SCB มุ่งเติบโตธุรกิจอัตรากำไรสูง
SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 7,142.6 ล้านบาท ลดลง 30.71% จากไตรมาส 3/2565 และลดลง 9.26% จากไตรมาส 4/2564
คุณค่าบริษัท
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB โครงสร้างสินเชื่อตามกลุ่มลูกค้า ณ สิ้นไตรมาส 4/2565 (% ของสินเชื่อรวม) 1.สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 36.06% 2.สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 17.14% 3.สินเชื่อบุคคล 46.80% 4.สินเชื่อของบริษัทย่อย 5.75% ภายใต้สินเชื่อบุคคล จำแนกต่อได้ดังนี้ 1.สินเชื่อเคหะ 30.69% 2.สินเชื่อเช่าซื้อ 7.94% 3.สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน 1.82% 4.สินเชื่ออื่น ๆ 0.60%
SCB รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 มีกำไรสุทธิ 7,142.6 ล้านบาท ลดลง 30.71% จากไตรมาส 3/2565 และลดลง 9.26% จากไตรมาส 4/2564 เป็นผลจากรายได้จากการลงทุนและการค้าที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ที่ลดลง ซึ่งถูกหักล้างด้วยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิไตรมาส 4/2565 เติบโต 18.4% จากไตรมาส 4/2564 และเพิ่มขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 มาที่ 29,340 ล้านบาท เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) มาที่ 3.54% ในไตรมาส 4/2565 จาก 3.12% ในไตรมาส 4/2564 และ 3.38% ในไตรมาส 3/2565
บวกกับการเติบโตของยอดสินเชื่อรวม 3.3% จากสิ้นไตรมาส 4/2564 และเพิ่มขึ้น 1.3% จากสิ้นไตรมาส 3/2565 มาที่ 2,377,214 ล้านบาท โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัว 3.5% และสินเชื่อบุคคลขยายตัว 3.9% จากปี 2564 รายได้ค่าธรรมเนียมและอื่น ๆ ไตรมาส 4/2565 มีจำนวน 10,485 ล้านบาท ลดลง 15.9% จากไตรมาส 4/2564 และลดลง 10.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งลดลง 17.5% จากไตรมาส 3/2565 และธุรกิจขายประกันผ่านธนาคารที่ลดลง 10.6% จากไตรมาส 3/2565
SCB มีขาดทุนจากการลงทุนและการค้าไตรมาส 4/2565 จำนวน 1,567 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนจากพอร์ตเงินลงทุน (FVTPL) จำนวน 506.98 ล้านบาท ส่วนใหญ่จากพอร์ตของ SCB10X ซึ่งทำธุรกิจแพลตฟอร์มและสินทรัพย์ดิจิทัล ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานในไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้นสูงถึง 20.8% จากไตรมาส 4/2564 มาที่ 20,854 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 23.1% จากไตรมาส 3/2565 ส่วนใหญ่จากค่าใช้จ่ายอื่นที่เพิ่มขึ้นจากแคมเปญการตลาด, ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ และภาษีจ่ายที่สูงขึ้นมากจากการโอนธุรกิจ
ยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพ (gross NPLs) ตามงบการเงินรวม ณ สิ้นปี 2565 ลดลง 12.6% จากปี 2564 แต่เพิ่มขึ้น 3.5% จากไตรมาส 3/2565 มาที่ 95,329 ล้านบาท โดยอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (gross NPL ratio) ดีขึ้น โดยลดลงจากสิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 3.79% มาอยู่ที่ 3.34% ณ สิ้นปี 2565 และทรงตัวจากไตรมาส 3/2565 ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ในปี 2565 ลดลง 19.5% จากปี 2564 มาอยู่ที่ 33,829 ล้านบาท (1.45% ของสินเชื่อรวม) จากการตั้งสำรองที่สูงในปี 2564 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) ของ SCB ณ สิ้นปี 2565 ลดลงมาที่ 159.7% ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ที่ 163.8% แต่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 ที่ระดับ 139.4%
บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ชอบ SCB ที่ธุรกิจมีอัตรากำไรสูง (เช่น สินเชื่อไม่มีหลักประกัน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ และสินเชื่อดิจิทัล) มีศักยภาพในการเติบโตสูง อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโต น่าจะเข้ามาหักล้างอานิสงส์ที่คาดจะได้รับจากดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะสั้น
สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น SCB ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่ 100.50 บาท) ซื้อขายกันที่ P/E 9.01 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มธนาคารที่ 8.81 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น SCB อยู่ที่ 0.73 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มธนาคารที่ 0.70 เท่า