค่าแรง 5% โดยฐานเงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนที่เพิ่มขึ้น 12,500 เยน หรือ 92.70 ดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3,200 บาท ถือเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 เป็นอย่างน้อย
การขยับตามของฮอนด้าเป็นไปตามที่ โคจิ ซาโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของโตโยต้าได้ว่าไว้ ซึ่งระบุว่า การตัดสินใจยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพทั้งหมดในการเจรจารอบแรกนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะโตโยต้าเท่านั้น แต่หมายรวมถึงอุตสาหกรรมโดยรวมด้วย และหวังว่าจะนำไปสู่การหารืออย่างตรงไปตรงมาระหว่างลูกจ้างและฝ่ายบริหารในแต่ละบริษัทด้วย
ในฐานะที่โตโยต้าเป็นหนึ่งในนายจ้างใหญ่สุดของญี่ปุ่น บริษัทได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการเจรจากับแรงงานในช่วงฤดูใบไม้ผลิมานาน การยอมขึ้นค่าแรงของโตโยต้า จึงทำให้หลายคนคาดการณ์ว่า บริษัทใหญ่ ๆ ที่กำลังเจรจากับสหภาพอยู่ จะได้ข้อสรุปอย่างรวดเร็วเช่นกัน
ความจริงแล้ว ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวจากโตโยต้าและฮอนด้า เมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง เจ้าของแบรนด์ยูนิโคล ได้ประกาศขึ้นค่าแรงสูงถึง 40% และ นินเทนโด ผู้ผลิตวิดีโอเกม ก็ประกาศเมื่อต้นเดือนที่แล้วเช่นกันว่า มีแผนที่จะเพิ่มฐานเงินเดือนพนักงาน 10% แม้จะปรับลดประมาณการกำไรทั้งปี
การยอมขึ้นค่าแรงของนายจ้างรายใหญ่ในญี่ปุ่น มีขึ้นในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหาทางขึ้นค่าแรงเพื่อต่อสู้เงินเฟ้อเพื่อลดภาระแก่ผู้บริโภค นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้เรียกร้องให้ผู้นำธุรกิจเร่งขึ้นค่าแรง โดยเตือนว่า หากขึ้นค่าแรงไม่ทันกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระวังภาวะ stagflation (การเติบโตชะลอตัว แต่เงินเฟ้อสูง) อาจกลับมา
จากการแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการงบประมาณสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่า รัฐบาลจะกระตุ้นการบริโภคและขยายอุปสงค์ภายในประเทศด้วยการส่งเสริมความพยายามในการปรับขึ้นค่าจ้างเชิงโครงสร้าง
ขณะเดียวกัน ฮารุฮิโกะ คูโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบันที่จะพ้นจากตำแหน่งในต้นเดือน เมษายนนี้ ก็ระบุว่า จำเป็นต้องให้ค่าแรงโต 3% เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพที่ 2% ตามเป้า
แต่ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 4% สูงสุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่เกิดภาวะเงินฝืดมานานหลายทศวรรษ ดังนั้นในขณะนี้ญี่ปุ่นจึงมีแรงกดันมากกว่าเก่าก่อนที่จะขึ้นค่าแรงเพื่อฟื้นฟูการบริโภค
นอกจากนี้เนื่องจาก เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังโตได้อย่างลำบาก แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ช่วงไตรมาสสี่ แต่การเติบโตก็ยังต่ำกว่าคาด นักวิเคราะห์จึงมองว่า การขึ้นค่าแรงน่าจะยังคงจำกัดวงแต่ในบริษัทใหญ่ ๆ อย่างเช่นโตโยต้า บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กน่าจะขึ้นค่าแรงได้ยากอยู่
ถึงกระนั้นก็ตามการขึ้นค่าแรงของบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่นถือเป็นสัญญาณว่าแนวโน้มค่าแรงกำลังเป็นขาขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบกว่าสี่ทศวรรษได้บั่นทอนอำนาจซื้อของครัวเรือนเป็นอันมาก และการขึ้นค่าแรงในญี่ปุ่นก็อาจมีผลกระทบต่อการขึ้นค่าแรงในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกที่มีบริษัทญี่ปุ่นเป็นนายจ้างรายใหญ่เช่นกัน
เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทญี่ปุ่นและมีบริษัทญี่ปุ่นมาตั้งโรงงานเป็นจำนวนมาก นโยบายการขึ้นค่าแรงจะต้องมีผลมาถึงบริษัทญี่ปุ่นในบ้านเราด้วยแน่ และมันน่าจะส่งผลให้บริษัทภายในประเทศต้องขยับค่าแรงตามเพื่อรักษาแรงงานเอาไว้ บริษัทต่าง ๆ ต้องเตรียมรับมือกับกระแสนี้ให้ดี เพราะมันจะมีผลกระทบแน่ ไม่ช้าหรือเร็ว
อย่างไรก็ดีการขึ้นค่าแรงก็เป็นดาบสองคม แม้ว่าจะเป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงาน แต่หากธุรกิจที่ยอมขึ้นค่าแรง ผลักภาระไปให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นราคาสินค้า ราคาข้าวของต่าง ๆ ก็จะแพงมากขึ้นจนเกิดเป็นปัญหาเงินเฟ้อตามมาวนเวียนเช่นเดิมได้เหมือนกัน