GULF ดีต่อเนื่อง
GULF ถูกยกให้เป็นบจ.ที่มีปัจจัยพื้นฐานแกร่ง และขอบเขตอัพไซด์ต่อประมาณการกำไร มูลค่ามาร์เก็ตแคปอาจสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ได้ในอีกไม่กี่ปี
เส้นทางนักลงทุน
บริษัทจดทะเบียนแถวหน้าที่ไม่สร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนทั้งในด้านผลประกอบการและการจ่ายเงินปันผล ต้องยกให้บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่โชว์กำไรสุทธิงวดปี 2565 สูงถึง 11,417.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จากปี 2564 ที่มีกำไรสุทธิ 7,670.29 ล้านบาท
ขณะที่ มีรายได้รวม 101,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% จาก 52,870 ล้านบาท รวมทั้งยังจ่ายปันผลในอัตราสูงถึง 151% ที่หุ้นละ 0.60 บาท สำหรับงวดปี 2565 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 1 มี.ค. และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 27 เม.ย. 2566 นี้
เฉพาะไตรมาส 4 ปี 2565 GULF มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 5,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จาก 3,043 ล้านบาท
ปัจจัยหนุนส่งมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,325 เมกะวัตต์ เมื่อเดือน มี.ค.และต.ค. 2565 หนุนให้หน่วยผลิตไฟฟ้าทั้ง 4 หน่วยได้เปิดดำเนินการครบตามกำหนด
รวมทั้งการขายหุ้นใน BKR2 Holding ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ประเทศเยอรมนี สัดส่วน 50.01% ให้แก่ Keppel Group ได้รับกำไรเต็ม ๆ 381 ล้านบาท
งบปีที่โดดเด่นรับอานิสงส์จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ที่ประเทศโอมาน เปิด COD เพิ่มขึ้น 155 เมกะวัตต์ รวมเป็น 195 เมกะวัตต์ และยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ ภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation ที่เข้าลงทุนในเดือน ก.ค. 2565 จำนวน 324 ล้านบาท รวมถึงจากบมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) และกำไรจากการซื้อบมจ.ไทยคม (THCOM) รวมทั้งสิ้น 4,656 ล้านบาท
ส่วนผลกระทบจากอัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 20.6% จาก 27.6% ในปีก่อน เพราะต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 86% แต่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.5518 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง แต่ก็ส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้
และผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี ไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด
ในปีที่ผ่านมา ถึง GULF จะทำนิวไฮ แต่ปีนี้ความท้าทายรุนแรงกว่า จากเป้าหมายว่ารายได้รวมจะเติบโต 50% ภายใต้การทยอย COD โครงการโรงไฟฟ้า IPP โครงการที่ 2 ได้แก่ โครงการ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 รวม 1,325 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่สหรัฐฯ รวม 1,200 เมกะวัตต์
จากนี้ไป GULF จะเน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Greenhouse Gas Emissions) จึงจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจาก 9% เป็น 40% ภายใน 10 ปีข้างหน้า
จากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ยุโรป สหรัฐฯ รวมถึงจะลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ.สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนปากแบง และเขื่อนปากลาย ภายในไตรมาส 1 ปีนี้
ส่วนธุรกิจที่ GULF ขยายการลงทุนออกไปนั้น เช่น ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนกับ Binance เพื่อประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ คาดจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1 นี้เช่นกัน
ขณะที่ ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ร่วมลงทุนกับ Singtel และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) จะเริ่มก่อสร้างกลางปีนี้ คาดเปิดดำเนินการได้ในปี 2568 และยังอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจ Virtual Banking เพื่อต่อยอดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย
โบรกเกอร์ เช่น บล.บัวหลวง แนะนำ “ซื้อ” มองว่า GULF จะดีต่อเนื่องในไตรมาส 1 ปีนี้ จากการเติบโตของรายได้หลัก หนุนด้วยกำไรโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ และราคาไฟฟ้าที่สูงขึ้นในประเทศไทย
จึงได้ปรับประมาณการกำไรหลักปี 2566 เป็น 16,409 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% จากปีก่อน แต่ยังคงราคาเป้าหมายสิ้นปีเท่าเดิมที่ 68 บาท มอง GULF กำลังเปลี่ยนเป็นผู้เล่นด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในอาเซียน ในพอร์ตมีธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทั่วทั้งภาคพื้นดิน คือการผลิตไฟฟ้า ทางทะเล คือจากการลงทุนในท่าเรือและสถานี LNG ตลอดจนถึงอวกาศ คือดาวเทียม
แม้แนวโน้มกำไรจะเติบโตด้วยอัตราเฉลี่ยทบต้นเป็นระดับตัวเลข 2 หลักไปอีก 10 ปีข้างหน้า และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารองรับ แต่ยังคงขยายธุรกิจอย่างจริงจัง
GULF ถูกยกให้เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และขอบเขตอัพไซด์ต่อประมาณการกำไร ยิ่งสะท้อนว่ามูลค่ามาร์เก็ตแคปของ GULF อาจสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ได้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า